ศาลาแก้วกู่ อ.เมือง จ.หนองคาย (ดูภาพด้านล่าง)
หลายๆ ครั้งที่ศรัทธาความเชื่อทางศาสนาได้ผลักดันให้มนุษย์เรากระทำ – สร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ ตัวอย่างเช่น “พระถังซำจั๋ง” ที่เดินทางไปไกลหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียกลับสู่ประเทศจีนจนมีผู้นำเรื่องราวดังกล่าวมาแต่งเป็นนวนิยายชื่อดังเรื่อง “ไซอิ๋ว” , “วิหารพาธิน็อน (Parthenon)” ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงามเพื่อแสดงถึงความบูชาต่อเหล่าทวยเทพ, “พีระมิด (Pyramid)” ในประเทศอียิปต์ที่ใช้บรรจุพระศพของพระมหากษัตริย์ด้วยความเชื่อว่า สักวันหนึ่งวิญญาณของพระองค์จะหวนคืนสู่ร่างกายซึ่งได้ทำการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี , ฯลฯ
ในประเทศไทยเองก็มีบุคคลมากมายและมีสถานที่หลากหลายแห่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการกระทำ – การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนาและความเชื่อของตน “ศาลาแก้วกู่” อ.เมือง จ.หนองคาย ก็ถือได้ว่าเป็นศาสนสถานอีกแห่งหนึ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นมาด้วยแรงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว
|
ศาสนสถานแห่งศรัทธาของ "พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์"
|
|
...............ศาลาแก้วกู่ อ.เมือง จ.หนองคาย...............
|
“ศาลาแก้วกู่” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดแขก” คือ สวนประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ มีพื้นที่หลายสิบไร่ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกะสมาคมจังหวัดหนองคาย สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้ ( “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เป็นนักปฏิบัติธรรมแต่เสียชีวิตไปแล้วราวๆ สิบปีกว่า ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้ลองสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่จำหน่ายบัตรเข้าชมศาลาแก้วกู่แล้วเข้าใจว่า พ่อปู่น่าจะบวชเป็นพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาว ปัจจุบันร่างของพ่อปู่บุญเหลือถูกเก็บรักษาเอาไว้บนชั้น 3 ของศาลาแก้วกู่ในสภาพที่ไม่เน่าเปื่อย นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นไปสักการะร่างของพ่อปู่ได้ทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00 – 17.00น.)
|
พระพุทธรูป , เทวรูป และ เทวาลัย
ภายในอาณาบริเวณของ "ศาลาแก้วกู่" มีรวมกันมากถึง 208 องค์
|
|
...............การผสมผสานระหว่างศิลปะวัฒนธรรม - ความเชื่อ - ศาสนา...............
|
งานประติมากรรมปูนปั้นซึ่งตั้งอยู่ในสวนโดยรอบอาณาบริเวณของศาลาแก้วกู่นั้น ส่วนมากจะเป็นงานประติมากรรมที่บอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ตามตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา พราหมณ์ ฮินดู และคริสต์ แต่ก็มีงานประติมากรรมบางส่วนซึ่งได้จำลองเอาเหตุการณ์จากวรรณคดี สุภาษิตโบราณ หรือนิทานพื้นบ้าน นำมาจัดแสดงไว้เช่นกัน (ตัวอย่างงานประติมากรรมปูนปั้นในบริเวณของศาลาแก้วกู่ เช่น พระพุทธรูปปางนาคปรก , พระโพธิสัตว์ , พระยาจิตราช , พระพิฆเนศ , พระขันธกุมาร , เจ้าแม่กาลี , รามเกียรติ์ เป็นต้น)
งานประติมากรรมเหล่านี้จะมีคำอธิบาย “ภาษาไทยอีสาน” และ “ภาษาไทยภาคกลาง” บอกเล่าถึงเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับชิ้นงานนั้นๆ สลักเอาไว้บริเวณส่วนฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อ่านได้ศึกษาทำความเข้าใจด้วย
|
งานประติมากรรมปูนปั้นบางชิ้นก็มีขนาดความสูงเกินกว่าตึก 10 ชั้น
|
