เกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล (ดูภาพด้านล่าง)
จะดีกว่าไหม.....?..........ถ้าคุณได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ สูดลมหายใจเข้าได้เต็มปอด ล้มตัวลงนอนบนหาดทรายขาวละเอียดดั่งผงแป้ง ฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง..........กล่อมให้คุณนอนหลับฝันดี น้ำทะเลใสราวกับกระจกส่องผ่านให้เห็นความสวยงามใต้ผืนน้ำ พร้อมดำดิ่งสัมผัสชีวิตสัตว์โลกหลากชนิดแห่งท้องทะเลอันดามัน และค้นพบความมหัศจรรย์ของมหาสมุทร “ปะการัง 7 สี” ..........ณ..........ที่แห่งนี้ “ทะเลจังหวัดสตูล”
|
เขาว่ากันว่า "หาดพัทยา 2" คือ ชายหาดที่สวยที่สุดของ "เกาะหลีเป๊ะ"
|
|
.........................เก้าอี้ชมทะเล.........................
|
ข้อความข้างต้น คือ ประโยคประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวบางส่วนของ “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม : สสว.” ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงาม , ความอุดมสมบูรณ์ และความน่าหลงใหลของสภาพธรรมชาติโดยรอบเกาะทั้ง 51 แห่งภายในเขต “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในบรรดาเกาะน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งหมดเหล่านี้ “เกาะหลีเป๊ะ” คือ หนึ่งในเกาะที่มีความงดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งเดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก
|
................พาหนะสำคัญของชาวเกาะ...............
("หาดชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล" ในบรรยากาศยามรุ่งอรุณ)
|
แต่ก่อนที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะพาคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านไปชื่นชมกับบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ต่างๆ บนเกาะหลีเป๊ะ พวกเราแนะนำว่าลองมาทำความรู้จักกับข้อมูลเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า
“เกาะหลีเป๊ะ” บ้านของชาวเล “อูรัก ลาโว้ย”
คำว่า “หลีเป๊ะ” เป็นภาษาชาวเล แปลว่า “แผ่นกระดาษ” สาเหตุที่ชาวเลเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะหลีเป๊ะ” นั้นก็เนื่องมาจากภูมิประเทศส่วนใหญ่บนเกาะเป็นพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีภูเขาสูง (แต่มีเนินเขาเตี้ยๆ ตั้งอยู่บ้าง) ตัวเกาะมีลักษณะคล้ายกับแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ลอยอยู่บนผิวน้ำ เกาะหลีเป๊ะมีความยาวจากหัวถึงท้ายเกาะ 3 กม. กว้างที่สุดเพียงแค่ 1.75 กม. นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าสัญจรผ่านไปมาระหว่างอ่าว – ชายหาดต่างๆ รอบๆ เกาะได้อย่างไม่ยากลำบากนัก
|
...............ฟ้าสาง กับ ทิศทางของเรือหางยาว...............
|
บนเกาะหลีเป๊ะมีชาวเลอาศัยอยู่มายาวนานกว่าร้อยปีนับตั้งแต่ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้เกาะแห่งนี้รวมเข้าอยู่ในเขตของ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” ดังนั้นการจัดสรรใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนต่างๆ บนเกาะหลีเป๊ะจึงถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชุมชนบริหารจัดการกันเอง โดยทางอุทยานแห่งชาติฯ ทำหน้าที่เพียงแค่ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีบนเกาะคอยอำนวยความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง (เกาะหลีเป๊ะได้รับการประกาศให้รวมอยู่ในเขต “อุทยานยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 แต่ก่อนหน้านี้มีกลุ่มชาวเลอาศัยทำมาหากินอยู่ในละแวกเกาะหลีเป๊ะมายาวนานกว่าร้อยปีแล้วครับ)
|
ตอนเช้า ณ "หาดชาวเล เกาะหลีเป๊ะ"
|
|
...............บางช่วงเวลาก็งดงามเกินกว่าจะบรรยาย...............
