อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย (ดูภาพด้านล่าง)
ศรีสัชนาลัย เดิมชื่อเมืองเชลียงเป็นเมืองโบราณสำคัญทางประวัติศาสตร์คู่มากับสุโขทัยมาตั้งแต่สมัยครั้งอดีต ได้รับการบูรณะจนสามารถเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยให้กับนักท่องเที่ยวเข้าชมได้เมื่อปี 2533 และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปีถัดมา
เนื่องจากสถานที่กว้างขวางของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ทำให้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเรา ตกลงใจที่จะสัมผัสบรรยากาศให้ทั่วทุกมุมโดยการขี่จักรยานสำรวจโบราณสถานกัน หลังจากผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมด้านหน้าเรียบร้อย พวกเราก็จับจูงจักรยานคู่ชีพกันคนละหนึ่งคัน เสียค่าเช่าจักรยาน คันละ 20 บาท ขี่ได้ทั้งวันแต่ต้องมาคืนก่อนห้าโมงเย็น สภาพจักรยานของที่นี่ไม่ใหม่เหมือนกับที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะอย่างไรทีมงานเราก็จะไปจักรยานอยู่ดี
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย บรรยากาศเต็มไปด้วยโบราณสถานเก่าแก่มากมาย เหมือนดังเป็นมนต์ขลังที่สะกดให้นึกย้อนไปถึงครั้งสมัยที่อาณาจักรยังรุ่งเรืองคงจะงดงามมากกว่าที่เห็นในปัจจุบันหลายร้อยหลายพันเท่า
จุดแรกที่แวะกันก็คือ
วัดช้างล้อม
วัดช้างล้อมเป็นวัดขนาดใหญ่ มีองค์พระเจดีย์ตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลางวัด ฐานพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแต่ละด้านของฐานมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่โดยรอบ ขึ้นบันไดเดินชมได้ (ปัจจุบันผุพังไปตามกาลเวลาเหลือเพียงเค้าโครงให้เห็นว่าเดิมเคยเป็นพระพุทธรูป) ด้านล่างของฐานพระเจดีย์มีช้างล้อมรอบทุกด้าน เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์เห็นเป็นหัวช้าง ส่วนช้างตัวอื่นเหลือเพียงส่วนขาช้างให้เห็นเท่านั้น เก็บภาพกันเรียบร้อยพวกเราก็คว้าจักรยานขี่ไปฝั่งตรงข้ามสู่วัดเจดีย์เจ็ดแถว
วัดเจดีย์เจ็ดแถว
เจดีย์ประธานของวัดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และมีเจดีย์บริเวณเรียงรายอีกถึง 33 องค์ ออกเดินทางจากวัดเจดีย์เจ็ดแถว พวกเราก็ขี่จักรยานชิดซ้ายเรียงกันเป็นแถวตอน สวนกับนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ขี่เลียบไปตามริมกำแพงเมือง จนมาถึงเนินก่อนถึงทางเข้าวัดสุวรรณคีรี
วัดสุวรรณคีรี
ทางลาดชันสูงก่อนถึงทางเข้าวัดสุวรรณคีรี ทำให้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราทุกคน ต้องลงจากจักรยานและจูงขึ้นไปแทนเพราะเหตุว่าต้านแรงโน้มถ่วงของโลกไม่ไหว เกรงว่าจะไหลลงมากองกับพื้นซะก่อน เมื่อพ้นเนินขึ้นมาได้จะเห็นทางขึ้นเขาขวามือไม่กว้างนัก เดินตามบันได้ขึ้นไปจนเหงื่อซึม ก็จะถึงตัววัด มีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นประธานตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน แต่ละด้านของฐานเจดีย์มีซุ้มประตูตั้งอยู่ จากที่วัดสุวรรณคีรีมีทางเดินต่อไปถึงวัดเขาพนมเพลิงได้ แต่ทางทีมงานต้องกลับไปรับเจ้าจักรยานคู่ชีพที่จอดไว้ด้านล่างก่อนที่มันจะหายไป จึงขี่จักรยานลงทางลาดมาด้วยความรวดเร็วย้อนกลับทางวัดเขาพนมเพลิงเพื่อไปขึ้นบันไดด้านหน้าแทน
วัดเขาพนมเพลิง
ทางขึ้นวัดเขาพนมเพลิงเป็นบันได้ศิลาแลงประมาณร้อยกว่าขั้น สำหรับคนที่กลัวความสูงขึ้นไปแล้วอย่าหันมองลงมาด้านล่างอาจจะหน้ามืดเป็นลมได้ เมื่อเดินไปจนถึงด้านบนจะพบกับวัดพนมเพลิง เหลือเพียงโบราณสถานปรักหักพังที่ยังพอมองออกว่าเคยเป็นวิหาร และเจดีย์ทรงระฆังที่ทรุดตัวลง (ไม่ควรปีนป่าย หรือเข้าใกล้มากเพราะมีป้ายเตือนอันตรายด้วย) ด้านหลังมีศาลเจ้าแม่ละอองสำลี และเป็นทางต่อไปยังวัดสุวรรณคีรี
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ยังมีวัดอื่น ๆ อีกเช่น วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานน้อย และวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เมื่อคืนรถจักรยานแล้วทีมงานก็ประจำที่บนรถคู่ใจมุ่งสู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง) ที่อยู่ด้านนอกของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเป็นอันดับต่อไป
|
โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยชั้นใน |
|
วัดช้างล้อม และเจดีย์ประธานภายในวัดที่ยังคงเค้าโครงเกือบจะสมบูรณ์ |
|
กำแพงแก้ว และพระพุทธรูปภายในพระเจดีย์ |
|
จักรยานคู่ชีพที่พาทีมงานของเราไปเที่ยวจนทั่วอุทยานประวัติศาสตร์ |
|
ความงดงามของลวดลายบนกำแพงวัดที่ยังคงเหลือให้ได้ชม |
|
บันไดทางขึ้นสู่วัดเขาพนมเพลิงที่ทอดตัวสูงขึ้นไปด้านบน และบางส่วนของวัดสุวรรณคีรี |
|
นอกจากโบราณสถานที่ทรงคุณค่าแล้ว
ความสวยงามของดอกไม้ในบริเวณใกล้เคียงก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ต้องหยุดชม |
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง เป็นวัดสำคัญของเมืองเชลียงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ วิหาร เจดีย์ทิศ ซุ้มพระ และกำแพงแก้ว ภายในวัดมีพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่ หลังจากท่องเที่ยวกันจนเต็มที่แล้วก็ได้เวลาที่ทางทีมงานของเราจะต้องกลับไปพักผ่อนกันเสียที
การเดินทาง
จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก มุ่งไปทางอำเภอศรีสัชนาลัย เมื่อถึงกม. 64 จะพบสามแยก (แยกสะพานปูน หรือแยกตีนเขา) ให้เลี้ยวซ้ายขับต่อไปจะพบสี่แยก ถ้าเลี้ยวขวาจะไปอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระบรมธาตุเมืองเชลียงนั่นเอง
|
พระพุทธรูปโบราณ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ |
|
พระวิหาร ที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานอันเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ |
|
เจดีย์ประธาน และพระพุทธรูปภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระธาตุเมืองเชลียง |
|