เห็บกัด
สำหรับนักท่องป่าคงจะรู้จักกันดีและคาดว่าคงมีหลาย ๆ ท่านได้เคยสัมผัสกับมันมาแล้ว ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะตั้งใจเจอมันแน่ๆ ผู้เขียนก็เช่นกันใครจะคิดว่าวันหนึ่งมันได้มาถึงตัวแล้ว เหตุการณ์เกิดเมื่อทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ของเราได้พากันไปเก็บข้อมูลที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ากัน
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าไปเจอกับไอ้เจ้าตัวนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เนื่องจากออกจากเขาใหญ่ มาถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าตอนเย็น ๆ สวมเสื้อกันหนาวเนื่องจากอากาศหนาวทีเดียว ขณะที่กำลังมุ่งสู่ลานหินแตกก็รู้สึกเจ็บ ๆ ปวดเล็กน้อยบริเวณท้องแขนด้านใน (นึกในใจว่าอุปกรณ์ที่แบกคงหนักสายกระเป๋าเลยไปเสียดสีทำให้เจ็บ)
หลังจากเก็บภาพเสร็จก็เข้าไปอาบน้ำหลังบ้านพักอุทยานฯ แสงไฟก็มีไม่มากเท่าไหร่นัก เห็นต้นแขนตัวเองมีจุดดำ ๆ อยู่ (ในใจยังนึกว่าสงสัยจะพองจนเลือดออกแห้งแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง เลยจะแกะมันออก) ปรากฏว่าบีบไปบีบมาเห็นเป็นขากับตัว เลยดึงออก
ปรากฏว่าหลังจากนั้นได้เรื่องเลยทั้งเจ็บแสบทั้งคัน ขึ้นเป็นรอยนูนแดง เกาจนถลอกปอกเปิก เกาแล้วเกาอีกจนแผลมันไม่หายสักที เป็นอยู่เกือบเดือน กินยา อาการค่อยดีขึ้น ปัจจุบัน 6 เดือนแล้วยังมีอาการคันบ้างนาน ๆ ครั้ง แต่ยังเป็นรอยสะเก็ดสีดำปรากฏท้องแขนขนาดเล็กลงจากเดิมแล้ว เป็นหลักฐานว่าเคยเจอกับมันมาแล้วที่ยังไม่ยอมหายไป นั่นคือเจ้าเห็บตัวร้ายนั่นเอง
ดังนั้นจึงขอพาทุกท่านมารู้จักเจ้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เห็บ” กันก่อน เห็บที่พบในป่ามี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ เห็บแข็ง (Ticks) ส่วนใหญ่จะเรียกว่า เห็บกวาง จะตัวใหญ่คล้ายๆเห็บหมา กับ เห็บลม หรือแมงแดงตัวเล็กๆเหมือนไร ทางแพทย์เรียกว่าไรอ่อน (Chigger) หรือไรแดง ตัวเล็กกว่าเห็บทั่วไป พบเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวมีเยอะเป็นพิเศษ อาศัยตามพื้น หรือ ปีนขึ้นมาตามใบหญ้า รอสัตว์เดินผ่านมาก็อาศัยเกาะ ที่ใดมีสัตว์ ที่นั่นมีเห็บ
เห็บลม เป็นสัตว์ตัวเล็กๆขนาดประมาณหัวเข็มหมุดเห็บชนิดนี้จึงสามารถลอยไปตามกระแส ลมได้ โดยทั่วไปแล้วพบได้ในฤดูแล้งในเขตป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติ เห็บลมเป็นสัตว์ที่กินเลือดสัตว์อื่นเช่น กวาง เก้ง เมื่อคนเราไปเดินในป่า อาจถูกเห็บลมกัด อาการเมื่อถูกกัดเห็บลมจะเกาะติดอยู่ที่ผิวหนังโดยเราไม่รู้ตัว เป็น 3-4 วัน บางคนที่มีอาการแพ้อาจเป็นไข้ทุกวัน รอบๆบริเวณที่ถูกกัดเป็นผื่นแดงเจ็บคัน เราควรสำรวจร่างกายทุกครั้งเมื่อกลับออกจากป่า หรือกลับจากไปเที่ยวตามสวนสัตว์เปิดทั่วไป