|
ชาวเลในประเทศไทยสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ “อูรัก ลาโว้ย” , “มอแกลน” (หรือ “มอเกล็น” ) และ “มอแกน” (หรือ “มอเก็น” ) โดยชาวเลแต่ละกลุ่มนั้นจะมีความแตกต่างกันในด้านภาษา , รูปแบบลักษณะเรือดั้งเดิมที่ใช้ และมีพิธีกรรมสำคัญๆ ไม่เหมือนกัน (ตัวอย่างความแตกต่างด้านภาษาของชาวเลแต่ละกลุ่ม เช่น วลี “จะไปไหน” ในภาษาอูรัก ลาโว้ยใช้ “บีดีฮา” ขณะที่ภาษามอแกลนพูดว่า “เกาตำไล้” ส่วนภาษามอแกนคือ “ลาเกาปิต๊ะ” เป็นต้น) สำหรับกลุ่มชาวเลดั้งเดิมซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเกาะหลีเป๊ะตั้งแต่อดีตมาจวบจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนั้น ได้แก่ “อูรัก ลาโว้ย (Urak lawoi)” บางครั้งในยามที่นักท่องเที่ยวกำลังล่องเรือเพื่อไปดำน้ำตื้นตามเกาะแก่งต่างๆ รอบๆ บริเวณเกาะหลีเป๊ะอาจได้ยินเสียงนายท้ายร้องทักทายกับผองเพื่อนบนเรือลำอื่นๆ ด้วยภาษาที่ไม่คุ้นหู แม้ว่าจะลองพยายามฟังดูอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ขอให้ทราบเอาไว้ว่านั่นแหละคือภาษาของชาวเล “อูรัก ลาโว้ย”
|
.........................ชุดรับแขก เมื่อแรกวัน.........................
(ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ "หาดชาวเล เกาะหลีเป๊ะ")
|
ในอดีตเมื่อคราวที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินมายังเกาะหลีเป๊ะ พระองค์ได้พระราชทานนามสกุลให้แก่ชาวเล “อูรัก ลาโว้ย” ซึ่งทำมาหากินอยู่ในละแวกเกาะหลีเป๊ะว่า “หาญทะเล” และลูกหลานตระกูลหาญทะเลนี่เองที่ยังคงสืบเชื้อสายชาติพันธุ์ องค์ความรู้ และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวเล “อูรัก ลาโว้ย” อยู่บนเกาะหลีเป๊ะมาจวบจนกระทั่งถึงยุคสมัยปัจจุบัน
|
จาก "หาดชาวเล เกาะหลีเป๊ะ" มองเห็น "เกาะกระ" อยู่ห่างออกไปไม่ไกล
|
ระยะหลังวิถีชีวิตของชาวเลกลุ่มต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เริ่มซึมซับวัฒนธรรมและภาษาไทยมากขึ้น ส่วนวัฒนธรรมของชาวเลดั้งเดิมนั้นก็ถูกละเลยและค่อยๆ สูญหาย ทุกวันนี้กลุ่มชาวเล “อูรัก ลาโว้ย” ทำการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างถาวรบนชายฝั่ง ประกอบอาชีพรับจ้างทำสวน ทำประมง นำเที่ยว และอาชีพอื่นๆ มีการทำบัตรประชาชน รวมถึงได้รับการศึกษาตามระบบ
|
...............สิ่งปลูกสร้างเก่าๆ กลางท้องทะเลใส...............
