โรคกระเพาะอาหาร
เป็นคำที่มักใช้เรียกภาวะผิดปติที่ทำให้เกิดกรดในกระเพาะ และมีการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหารมากเกินไป ทำให้ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ อืดแน่น เกิดได้ทั้งก่อน และหลังรับประทานอาหาร โดยมากมักจะเป็นเรื้อรัง มีระยะสงบของโรคที่ไม่แสดงอาการค่อนข้างนานดูเผิน ๆ เหมือนว่าอาการจะไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา หรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารมีมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก
1.กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น
-จากความเครียด วิตกกังวล และอารมณ์
-จาการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชา กาแฟ และการสูบบุหรี่
-จากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือรับประทานมาก หรือน้อยเกินไป
2.เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายเนื่องจาก
-การใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคกระดูก และข้ออักเสบ ทุกชนิด
-การดื่มน้ำอัดลม กินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
3.กรรมพันธุ์
-พบว่าโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนในครอบครัวเดียวกันได้บ่อย ๆ
4.การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล (Helicobactor pyroli)
อาการของโรค
เริ่มแรก
ปวดท้อง โดยมีลักษณะสำคัญคือ
1.ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือขึ้นไป ปวดแบบแวบ ๆ หรือ ร้อน ๆ
2.ปวดเรื้อรังมานานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือปี โดยมากจะเป็น ๆ หาย ๆ
3.ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิว หรือท้องว่าง ปวดเวลาอิ่ม หรือปวดกลางดึก
อาการอื่น เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด เฟ้อ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน
ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่ได้ทำการรักษา ภาวะแทรกซ้อน ที่จะเกิดตามมาคือ
ภาวะแทรกซ้อน |
อาการแสดง |
เลือดออกในกระเพาะอาหาร |
อาเจียนเป็นเลือด
อุจจาระสีดำ |
กระเพาะอาหารทะลุ |
ปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง
หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก |
กระเพาะอาหารอุดตัน |
รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว
อาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ
เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก |
หากผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวนี้ ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
วิธีการรักษา
1.การรักษาด้วยยา
ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร แบ่งได้เป็น
1.1ยาลดกรด
1.2ยายับยั้งการหลั่งกรด
1.3ยาเพิ่มความต้านทานของชั้นเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร
1.4ยาอื่น ๆ ได้แก่
-ยาเพิ่มการขับเคลื่อนในกระเพาะอาหาร
-ยาลดลมในกระเพาะอาหาร
-ยาปฏิชีวนะ
ซึ่งการให้ยาขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และวินิจฉัยของแพทย์
ยาลดกรด
เนื่องจากยาลดกรด เป็นยาที่ผู้ป่วยสามารถเลือกซื้อได้ทั่วไป ดังนั้น มาทำความรู้จักยาลดกรดให้มากขึ้นกันดีกว่า ยาลดกรดมักใช้เป็นยาอันดับแรกในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ได้แก่ โซดามินท์ หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต เกลือของอลูมิเนียม เช่น อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ เกลือของแมกนีเซียม เช่น แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือเป็นตัวยาผสมระหว่างเกลืออลูมิเนียม และแมกนีเซียม นอกจากนี้ยาลดกรดหลายตำรับมีการใส่ ไซเมทิโคน ซึ่งมีฤทธิ์ไล่ก๊าซ แต่ตัวยาเองไม่มีฤทธิ์ลดกรด และไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
วิธีใช้ยาลดกรด
-ชนิดเม็ดเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืนยา
-ชนิดน้ำต้องเขย่าขวดก่อนรินยา
วิธีใช้
-เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบท้องเนื่องจากกรด หรืออาหารไม่ย่อย รับประทานวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร 1 ชั่วโมง และ ก่อนนอน หรือ รับประทานเมื่อมีอาการ
-เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ รับประทานวันละ 7 ครั้ง หลังอาหาร 1 และ 3 ชั่วโมง และก่อนนอนติดต่อกันตามแพทย์สั่ง
ผลข้างเคียง
-ท้องผูก พบในยาลดกรดที่มีเกลือของอลูมินียมผสมอยู่มาก
-ท้องเดิน พบในยาลดกรดที่มีเกลือของแมกนีเซียมผสมอยู่มาก
ดังนั้นยาลดกรดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จึงนิยมใช้ยาในรูปของสูตรผสมเกลือของอลูมิเนียม และแมกนีเซียม เพื่อลดผลเสียของกันและกัน
ข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด
-การใช้ยาในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ ไตหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
-เนื่องจากยาลดกรดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือมีผลให้ยาอื่นมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบอกแพทย์ และเภสัชกร ทุกครั้งหากใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย
-ควรรับประทานยาลดกรด เพื่อการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ติดต่อกันตามแพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
-หากมีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย
์
2.การรักษาด้วยการผ่าตัด
จำเป็นเฉพากรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ เลือดในกระเพาะอาหารออกไม่หยุด กระเพาะอาหารทะลุ หรือกระเพาะอาหารมีการอุดตัน ซึ่งขึ้นกับวินิจฉัยของแพทย์
หลักการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร
1.รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานมาก หรือ น้อยเกินไป
2.งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดสูบบุหรี่
3.งดน้ำอัดลม อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
4.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้ปวดกระดูก และข้ออักเสบทุกชนิด แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาควรรับประทานยาดังกล่าวกลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ
5.พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำใจให้สบาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ที่มา เอกสารประชาสัมพันธ์ ถามมาสิ...เราตอบได้ ขององค์การเภสัชกรรมเรื่อง "หิวไม่ปวด อิ่มไม่ปวด" ตอน...โรคกระเพาะอาหาร |