คุณชอบกินขนมหวานหรือเปล่า? เชิญทางนี้
บทความนี้จะกล่าวถึงภาวะเสพติดน้ำตาลกันครับ คนส่วนใหญ่ชอบกินขนมหวาน เค้ก หรือช้อกโกแลตใช่ไหมครับ ผมก็ชอบเช่นกัน (แต่ผมไม่อ้วนนะครับ) คุณเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมคนส่วนใหญ่ จึงชอบรับประทานของหวาน และบางคนถึงกับเสพติด
น้ำตาลกันเลยทีเดียว
ทุกคนรู้ว่าน้ำตาลทำให้อ้วนง่ายครับ เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจะกระตุ้นให้มีการสร้างกรดไขมันที่ตับ และกระตุ้นเอนไซม์ ซึ่งเร่งการสะสมไขมันมากขึ้น นักวิจัยบางคนสงสัยว่า ภาวะเสพติดน้ำตาลเป็นอะไรที่เป็นมากกว่าความรู้สึกนึกคิดครับ และในบางครั้งร่างกายของเราก็กระตุ้นให้เราอยากกินน้ำตาลขึ้นมา กระตุ้นให้เราพยายามหาขนม หรือของหวาน ลูกกวาดมากิน
ทำไมวันนี้ผมจะมาคุยเรื่องภาวะเสพติดน้ำตาล หรือ ภาวะหิวน้ำตาล
จากอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรืออาหารรสหวาน ลูกกวาด น้ำอัดลม มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายยาเสพติดอย่างอ่อนๆครับ
อาหารหวานประเภทน้ำตาลจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และระดับของฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้นตามไปด้วย และนอกจากนี้ยังทำให้มีระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ ก่อให้เกิด "ความสุข"
สูงขึ้นได้อย่างไรล่ะครับ ด้วยเหตุนี้ ไม่แปลกใจครับ ที่คนส่วนใหญ่ชอบกินอาหารรสหวาน เพราะอาหารรสหวาน ทำให้เกิดความสุขในการกินนั่นเอง แต่ความสุขนี้เกิดขึ้นไม่ได้นานหรอกครับ เพราะทันทีที่ระดับน้ำตาลในเลือดตกลง จะทำให้คุณเริ่มหิวขึ้นมาอีก ด้วยเหตุนี้การรับประทานอาหารหวานจึงทำให้คุณหิวได้ง่ายและเร็วกว่า และความสุขก็จะค่อยๆลดลงจนคุณต้องหาอะไรมารับประทานเพื่อชดเชย ดังนั้นการรับประทานอาหารหวาน จะทำให้คุณต้องรับประทานมากขึ้นอีกด้วย อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณรับประทานอาหารมากนั่นก็คือ ความเครียดครับ ทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย เมื่อคุณเครียดร่างกายก็จะมีการสร้างฮอร์โมนแห่งความเครียด นั่นคือ
คอร์ติซอล ฮอร์โมนนี่แหละที่จะกระตุ้นการสร้างสารเคมีในสมองที่ชื่อ NPY หรือ neuropeptide Y ด้วยครับ และ NPY นี่แหละครับที่จะทำให้คุณหิว และลดการเผาผลาญ ซึ่งจะทำให้คุณอ้วนขึ้นและกินมากขึ้น
ความเครียดก็ทำให้คุณอยากรับประทานอาหารหวานเพื่อให้เกิดความสุข และทำให้มีการสร้าง NPY มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้คุณยิ่งกินมากขึ้น แต่อาหารที่มีน้ำตาลทำให้เกิดความสุขไม่ได้นาน คุณก็จะหิวน้ำตาลและกินมากขึ้นเพื่อชดเชยความสุขที่สูญเสียไป กลายเป็นวงจรเสพติดน้ำตาลอย่างไรล่ะครับ
อาหารไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ร่างกายต้องการครับ อารมณ์ก็มีส่วนในการควบคุมการรับประทานอาหาร ด้วยเหตุนี้ผมจึงเขียนเรื่องความสุขกับการรับประทานอาหารไว้ในอ้วนศาสตร์ของผมด้วย
คำแนะนำสำหรับการรับประทานอาหารในภาวะเสพติดน้ำตาล
1. รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยมากขึ้น รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตคู่กับโปรตีนเพื่อให้ระดับน้ำตาลคงที่ การอดอาหารแม้เพียงมื้อเดียว ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง หิวมากขึ้น และจะทำให้คุณต้องไปหาน้ำตาลมารับประทานเพื่อเป็นพลังงาน
2. เลือกประเภทของคาร์โบไฮเดรตที่คุณจะรับประทานด้วยครับ ให้เลือกคาร์โบไฮเดรตประเภทแป้ง แทนน้ำตาล ถ้าจะให้ดี ให้เลือกคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่นข้าวซ้อมมือ จะดีที่สุด และรับประทานใยอาหาร ผักและผลไม้ให้มากๆ
3. ให้รับประทานโปรตีนคู่กับอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีนจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลลง และจะช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมากจนเกินไป ถ้าทำเช่นนี้จะช่วยใหคุณลดภาวะหิวน้ำตาลลง
4. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ น้ำผลไม้ และคาร์เฟอีนลง เพราะนั่นจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง อีกทั้งน้ำผลไม้ยังมีแคลอรี่สูงกว่าผลไม้สดอีกด้วย (น้ำส้ม 1 แก้วเล็ก มีแคลอรี่ 120 กิโลแคลอรี่ แต่ส้มขนาดกลาง 1 ผล มีแคลอรี่ 60 กิโลแคลอรี่และยังมีใยอาหารอีกด้วย) ซึ่งจะทำให้คุณหิวน้ำตาลมากขึ้น
5. นอนหลับให้เพียงพอ เมื่อคุณนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วภาวะหิวน้ำตาลก็จะน้อยลง
เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ: ปิติ นิยมศิริวนิช แหล่งข้อมูลที่มากกว่าและเชื่อถือได้ในเรื่องวิธีการลดไขมันส่วนเกิน คุณสามารถอ่านและรับบทความใหม่ๆทาง email ทุก 2 สัปดาห์ ได้ที่ http://www.thaifittips.com
|