Custom Search
 

อาการไข้ในเด็ก

อาการไข้ในเด็ก หมายถึง การที่เด็กตัวร้อนขึ้นกว่าปกติ หรือ มีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ

เมื่อใดถึงจะบอกว่าเด็กมีไข้

หากสงสัยว่าเด็กมีไข้ ไม่ควรคาดคะเนโดยการใช้มือเราแตะหน้าผาก หรือซอกคอของเด็ก เนื่องจากเป็นการวัดความรู้สึกเปรียบเทียบอุณหภูมิระหว่างมือเรากับตัวเด็ก โดยใช้มือเราเป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้าหากมือเราเย็นกว่าตัวเด็ก เราก็จะรู้สึกว่าเด็กตัวร้อน แต่ถ้ามือเราร้อนกว่าตัวเด็ก เราก็จะรู้สึกว่าเด็กตัวเย็น ดังนั้นจึงควรใช้ปรอทวัดไข้ โดยจะถือว่ามีไข้เมื่อ

อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37.8 องศาเซสเซียส โดยใช้ปรอทวัดทางปาก
อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 38.3 องศาเซสเซียส โดยใช้ปรอทวัดทางก้น
อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37.3 องศาเซสเซียส โดยใช้ปรอทวัดทางรักแร

 

เด็กมีไข้ได้อย่างไร

สาเหตุที่ทำให้เด็กมีไข้ ตัวร้อนเกิดได้หลายประการ เช่น

1.การติดเชื้อในร่างกาย เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

2.การที่อุณหภูมิภายนอกรอบตัวสูงเกินไป ก็จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงตามไปด้วย

3.การที่เด็กขาดน้ำ เช่น เด็กรับประทานน้ำได้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ หรือเด็กที่มีอาการท้องเสีย ทำให้เสียน้ำออกจากร่างกายทางอุจจาระมากกว่าปกติ

4.การแพ้ยา หรือ จากโรคcollagen diseases (เป็นโรคที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ โดยร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานเข้าไปต่อต้าน ทำลายเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดอาการตามระบบต่าง ๆ ที่ถูกภูมิต้านทานเข้าไปทำลาย เช่น อาการไตวาย ข้ออักเสบ ผิวหนังเป็นผื่นแดง ซีด และมีไข้ร่วมด้วยได้)

ทำอย่างไรเมื่อเด็กมีไข้

ไม่ควรปล่อยให้เด็กมีไข้สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เพราะอาจทำให้เด็กเกิดอาการชักได้ และถ้าปล่อยให้เด็กชักบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กเป็นโรคลมชัก (ลมบ้าหมู) สมองเสื่อม หรือปัญญาอ่อน เมื่อเด็กโตขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรช่วยลดไข้ให้เด็กโดย

1.การเช็ดตัวเด็ก
การเช็ดตัวควรมีผ้าอย่างน้อยสองผืน ผืนหนึ่งใช้เช็ดตัว อีกผืนหนึ่งใช้ชุบน้ำ แล้ววางโปะตามซอกต่าง ๆ เช่น ซอกคอ ซอกรักแร้ และซอกขาหนีบ สลับกันไปเรื่อย ซึ่งบริเวณนี้มีเส้นเลือดใหญ่อยู่จึงมีเลือดไหลผ่านมาก ทำให้ความเย็นจากผ้าที่วางโปะไว้กระจายไปตามร่างกายได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถลดอาการตัวร้อนได้ดีกว่าการเช็ดตัวอย่างเดียว

2.ไม่ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้าหนา ๆ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้

3.ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนการขาดน้ำของร่างกาย

4.ให้ยาลดไข้ ยาลดไข้ที่ใช้กันมาก ได้แก่ พาราเซตามอล หรืออาจให้ไอบูโปรเฟน ในกรณีที่มีอาการปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย โดยให้ยาในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของเด็ก

อาการไข้ ตัวร้อน เป็นอาการอย่างหนึ่งที่บอกให้เราทราบว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นต่อร่างกายของเด็ก ไม่ใช่เป็นโรค การช่วยลดไข้ก็เป็นเพียงการบรรเทาอาการให้เด็กเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรักษาโรคที่แท้จริง ดังนั้นเราจึงควรที่จะคอยสังเกตอาการอื่น ๆ ของเด็กร่วมด้วย ถ้าเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น ซึมลง ไม่ทานอาหาร น้ำหนักลด หายใจลำบาก หอบ หรือไข้ไม่ทุเลาลงหลังจากได้รับยาลดไข้มาแล้ว 2 – 3 วัน ก็ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

ที่มา : เอกสารอาการไข้ในเด็ก ขององค์การเภสัชกรรม


 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © 2008 - 2010 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154