ประเพณีแห่เทียนพรรษา อ.เมือง จ.นครราชสีมา (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อประเพณีแห่เทียนพรรษา อ.เมือง จ.นครราชสีมานี้ มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
“พุทธศาสนา” เป็นศาสนาซึ่งอยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต , วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของปวงชนชาวไทยหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “ความเมตตากรุณา” ที่ทำให้คนไทยในสมัยเก่ามีนิสัยชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากคนอื่น ๆ , “ความซื่อสัตย์” ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมอดีตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกปราศจากการโกหก หลอกลวง หรือฉ้อฉลจนก่อเกิดความวุ่นวายมากมายดังเช่นที่เป็นอยู่ทุก ๆ วันนี้ , คำสอนเรื่อง “ไตรลักษณ์” ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ประกอบอยู่ด้วย “ความไม่เที่ยง – เป็นทุกข์ – ไม่มีตัวตน” ทำให้คนรู้จักมีสติ ดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ละโมบโลภมาก รู้จักพอ.....เพราะตระหนักดีว่าตอนตายก็เอาอะไรไปไม่ได้ , ฯลฯ
|
ไม่อยากเดินทางไกลไปถึงเมืองอุบลฯ ก็ขนครอบครัวมาดู
"ประเพณีแห่เทียนพรรษา" ที่ "โคราช" ก็ได้ |
|
....................สีสันแห่งอีสาน.................... |
แม้ว่าในปัจจุบันนี้คำสอน – แนวปฏิบัติของพุทธศาสนาจะถูกละเลยจากคนไทยบางกลุ่มซึ่งอวดอ้างตนว่าเป็น “พุทธศาสนิกชน” ไปมากแล้วก็ตาม แต่เมื่อเวลาเวียนมาบรรจบครบรอบวันสำคัญทางศาสนาพุทธอีกครั้งก็อาจถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวพุทธ (ที่แท้จริง) จะได้ทบทวนถึงหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดความสงบสุขแก่ชีวิต – จิตใจของตนเอง รวมถึงเพื่อยังประโยชน์เกื้อหนุนให้เกิดความผาสุกแก่สังคมส่วนรวมอีกทางหนึ่งด้วย
|
ขบวนแห่ "ตัวอย่างงานประเพณีต่างๆ" ในเทศกาลเข้าพรรษา อ.เมือง จ.นครราชสีมา |
|
....................งดงามอย่างไทย.................... |
“วันอาสาฬหบูชา” – “วันเข้าพรรษา” คือ ช่วงวัน – เวลาสำคัญทางพุทธศาสนาที่มีการจัดงานบุญประเพณีอันยิ่งใหญ่ในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย และในครั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะขออาสาพาทุกๆ ท่านไปสัมผัสกับบรรยากาศของ “ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.นครราชสีมา (โคราช)” ที่ถึงแม้ว่าจะไม่อลังการงานสร้างอย่าง “ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี” แต่ก็ถือได้ว่ามีคุณค่าน่าชื่นชมไม่น้อยไม่ด้อยไปกว่ากันสักเท่าไหร่เลยทีเดียว (ท่านสามารถรับชมภาพถ่ายและข้อมูลโดยละเอียดของงาน “ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี” ได้ในหัวข้อ “ท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี” หรือจะเลือกคลิ๊ก link “ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งในหน้าสุดท้ายของบทความ “ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.นครราชสีมา” ชิ้นนี้ก็ได้ครับ)
|
จากแรงศรัทธานำมาสู่งานประเพณีอันยิ่งใหญ่ |
|
...............ความภาคภูมิใจของชาวโคราช............... |
ก่อนที่จะไปอ่านข้อมูลงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.นครราชสีมา ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขออนุญาตทบทวนความสำคัญของ “วันอาสาฬหบูชา” และ “วันเข้าพรรษา” เพื่อประกอบความเข้าใจดังนี้ “อาสาฬหบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 8 ของปฏิทินทางจันทรคติซึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แก่เหล่าปัญจวัคคีย์ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และจากธรรมเทศนานี้เองได้ทำให้ท่าน “โกณฑัญญะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าปัญจวัคคีย์เกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นท่านโกณฑัญญะจึงได้กราบทูลต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกในพุทธศาสนา เราสามารถสรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นแยกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ คือ
1. เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มต้นประกาศพุทธศาสนาต่อชาวโลกเป็นครั้งแรก (ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก)
2. เป็นวันที่มีพระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก
3. เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบสมบูรณ์ทั้ง 3 ประการ คือ พระพุทธ , พระธรรม และพระสงฆ์
แต่ดั้งเดิมนั้นไม่เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน จวบจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2501 “คณะสังฆมนตรี” แห่งประเทศไทย (“คณะสังฆมนตรี” เทียบได้กับ “มหาเถรสมาคม” ในปัจจุบันครับ)ได้กำหนดให้วันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 8 เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในฐานะของ “วันอาสาฬหบูชา” พร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ “วันวิสาขบูชา” อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาสากลทั่วโลก
|
พระบรมรูปเทียนหล่อของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" |
|
ขบวนเทียนพรรษาหลายแบบ.....หลากรูปลักษณะ มาร่วมแห่แข่งขันประชันกัน
บนถนนรอบเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา |
เนื้อหาโดยสรุปของ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรแรกแรกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลกนั้นมีใจความสำคัญอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
1. มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธแนวปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถทำให้เข้าถึงความดับทุกข์ทั้งปวงได้ 2 ประการ คือ “กามสุขัลลิกานุโยค” การประกอบตนให้พัวพันอยู่ด้วยความสุขในกามทั้งหลาย เป็นการปฏิบัติที่ย่อหย่อน.....สบายกายมากเกินไป และ “อัตตกิลมถานุโยค” การกระทำความเหน็ดเหนื่อย.....ยากลำบากแก่ตนจนทุกข์ทรมานกายมากเกินไป แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงถึงแนวปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์อันเหมาะสม ได้แก่ “มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลางซึ่งไม่ตึงหรือย่อหย่อนจนเกินไป สามารถปฏิบัติได้โดยยึดแนวทางของ “อริยมรรค” มีองค์ 8 (ปัญญาเห็นชอบ 1, ความดำริชอบ 1, เจรจาชอบ 1, การงานชอบ 1, เลี้ยงชีพชอบ 1, พยายามชอบ 1, ระลึกชอบ 1, ตั้งจิตชอบ 1)
|
เรื่องราวตามตำนานต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดผ่านงานแกะสลักชั้นครู |
|
....................ศิลปะอันประณีตวิจิตรบรรจง.................... |
2. อริยสัจ 4 เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ได้แก่ ทุกข์ (รู้ว่าความทุกข์ทั้งปวง คือ อะไร) , สมุทัย (รู้ว่าสาเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง คือ อะไร) , นิโรธ (รู้ว่าความดับสิ้นจากทุกข์ทั้งปวงเป็นอย่างไร) และ มรรค (รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงซึ่งความดับสิ้นจากทุกข์ทั้งปวง)
เนื่องในวาระที่ “วันอาสาฬหบูชา” เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งจึงถือเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้น้อมนำเอาหลักธรรมดังกล่าวข้างต้นมาพินิจพิจารณาศึกษาให้ละเอียดจนถ้วนทั่ว แล้วนำเอาความรู้เบื้องต้นที่ได้รับนั้นไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์เป็นความสงบสุขแก่จิตใจของตนเองตามกำลังความสามารถ
|
....................ชุมนุมเทวดา นางฟ้าร่ายรำ.................... |
|
ตระการตาใน "งานประเพณีแห่เทียนพรรษา" แรม 1 ค่ำ เดือน 8 |