|
แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวเลรุ่นใหม่จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ชาวเล “อูรัก ลาโว้ย” ซึ่งตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะก็ยังคงมีการสืบทอดอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมสำคัญๆ ของชนเผ่าเอาไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากประเพณีลอยเรือ “เปอลาจั๊ก” ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ปีละ 2 ครั้ง ระหว่างวันขึ้น 13 – 15 ค่ำของเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม โดยคนในหมู่บ้านจะมาช่วยกันต่อเรือ ประดับประดาด้วยดอกไม้และธงทิว ตกแต่งที่หัวเรือด้วยเต่านำทาง แล้วเอาข้าวตอก หมากพลู ตัดเล็บตัดผมใส่ลงในลำเรือ ตามความเชื่อว่าจะเป็นการลอยทุกข์โศก โรคภัย เคราะห์ร้ายต่างๆ ออกไปจากชุมชนและเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งท้องทะเล พร้อมกันนั้นยังเป็นการเสี่ยงทายเรื่องโชคลางว่าปีนั้นๆ จะมีโชคดีหรือโชคร้ายในการจับสัตว์น้ำ มีการละเล่นพื้นบ้าน ร้องรำทำเพลง แข่งขันประชันกีฬาท้องถิ่นกันอย่างสนุกสนาน หากนักท่องเที่ยวมีโอกาสเดินทางมายังเกาะหลีเป๊ะในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากจะได้ยืน เดิน นั่ง นอน ผ่อนคลายบนชายหาดสวยๆ ได้ลงเล่นน้ำทะเลใสๆ ได้ดำดูปะการังน้ำตื้นที่แสนอุดมสมบูรณ์ แล้วยังจะได้ชื่นชมกับประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามของชาวเล “อูรัก ลาโว้ย” อีกด้วย [ปกติในช่วงตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปีจะเป็นช่วงเวลาปิดทำการของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา หากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาชมงานประเพณีลอยเรือ “เปอลาจั๊ก” บน “เกาะหลีเป๊ะ” ในช่วงเวลาดังกล่าว กรุณาสืบค้นข้อมูลตารางการจัดงานประเพณีฯ และตรวจสอบกำหนดการปิด “เกาะหลีเป๊ะ” กับทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาอีกครั้งตามเบอร์โทรศัพท์ (074) 783 – 485 , (074) 783 – 597 ครับ]
|
เรือยอร์ชกลางแสงจ้า กับ ฝูงลูกปลาในน้ำ
|
|
.........................อาบแดดหน้า "หาดพัทยา 2 เกาะหลีเป๊ะ".........................
|
หาดทรายสวย.....น้ำทะเลใส.....แนวปะการังงดงามยิ่งกว่าที่ใดๆ “เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล”
กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หลังจากที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ใช้เวลาพักค้างแรมบนเกาะตะรุเตามา 2 คืน และเกาะอาดัง 1 คืน รวมถึงนั่งเรือหางยาวทัวร์ดำน้ำตื้นรอบๆ “หมู่เกาะอาดัง – ราวี” ไปอีก 1 วัน ก็ถึงคราวที่พวกเราจะโยกบั้นท้ายย้ายกระดูกสันหลังมานั่ง – นอนเอกเขนกบน “เกาะหลีเป๊ะ” กันบ้าง
|
เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล
|
|
มากมายหลายสิ่ง..........งดงามอย่างยิ่ง ณ "หาดพัทยา 2"
|
บ่ายคล้อยหลังจากโปรแกรมทัวร์ดำน้ำตื้นสิ้นสุดลง.....เรือหางยาวที่พวกเราโดยสารมาก็ค่อยๆ ลอยลำผ่านโป๊ะกลางทะเลเข้าเทียบชายฝั่งด้านหน้า “หาดพัทยา 2” ชายหาดซึ่งมีความสวยงามและมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของเกาะหลีเป๊ะ พวกเราลองมองลงไปยังผิวน้ำใสเบื้องล่างก็ได้พบกับแนวปะการังโขดขนาดใหญ่ซึ่งวางตัวขนานไปเกือบตลอดแนวชายฝั่ง ด้วยสาเหตุที่ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาไม่อนุญาตให้สร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวหรือท่าเทียบเรือพาณิชย์ใดๆ บนเกาะหลีเป๊ะ จึงทำให้แนวปะการังรอบๆ เกาะยังคงความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์อยู่มาได้จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ [นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการพักค้างแรมบนเกาะหลีเป๊ะจะต้องลงจากเรือเร็ว (speedboat) หรือเรือเฟอรี่ (ferryboat) บริเวณโป๊ะกลางทะเลด้านหน้าหาดพัทยา 2 แล้วต่อเรือหางยาวเข้ามาที่ชายฝั่ง ค่าโดยสารเรือหางยาวอยู่ที่คนละ 50 – 100 บาท/เที่ยว ขึ้นอยู่กับระยะทางว่านักท่องเที่ยวต้องการจะให้ไปส่งที่หาดใดของเกาะหลีเป๊ะครับ]
|
.........................ครอบครัวของฉัน.........................
|
|
..........โดดเดี่ยว...............เดียวดาย..........