เห็บลม หรือ แมงแดงเป็นพาหะนำ โรคสครับไทฟัส
ลักษณะอาการของโรค จะมีลักษณะอาการเฉพาะของโรค คือ ผิวหนังที่ถูกตัวไรกัด มักเป็นแผลบุ๋มสีดำ ลักษณะคล้ายแผลถูกบุหรี่จี้ (Eschar) ซึ่งพบอยู่นานประมาณ 6-18 วัน พบได้ประมาณร้อยละ 30-40 ต่อมาจะมีอาการไข้สูง ปวดศรีษะมากโดยเฉพาะบริเวณขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว
ตาแดง (Conjunctival injection) มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenopathy) โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้บริเวณ eschar ตับโต ม้ามโต หลังมีไข้ 4-5 วัน บางรายปรากฏผื่นนูนแดง
(maculopupular rash) ตามลำตัวและกระจายไปยังแขน ขา ผื่นเหล่านี้จะหายไปในเวลา 2-3 วัน อาการที่พบบ่อยอีกอาการหนึ่ง คือ ไอ เมื่อเอกซ์เรย์ปอดพบการอักเสบของเนื้อปอดส่วนใหญ่
คอแข็ง (Stiff neck) ดีซ่าน (Jaundice) สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการใด ๆ ที่ผิดปกติหลังจากไปเที่ยวป่า หรือถูกแมลงที่ไม่ทราบชนิดกัด ให้บอกประวัติการเข้าไปเที่ยวป่าของเราให้แก่คุณหมอทราบด้วยนะคะ เนื่องจากคุณหมอจะได้ตรวจเพื่อค้นหาโรคนี้ด้วย
ระยะฟักตัวของโรค : ปกติ 10-12 วัน อาจแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 6-21 วัน
ระยะติดต่อของโรค : ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน คนเป็น accidental host เพราะถูกตัวไรอ่อนกัด
การรักษา : การให้ยาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อ เป็นวิธีเดียวที่ช่วยลดอาการของโรคและลดอัตราป่วย อัตราตายรวมทั้งการระบาดของโรค ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยยา Tetracyclin 500 mg วันละ 2 ครั้ง
Doxycycline 100 mg bid รับประทานเป็นเวลา 7 วัน หรือใช้ Chloramphenicol (50-75 mg/kg/d) ก็ได้ผลการรักษาดีพอกัน
การป้องกัน : ให้ใช้ ยาฆ่าเห็บหมาที่มี permethrin 1.0% มาใช้แทน เช่น chainguard เพราะเขียนว่าออกแบบมาให้ฉีดกับเสื้อผ้าเครื่องใช้ ไม่ใช่ให้ติดกับขนสัตว์ และ เวลาฉีดจะเป็นฝอยกระจายไปทั่วกว่า หาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและ pet shop แต่จะใช้ฉีดตามเสื้อผ้าเท่านั้น ไม่ให้ถูกตัว โดยฉีดให้ทั่วกางเกงและรองเท้า ส่วนเสื้อโดยเฉพาะตรงแขนเสื้อ และถุงมือ ควรฉีดด้วย เพราะถึงแม้วว่าเห็บส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามพื้น แต่มีส่วนหนึ่งขึ้นมาอยู่บนใบหญ้า มีส่วนน้อยที่จะอยู่สูงกว่าเอวเช่นพวกที่หลุดมาจากตัวสัตว์ ปลิวมาตามลมหรือหล่นลงมาจากกิ่งไม้ดอกไม้ด้านบน