สำหรับ “วันเข้าพรรษา” (แรม 1 ค่ำ เดือน 8) นั้นเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจาก “วันอาสาฬหบูชา” (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) โดยถือเป็นวันเริ่มต้นช่วงเวลาจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 3 เดือน (ช่วงเวลาเข้าพรรษาจะสิ้นสุดลงเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) การจำพรรษานี้เป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์โดยตรงที่จำเป็นต้องพำนักอยู่ในวัด (หรือ ศาสนสถาน) เพียงแห่งเดียวไม่สามารถไปค้างแรม ณ สถานที่แห่งอื่นๆ ได้ (คำว่า “พรรษา” มีความหมายว่า ฝน, หน้าฝน หรือฤดูฝน ส่วน “จำ” นั้นหมายถึง พักอยู่, ผูก, ขัง การจำพรรษาจึงหมายถึงการพักอยู่ประจำในช่วงฤดูฝน) เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นตามพระวินัย เช่น สหธรรมิก(ผู้มีธรรมอันร่วมกัน , ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน) หรือ บิดามารดาป่วยต้องไปรักษาพยาบาล , สหธรรมิกกระสันจะสึกต้องไปเพื่อระงับ , ทายกบำเพ็ญกุศลลงมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา เป็นต้น
มูลเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่จำพรรษานั้นเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุสงฆ์จำพวกหนึ่งเที่ยวเดินทางไปมาตลอดฤดูหนาว – ฤดูร้อน – ฤดูฝนไม่ได้หยุดพัก เมื่อคราวฝนตกผืนแผ่นดินชุ่มฉ่ำด้วยน้ำก็เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัด (ระบัด : อ่อน , แรกผลิ , เพิ่งผลิ) อีกทั้งสัตว์แมลงเล็ก ๆ จนได้รับความเสียหายเป็นอันตรายจำนวนมาก ประชาชนทั้งหลายพากันตำหนิติเตียนว่า “แม้แต่พวกเดียรถีย์ปริพาชก (นักบวชนอกพุทธศาสนา) เขายังหยุด.....ที่สุดแม้นนกยังรู้จักทำรังบนยอดไม้อาศัยหลบหลีกฝน เหตุใดสมณะศากยบุตรจึงเทียวไปเทียวมาอยู่ได้ทั้ง 3 ฤดู เหยียบย่ำหญ้า , ต้นไม้ อีกทั้งสัตว์เล็ก ๆ ทั้งหลายให้ล้มตายเป็นอันมากเยี่ยงนี้” เมื่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้ยินเช่นนั้นจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่บัดนั้น
|
....................ธำรงคุณค่าความเป็นไทย.................... |
|
ต้นเทียนที่รังสรรค์ขึ้นด้วยดวงใจ.....น้อมถวายเป็นพุทธบูชา |
ชาวไทยซึ่งนับถือพุทธศาสนาได้สืบทอดธรรมเนียมวิธีปฏิบัติการทำบุญวันเข้าพรรษามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยชาวบ้านจะจัดสำรับอาหารทั้งคาวหวานไปถวายพระภิกษุสงฆ์ฯล (บางคนก็จะนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ไตรจีวร , ผ้าห่มนอน , ยารักษาโรค ,ฯ ไปถวาย) แต่สิ่งที่ทำให้ประเพณีการทำบุญวันเข้าพรรษาแตกต่างจากการทำบุญในช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนาอื่น ๆ ก็คือ การถวาย “ผ้าอาบน้ำฝน” และ “อุปกรณ์เครื่องส่องสว่างต่าง ๆ (เช่น เทียน , น้ำมัน , ตะเกียง , หลอดไฟ เป็นต้น) ”
|
...............งดงามงานปฏิมา ในแสงสนธยายามเย็น............... |
ความเป็นมาของ “ผ้าอาบน้ำฝน” นั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล โดยแรกเริ่มเดิมทีพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ผ้าได้เพียงแค่ 3 ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ 1, ผ้าห่ม 1 และผ้านุ่ง 1 ครั้นเมื่อถึงช่วงฤดูฝนพระภิกษุสงฆ์บางรูปจะอาบน้ำฝนก็ไม่มีผ้าจะนุ่งอาบจึงเปลือยกายอาบน้ำ วันหนึ่งนางวิสาขาให้สาวใช้ไปทำธุระที่วัดขณะฝนตก สาวใช้เห็นพระภิกษุสงฆ์เปลือยกายอาบน้ำฝนจึงนำความกลับมาเล่าให้นางวิสาขาฟัง นางวิสาขาจึงกราบทูลพระพุทธองค์ขอถวายผ้าอาบน้ำฝน พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตและได้ทรงกำหนดกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน – รับการถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระภิกษุสงฆ์ถือปฏิบัติเป็นกิจวัตรนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝน – รับการถวายผ้าอาบน้ำฝนได้ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 จนถึงกลางเดือน 8)
ประเพณีแห่เทียนพรรษา อ.เมือง จ.นครราชสีมา หน้า 1 2
|
|