ล่องแก่งอย่างไรให้ปลอดภัย ?
หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่งซึ่งชื่นชอบความท้าทาย รักความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ และอยากจะออกไปหาบางสิ่งบางอย่างทำเพื่อคลายความเบื่อหน่ายในช่วงฤดูฝน “การล่องแก่ง” ดูเหมือนว่าจะเป็นกิจกรรมทางเลือกลำดับต้นๆ ที่เหมาะสมพอจะช่วยบำบัดความต้องการอันร้อนรุ่มในหัวใจของคุณให้ทุเลาเบาบางลงได้
|
.......อยากล่องแก่งอย่างปลอดภัย ต้องใส่ใจปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ.......
|
อย่างไรก็ตาม.....ถึงแม้ว่าการล่องแก่งจะเป็นกิจกรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน ตื่นเต้น และเร้าใจ แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นในขณะทำการล่องแก่งได้เสมอ เพราะฉะนั้น.....นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเข้าร่วมกิจกรรมล่องแก่งจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎระเบียบ และมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายขึ้นกับทั้งตนเองและผู้ร่วมล่องแก่งท่านอื่นๆ
|
ถ้าเชื่อฟังผู้ควบคุมเรืออย่างเคร่งครัด คุณจะได้ยิ้ม - หัวเราะร่าไปตลอดทาง
|
ต่อไปนี้ คือ ข้อกำหนด กฎระเบียบ และมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับการล่องแก่งที่นักท่องเที่ยวควรยึดถือและปฏิบัติตาม
1. นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะล่องแก่งต้องเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถว่ายน้ำและช่วยเหลือตนเองได้ ผู้มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ , โรคหอบหืดที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการให้คงที่ได้ , ฯลฯ ไม่ควรลงล่องแก่งโดยเด็ดขาด
2. เด็กที่จะลงล่องแก่งได้ต้องมีอายุครบ 8 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 130 ซม. พร้อมทั้งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
3. นักท่องเที่ยวควรสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม โดยเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อมน้ำ ไม่ควรใส่กางเกงขายาวหรือกางเกงยีนส์ ในกรณีที่พลัดตกน้ำไป.....ต้องสามารถว่ายน้ำได้อย่างสะดวก คล่องแคล่ว หากต้องเดินป่าไปยังจุดลงล่องแก่งอาจเลือกใส่รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าแตะรัดส้น (โดยปกติผู้ให้บริการทัวร์ล่องแก่งจะรับฝากรองเท้าของนักท่องเที่ยวไว้ ณ จุดลงล่องแก่งแล้วจึงนำไปคืนที่จุดขึ้นจากแก่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่ารองเท้าจะหายขณะลงล่องแก่งครับ)
4. ต้องสวมหมวกกันกระแทกและเสื้อชูชีพตลอดเวลาขณะที่ลงล่องแก่ง – เล่นน้ำ
5. โทรศัพท์มือถือ , กล้องถ่ายภาพ และ/หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์อื่นๆ รวมถึงกระเป๋าสตางค์ ควรใส่ถุงพลาสติกกันน้ำ/ถุงทะเลพกติดตัวไปเท่าที่จำเป็น หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลทรัพย์สินต่างๆ ให้ติดตัวอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างครบถ้วน ควรฝากทรัพย์สินมีค่าไว้กับผู้ให้บริการทัวร์ก่อนลงล่องแก่ง (หรือจะทิ้งทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เหล่านี้ไว้ในที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ทก็ได้ครับ
|
ถึงจะน่าหวาดเสียว แต่หากรู้จักประคองสติให้ดีอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ยาก
|
6. ต้องไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาอื่นๆ ทั้งก่อนและระหว่างการลงล่องแก่ง
7. ศึกษาข้อปฏิบัติการพายเรือรวมถึงข้อปฏิบัติอื่นๆ จากคำบรรยายของวิทยากรอย่างตั้งใจก่อนลงล่องแก่ง ระหว่างลงล่องแก่งต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้บังคับเรือ/ต้นหน/นายท้ายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การล่องแก่งเป็นไปอย่างสนุกสนานและปลอดภัย (โดยปกติผู้ให้บริการทัวร์ล่องแก่งทุกๆ รายจำเป็นต้องจัดให้มีวิทยากรบรรยายพร้อมทั้งซักซ้อมวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ก่อนจะนำนักท่องเที่ยวลงล่องแก่งเสมอครับ)