หากทดลองนับจำนวนชิ้นงานประติมากรรมปูนปั้นภายในสวนของศาลาแก้วกู่ก็จะพบว่ามีพระพุทธรูป เทวรูป และเทวาลัยทั้งหมด 208 องค์ และในจำนวนนี้มีมากกว่า 10 องค์ที่มีขนาดความสูงเกินกว่าตึก 3 ชั้น (บางองค์สูงมากกว่า 30 เมตร ซึ่งเทียบได้กับความสูงของตึก 10 ชั้นเลยทีเดียว) ถือได้ว่า “ศาลาแก้วกู่” เป็น
ศาสนสถานที่มีการจัดแสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดยักษ์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว
|
"วัดแขก" อ.เมือง จ.หนองคาย คือ อีกชื่อเรียกหนึ่งของ "ศาลาแก้วกู่"
|
|
1. พระพุทธรูปปางนาคปรก 2. เทวรูปพระขันธกุมารและพระพิฆเนศวร
|
ถึงแม้ว่าความยิ่งใหญ่งดงามของสวนประติมากรรมปูนปั้น ณ ศาลาแก้วกู่จะยังไม่สามารถเทียบชั้นกับงานสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่าง “วิหารพาธิน็อน” แห่งกรีซ หรือ “พีระมิด” แห่งอียิปต์ได้ก็ตาม แต่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ขอรับประกันว่าสวนประติมากรรมปูนปั้น ณ ศาลาแก้วกู่แห่งนี้มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีความอลังการยิ่งใหญ่ และมีความสวยงามอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยอย่างแน่นอน
|
....................งดงาม แปลกตา....................
|
|
....................สีสันในความหม่นมัว....................
|
หากคุณมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดหนองคายล่ะก็ “ศาลาแก้วกู่” คือ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญซึ่งคุณไม่ควรพลาดการแวะเยี่ยมชม
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับศาลาแก้วกู่ :
1. คำว่า “กู่” ในศาลาแก้วกู่นั้นมีความหมายว่า “กุฏิ” , “อาวาส” หรือ “ศาลา” เพราะฉะนั้นคำว่า “ศาลาแก้วกู่” จึงเป็นคำซ้อนที่มีความหมายว่า “ศาลาแก้ว” นั่นเอง
2. ศาลาแก้วกู่เปิดให้เข้าชมสวนประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. แต่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบสักการะร่างของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” บนศาลาแก้วกู่ชั้น 3 ได้เฉพาะเวลา 07.00 – 17.00 น.เท่านั้น
3. ค่าบัตรเข้าชมศาลาแก้วกู่ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
โทรศัพท์ติดต่อศาลาแก้วกู่ : (081) 369 – 5744
การเดินทางมายังศาลาแก้วกู่ :
รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.หนองคาย ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มุ่งหน้าไปทาง อ.โพนพิสัย ประมาณ 3 – 4 กม. จะสังเกตเห็นป้ายศาลาแก้วกู่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน (ถ้าไม่เห็นป้ายศาลาแก้วกู่ให้สังเกตป้ายบอกทางไปพุทธมามกะสมาคม จ.หนองคาย แทนก็ได้ครับ) ให้กลับรถย้อนเข้ามาทาง อ.เมือง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่มีป้ายบอกทางดังกล่าวไปอีกประมาณ 500 เมตรก็จะถึงศาลาแก้วกู่
รถโดยสารประจำทาง : ขึ้นรถสายหนองคาย – นครพนม แล้วลงรถเมื่อสังเกตเห็นป้ายศาลาแก้วกู่ หลังจากลงรถแล้วให้ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม เดินต่อเข้าไปในซอยอีกประมาณ 500 เมตรก็จะถึงศาลาแก้วกู่ (แนะนำให้เหมารถรับจ้างจากในเขต อ.เมือง จ.หนองคาย ไปยังศาลาแก้วกู่จะสะดวกกว่าครับ)
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู
ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากเจ้าหน้าที่ศาลาแก้วกู่ และข้อมูลการเดินทางสู่ ศาลาแก้วกู่ อ.เมือง จ.หนองคาย จากหนังสือท่องเที่ยวทั่วไทยไปกับ “นายรอบรู้” ของสำนักพิมพ์สารคดี
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “ศาลาแก้วกู่” เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงในเขต อ.เมือง จ.หนองคาย : ตลาดท่าเสด็จ , พระธาตุบังพวน , หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย , สะพานมิตรภาพไทย - ลาว , เทศกาลบั้งไฟพญานาค เทศกาลออกพรรษา
|