|
“หาดพัทยา 2 เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล” ตั้งชื่อขึ้นตาม “หาดพัทยา จ.ชลบุรี” ซึ่งเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่หากจะให้เปรียบเทียบความงดงามระหว่างชายหาดทั้งสองแห่งแล้วล่ะก็ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขอเทคะแนนให้กับ “หาดพัทยา 2 เกาะหลีเป๊ะ” ไปแบบเต็มๆ ด้วยลักษณะของหาดทรายสีขาวบริสุทธิ์ที่ยาวไกลสุดลูกหูลูกตา เม็ดทรายละเอียดเนียนนุ่มเท้าราวกับผงแป้ง น้ำทะเลสีเขียวอมฟ้าใสราวกับกระจก มีฝูงลูกปลาเล็กปลาน้อยว่ายวนเวียนเข้ามาใกล้ๆ ชายหาดให้เด็กๆ วิ่งไล่ช้อนจับกันอย่างสนุกสนาน เป็นภาพบรรยากาศที่ไม่อาจพบเห็นได้จาก “หาดพัทยา จ.ชลบุรี” ..........น่าสงสัยว่าเหตุไฉนใยชายหาดซึ่งมีความสวยงามโดดเด่นดังเช่น “หาดพัทยา 2 เกาะหลีเป๊ะ” แห่งนี้ถึงจำเป็นต้องตั้งชื่อเลียนแบบ “หาดพัทยา จ.ชลบุรี” ที่มีความสวยงามด้อยกว่าด้วย ?
|
เรือหางยาวในมุมมองที่หลากหลาย
|
|
.........................ความคล้ายที่แตกต่าง.........................
|
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าบริเวณอ่าวด้านหน้าหาดพัทยา 2 มีแนวปะการังโขดซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่นิยมดำน้ำตื้น (Snorkeling) บริเวณด้านหน้าชายหาดแห่งนี้ เนื่องจากมีเรือหางยาวนำเที่ยวระหว่างเกาะหลีเป๊ะกับเกาะอื่นๆ สัญจรไปมาเข้า – ออกจากด้านหน้าหาดพัทยา 2 อยู่เกือบตลอดทั้งวัน หากมัวแต่ดำน้ำอย่างเพลิดเพลินเกินสมควรอาจโดนคลื่นจากเรือซัดซวนเซจนแข้งขาเป๋เขวปัดไปจิ้มกับหนามเม่นทะเลหรือครูดกับแนวปะการังบาดเจ็บเอาง่ายๆ นอกจากนี้หากมีความประมาทเป็นต้นทุนทั้งตัวคุณและนายท้ายก็อาจนำพาศีรษะมาบรรจบกับลำเรือจนหลงเหลือแผลแยกแตกอยู่บนหัวกบาลได้ด้วย เพราะฉะนั้นหากอดรนทนไม่ได้และต้องการลงดำน้ำตื้นดูปะการังบริเวณอ่าวด้านหน้าหาดพัทยา 2 จริงๆ แนะนำว่าให้ลงดำน้ำบริเวณต้นหาดด้านทิศตะวันออกหรือปลายหาดด้านทิศตะวันตกในช่วงเวลาสาย – บ่ายซึ่งมีปริมาณเรือหางยาวนำเที่ยวสัญจรเข้า – ออกจากหาดพัทยา 2 น้อยที่สุดจะดีกว่า (นักท่องเที่ยวควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงดำน้ำตื้น เนื่องจากแนวปะการังด้านหน้าหาดพัทยา 2 ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งมากพอสมควรครับ)
|
...............จุดเริ่มต้นแห่งการเฉลิมฉลอง...............
