อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอก อ.เมือง จ.สุโขทัย (ดูภาพด้านล่าง)
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกแบ่งได้เป็นด้านเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก คุณสามารถขี่จักรยานไปถึงได้ทั่วกัน
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกด้านทิศเหนือ มีโบราณสถานที่มีความสำคัญโดดเด่น คือ วัดศรีชุม และวัดพระพายหลวง
วัดศรีชุม เป็นตำนานของพระพูดได้เกิดเนื่องจากภายในผนังด้านใต้ของวัดจะมีบันไดทางขึ้นไปสู่ด้านหลังของพระประธาน (พระอจนะ) หากมีคนไปซ่อนตัว และพูดออกมาจะเหมือนกับพระประธานเป็นคนพูด (ปัจจุบันเส้นทางนี้ปิดไม่ให้ขึ้นแล้ว) พระอจนะ หรือพระประธานของวัดศรีชุมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ตัวพระวิหารที่ประดิษฐาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายกับมณฑป ปัจจุบันหลังคาพังทลายลงหมดแล้ว
วัดพระพายหลวง เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียกว่า คูแม่โจน วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานที่ เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกด้านทิศใต้ (บริเวณนี้ขี่จักรยานมาไม่ไหวทีมงานจึงขับรถมา) มีโบราณสถานที่มีความสำคัญโดดเด่น คือ วัดเชตุพน และวัดเจดีย์สี่ห้อง
วัดเชตุพน ศิลปกรรมที่น่าสนใจของวัดคือ มณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท คือนั่ง นอน ยืน เดิน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ และหนา โดยมีการสกัด และบากหินเพื่อทำเป็นกรอบ และซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้หลักที่ 58 จารึกในปี พ. ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้
วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างไปประมาณ 100 เมตร โบราณสถานที่น่าสนใจ คือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษ และสตรี สวมอาภารณ์ และเครื่องประดับ ในมือถือภาชนะ มีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นมีปูนปั้นรูปช้าง และสิงห์ประดับรูปบุคคล องค์เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลมที่ได้รับการบูรณะ ส่วนยอดเจดีย์ได้หักพังลง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกด้านทิศตะวันออก มีโบราณสถานที่มีความสำคัญโดดเด่น คือ วัดช้างล้อม และวัดตระพังทองหลาง
วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ
วัดตระพังทองหลาง อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง หากเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัยวัดตระพังทองหลางอยู่ริมซ้ายมือ ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกด้านทิศตะวันตก (บริเวณขี่จักรยานมาไม่ไหว เลยขับรถกันมา) มีโบราณสถานที่มีความสำคัญโดดเด่น คือ
วัดช้างรอบ อยู่ห่างจากประตูอ้อมไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร มีโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว มีจำนวน 24 เชือก พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์ราย 5 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน และโบสถ์
วัดสะพานหิน วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร (ทำเอาทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราเดินกันลิ้นห้อย) สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารศ
เนื่องจากอาณาบริเวณของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกกว้างขวางมาก และยังมีโบราณสถานอื่น ๆ อีก เช่นวัดศรีพิจิตร หากนักท่องเที่ยท่านใดสนใจสามารถแวะมาเยี่ยมชมเพิ่มเติมได้
การเดินทาง
เริ่มจากตัวเมืองข้ามสะพานพระร่วง เข้าถนนจรดวิถีถ่อง (ทางหลวงหมายเลข 12) ขับตรงไปเรื่อย ๆ ตามป้ายบอกทาง จะเริ่มเห็นโบราณสถานเป็นระยะ ๆ จนถึงลานจอดรถ และจุดจำหน่ายตั๋วเข้าชม แบบเหมารวม 70 บาทจะคุ้มค่ากว่าชำระตามจุดเยี่ยมชมโบราณสถานทุกจุด หากต้องการชมโบราณสถานให้ทั่ว
|
วัดศรีชุม และอาณาบริเวณโดยรอบวัดที่มีทั้งโบราณวัตถุ และโบราณสถานล้ำค่า |
|
พระอจนะแห่งวัดศรีชุม ที่มาแห่งตำนานพระพุทธรูปพูดได้ มีพุทธลักษณะที่งดงาม และไม่ควรพลาดมาชม |
|
สะพานหิน เส้นทางทอดยาวขึ้นเนินเขาเพื่อมุ่งสู่วัดสะพานหิน (สมกับชื่อวัดจริง ๆ) |
|
วิหารวัดเจดีย์สี่ห้อง พระเจดีย์วัดศรีพิจิตร และพระปูนปั้นที่ฐานเจดีย์ภายในวัดเจดีย์สี่ห้อง ตามลำดับ |
|
(ซ้าย) พระพุทธรูปภายในวัดศรีวิจิตร ประติมากรรมปูนปั้นภายในวัดเจดีย์สี่ห้อง |
|
พระพุทธรูปปางลีลา และซากพระวิหารที่ยังคงเค้าโครงให้เห็น |
|