8. ไม่ทิ้งขยะใดๆ ลงในลำน้ำและระหว่างเส้นทางเดินป่าสู่จุดล่องแก่ง รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
9. หากเกิดอุบัติเหตุพลัดตกน้ำ ให้พยายามลอยตัวอยู่เหนือน้ำในลักษณะท่านอนหงาย ยกขาทั้งสองข้างขึ้นในระดับผิวน้ำชี้ไปทางด้านหน้า หลังจากนั้นให้พยายามใช้ขาเตะน้ำเพื่อชะลอความเร็วพร้อมทั้งบังคับทิศทางให้ตนเองลอยเข้าหาฝั่งที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว (โดยปกติกรณีที่มีนักท่องเที่ยวพลัดตกน้ำผู้บังคับเรือ/ต้นหน/นายท้ายจะออกคำสั่งให้คนที่เหลือพายเรือตามไปอย่างรวดเร็ว หากนักท่องเที่ยวไม่สามารถจะบังคับทิศทางให้ตนเองลอยเข้าหาฝั่งได้ก็ต้องพยายามใช้ขาเตะน้ำช้าๆ ชะลอความเร็วของตนเองลงให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่ผู้บังคับเรือ/ต้นหน/นายท้ายจะสามารถไล่ตามไปช่วยฉุดขึ้นมาบนเรือได้อย่างทันท่วงที)
10. หากเกิดอุบัติเหตุเรือพลิกคว่ำขณะอยู่กลางแก่งน้ำวน ให้นักท่องเที่ยวรีบว่ายดำมุดหนีออกจากโพรงน้ำในบริเวณนั้นอย่างรวดเร็ว......เมื่อหลุดออกจากกระแสน้ำวนแล้วจึงปฏิบัติตนต่อตามข้อ 9. อย่าพยายามลอยตัวขึ้นกลางแก่งน้ำวนเพราะกระแสน้ำจะหมุนดูดนักท่องเที่ยวย้อนกลับลงไปจนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
|
..........เรียนรู้มาตรการรักษาความปลอดภัยแล้วสนุกสนานให้เต็มพิกัด..........
|
อ่านมาถึงตรงนี้.....บางคนที่ไม่เคยล่องแก่งมาก่อนอาจรู้สึกตระหนกตกใจ ขวัญหนีดีฝ่อ พาลท้อไม่อยากจะล่องแก่งซะงั้น เพราะข้อกำหนดที่มีอยู่บานตะเกียงดังข้างต้นทำให้หวั่นๆ ว่าพอไปล่องแก่งแล้วชีวิตอาจปลิดปลิวหายไหลไปกับสายน้ำเชี่ยว แต่ในความเป็นจริงทางสถิติแล้ว.....อุบัติเหตุเรือพลิกคว่ำจากการล่องแก่งเกิดขึ้นต่ำกว่า 200 – 300 ต่อ1 และนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุเรือล่องแก่งพลิกคว่ำส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ นอกเหนือไปจากรอยถลอก/รอยฟกช้ำดำเขียวเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น (เรือล่องแก่ง 200 – 300 ลำ อาจเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำเพียงแค่ 1 ลำ อ้างอิงข้อมูลจากสถิติการล่องแก่งลำน้ำเข็ก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ส่วนในกรณีการล่องแก่งหินเพิง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เรือล่องแก่ง 500 – 700 ลำ อาจเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำไม่เกิน 1 ลำเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุเรือล่องแก่งพลิกคว่ำบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีรายงานถึงผู้เสียชีวิตจากการ “ล่องแก่งลำน้ำเข็ก” และ “ล่องแก่งหินเพิง” มายาวนานหลายปีแล้วครับ)
|
การล่องแก่งบางช่วงก็ต้องอยู่นิ่ง ๆ......แต่บางช่วงจะทำตัวเหมือนลิงก็ยังไม่อันตราย
|
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม..........อุบัติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันและการล่องแก่งก็ยังคงมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจลงล่องแก่งที่ใดๆ คุณต้องลองสอบถามตนเองดูว่า คุณจะยอมรับความเสี่ยงได้อย่างเต็มใจหรือไม่ ? ร่างกาย จิตใจ และสติ ของคุณสมบูรณ์ดีพร้อมสำหรับกิจกรรมล่องแก่งไหม ? ผู้ให้บริการทัวร์ล่องแก่งของคุณมีความน่าเชื่อถือมาก – น้อยเพียงใด ? มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานครบถ้วนหรือไม่ ? คุณพร้อมจะปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎระเบียบ และมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ไหม ?.....แล้วจึงตัดสินใจเลือกคำตอบสุดท้ายด้วยตัวคุณเองอีกครั้ง.....
ขอขอบคุณ : ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 9 (ใสใหญ่) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็ก ราคาประหยัด , ทัวร์ล่องแก่งหินเพิง ราคาประหยัด
|