|
บริเวณปลายหาดพัทยา 2 ด้านทิศตะวันตกนอกจากจะเป็นจุดดำน้ำตื้นที่ค่อนข้างปลอดภัยแล้ว ยังมีการสร้างสะพานไม้ไผ่เลาะเลียบตามโขดหินริมชายฝั่งให้นักท่องเที่ยวเดินต่อเนื่องไปยัง “หาดสนม” ชายหาดเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับหาดพัทยา 2 ได้ สำหรับใครที่ชอบหามุมมองแปลกใหม่ในการถ่ายรูป ลองเดินมายังสะพานไม้ไผ่แห่งนี้ดู คุณอาจจะสามารถเก็บภาพสวยๆ ไปอวดเพื่อนๆ หรือครอบครัวที่บ้านได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
|
ณ "หาดพัทยา 2" ดวงประทีปทั้งผอง...............สว่างไสว
|
|
เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เหมือนอยู่ห่างไกล..........แต่แหล่งบันเทิงยามค่ำคืนก็ยังอยู่ใกล้แค่เอื้อม
|
เมื่อย่ำสนธยามาเยือน.....แสงสีจากร้านอาหารและบาร์เบียร์ริมหาดพัทยา 2 จะเริ่มส่องประกายวิบวับ เสียงเพลงดังบ้าง.....เบาบ้างถูกเปิดขึ้นเพื่อโหมโรงให้เหล่านักท่องราตรีได้รับรู้ว่าช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของพวกเขากำลังมาถึง นักแสดงโลดโผนควงลูกตุ้มเพลิงฉวัดเฉวียนโชว์ลีลาอยู่ริมชายหาด อาหารทะเลปิ้งย่างบนเตาบาร์บีคิวขนาดใหญ่ส่งกลิ่นหอมกรุ่นยั่วน้ำลายผู้คนซึ่งเดินผ่านไปมา ลมทะเลพัดพาเกลียวคลื่นถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งเป็นจังหวะดัง ซ่า.....ซ่า..........ซ่า.....ซ่า สำหรับใครที่มอบใจถวายกายเป็นสาวกของ “Dionysus (ไดโอไนซุส : เทพแห่งเมรัยและไวน์ของชาวกรีก)” อาจจะหลงคิดว่าดินแดนแห่งนี้ คือ สวนสวรรค์บนโลกมนุษย์ แต่สำหรับเหล่าสัตบุรุษผู้ยึดมั่นในศีลธรรมแล้ว นี่คือสถานที่อโคจรซึ่งพวกเขาควรหลีกลี้หนีให้ห่างไกล (คำแนะนำ : นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการนอนหลับพักผ่อนอย่างสงบสุข ควรหลีกเลี่ยงการพักค้างแรมในบริเวณหาดพัทยา 2 เนื่องจากร้านอาหารและบาร์เบียร์บางแห่งจะเปิดเพลงเสียงดังมากจนอาจจะรบกวนการนอนหลับพักผ่อนของคุณได้ครับ)
|
...............สีสัน.....ใน.....แสงสลัว...............
|
|
ความมืดมัว...............ลับเลือนหาย
|
จากหาดพัทยา 2 มีเส้นทางเดินเล็กๆ ทอดยาวเข้าสู่ตอนกลางของเกาะหลีเป๊ะซึ่งเป็นจุดที่สามารถเดินเชื่อมต่อไปยังชายหาดแห่งอื่นๆ รอบๆ เกาะได้ไม่ว่าจะเป็น หาดชาวเล , หาดประมง หรือ แหลมสน และพื้นที่ตอนกลางของเกาะหลีเป๊ะนี่เองที่เป็นจุดศูนย์รวมของร้านอาหารราคาประหยัดอันหลากหลาย ทั้งร้านอาหารตามสั่งทั่วไป , ร้านส้มตำ – ไก่ย่าง , แผงลอยขายข้าวเหนียว – หมูย่าง , ข้าวโพดปิ้ง , ผลไม้สด , โรตี , โดนัท ,ฯลฯ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถนำภาชนะเปล่ามาเติมน้ำดื่มสะอาดจากตู้กดน้ำหยอดเหรียญด้านหน้าที่พักบางแห่งได้ด้วย
|
ใต้แสงจันทรา กับ ราตรีแห่งความลุ่มหลง
|
หลังจากใช้เวลาเดินสำรวจพื้นที่บางส่วนของเกาะหลีเป๊ะอยู่เกือบ 2 ชม. ก็ถึงเวลาที่พวกเราจะรับประทานอาหารเย็น อาบน้ำ แปรงฟัน และนอนพักผ่อนออมแรงไว้ถ่ายภาพ – เก็บข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวรอบเกาะแห่งอื่นๆ ในวันรุ่งขึ้น
|