ส่วนพวกตะไคร้หอมป้องกันได้แต่ทาก กันเห็บไม่อยู่ แต่ถ้า หากหาไม่ได้จริงๆ ใช้พวกน้ำมันมวยสำหรับนักกีฬาพอทดแทนได้ ทาทั่วตัว และบริเวณใบหู ทนเหม็นหน่อย แต่ก็ปลอดภัยไว้ก่อน
permethrin เป็นสารเคมีที่พัฒนามาจากสาร pyrethrins ในดอก pyrethrum (เบญจมาศญี่ปุ่น) เพื่อให้ทนทานต่อความชื้นและแสงแดด ฉีดครั้งหนึ่งป้องกันได้เกือบเดือน ส่วน pyrethrins ธรรมชาติสลายตัวเร็วไม่เกิน 24 ชม. ดังนั้นใครที่กลัวสารเคมีตกค้าง ก็ซื้อสารสกัดจากดอก pyrethrum มาใช้แทน
ในการเดินป่าหน้าหนาวนั้น การเดิน ให้สังเกตดงที่มีต้นหญ้าต้นเฟิร์นแห้งๆสีเหลืองๆ ชายป่าติดกับที่แล้งๆ สถานที่เหล่านี้ คือดงของพวกมัน ให้เดินเลี่ยงเสีย อย่าลุยเข้าไป เดินเลียบริมน้ำก็จะไม่ค่อยพบพวกมัน ระวังอย่าเดินบนไม้ล้มผุๆ เป็นแหล่งอาศัยของเห็บ
การนอนในป่า : ก็ให้อยู่ห่างสถานที่เหล่านี้ นอนบนก้อนหินโล่ง ๆ ใกล้ ๆ น้ำ ถ้าไม่มีจริงๆ ให้ผูกเปล พยายามอยู่ติดน้ำเข้าไว้ และ ยืนบนก้อนหิน หรือที่กวาดใบไม้ออกแล้ว อย่ายืนบนใบไม้ เพราะพวกนี้ซ่อนอยู่ใต้ใบไม้ ใช้เต็นท์มุ้งถี่แมงแดงจะลอดเข้ามาแทบไม่ได้ และถ้าเลือกได้ให้ใช้สีขาวจะมองเห็นง่าย -ก่อนเข้าหรือออกจากเต็นท์ให้สังเกตมุ้งให้ดีว่ามีตัวอะไรมาเกาะหรือไม่
-นอนก่อนค่ำ ปูผ้าพลาสติกสีขาวแล้วลองนั่งสังเกตว่าตัวอะไรไต่เข้ามาหรือไม่ ควรใช้สีขาวจะทำให้สังเกตได้ง่าย
-ใส่ถุงเท้า และถุงกันทาก แล้วพ่นยาเสมอถึงแม้ว่าจะอยู่ที่พักแล้ว เปลี่ยนตอนนอนเท่านั้น เสื้อผ้าควรเน้นสีขาวจะมองเห็นพวกมันได้ง่าย
-เมื่อ ถึงที่พักอย่ารีบอาบน้ำ เพราะเห็บไรที่เกาะอยู่อาจแพ้สบู่หรือถ้าแช่นานพวกมันอาจสำลักน้ำแล้วคายพิษออกมา ให้ถอดเสื้อผ้าออกสำรวจร่างกายให้ทั่ว หากพบเห็บหรือแมงแดงให้ถอดเสื้อผ้าไปแช่น้ำหรือรมควัน แล้วสำรวจร่างกาย หากพบไม่มากให้ใช้เล็บขูดออก หรือใช้แหนบหัวเฉียงดึง เพราะมันตัวเล็ก แหนบหัวตรงอาจคีบไม่โดน แมงแดงเกาะจะคล้ายๆกับขี้แมงวัน แต่เงาสะท้อนแสงไฟ เช่นเดียวกับเห็บที่ตัวใหญ่กว่า อาจพกแว่นขยายไปส่องด้วย
อาการอาการแสดง : หลังจากโดนแมงแดงกัดแล้วจะเป็นตุ่ม แดงๆคล้ายยุงกัด อย่าเข้าใจผิดว่าแพ้พืชหรือแพ้น้ำ ถ้าไม่มีจุดตรงกลางแสดงว่ามันหลุดไปแล้วตอนอาบน้ำฟอกสบู่ เวลาคันห้ามเกา เพราะจะทำให้น้ำเหลืองใหล แล้วจะคันอยู่อย่างนั้นเป็นเดือน และเมื่อหายแล้วจะกลายเป็นแผลเป็นรอยดำ เมื่อรู้ว่าโดนกัด ให้กินยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน เมื่อไม่เกาแผลจะหายเร็วขึ้น ถ้าหากไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษา
ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก : ฝ่ายวิชาการ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ,
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , konrakmeed.com , siamfishing.com , khaoyaizone.com
|