โรคชิคุนกุนย่า(โรคไข้ปวดข้อยุงลาย)
วันนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม(www.Thongteaw.com)อยากที่จะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักโรคระบาดที่เริ่มโด่งดังขึ้นมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทยดูสักหน่อย เนื่องจากทางภาคใต้นั้นอาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในดวงใจของใครหลายๆคนที่ชื่นชอบความงามของฟ้าครามน้ำทะเลสีเขียวใสไอทะเลโชยพัดกรุ่นละไมเพราะฉะนั้นหากคุณๆท่านๆทั้งหลายอยากจะไปก็ควรรู้จักวิธีป้องกันโรคไว้จะดีกว่านะเออ!!
“โรคชิคุนกุนย่า” หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” ไม่ใช่โรคใหม่ที่เพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆนี้แต่อย่างใดหากเป็นโรคที่มีหลักฐานการตรวจพบเจอในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 โดย Prof. W McD Hamnon แยกเชื้อได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร เป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่าทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่สำคัญคือ ไข้สูงอย่างฉับพลัน(ไข้สูง คือ ใช้ปรอทมาตรฐานวัดไข้ทางปากด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วพบว่าอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายอาจมีอาการคันร่วมด้วย ,มีจุดเลือดออกบนผิวหนัง ,ตาแดง ,ปวดข้อ(อาจตรวจพบข้ออักเสบได้)ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อเล็กๆเช่น ข้อมือ ,ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ( migratory polyarthritis) บางครั้งอาการอาจจะรุนแรงมาจนขยับข้อไม่ได้ อาการมักจะหายภายในเวลา 1 – 12 สัปดาห์แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2 – 3 สัปดาห์ต่อมาและบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบรายงานผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก ( shock มีความหมายในทางการแพทย์คือ ภาวะที่เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงอวัยะสำคัญได้อย่างเพียงพอทำให้เกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะนั้นๆและเป็นสาเหตุสำคัญของการตายได้ โดยทั่วไปจะใช้ความดันโลหิตและชีพจรเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าหากความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ,ชีพจรเบาและเร็วกว่า 100 – 120 ครั้งต่อนาที แสดงว่าภาวะ shock น่าจะเกิดขึ้นแล้วครับ)หรือรายงานการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการใดๆ(ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2552 – 2 มิถุนายน พ.ศ.2552)ดังนั้นทุกๆท่านอาจพอคลายความกังวลใจไปได้ในระดับหนึ่งเพราะการเป็นโรคชิคุนกุนย่านั้นจะไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตครับ
โรคชิคุนกุนย่าติดต่อได้จากการถูกยุงลายพาหะซึ่งมีเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่าอยู่กัดจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยโรคจะมีระยะฟักตัว(ระยะเวลาภายหลังการรับเชื้อจนถึงระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการเจ็บป่วยให้เห็น)ประมาณ 1 – 12วัน แต่ที่พบบ่อยอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 วันภายหลังจากการได้รับเชื้อและกรณีที่มียุงลายตัวใหม่มากัดผู้ป่วยซึ่งได้รับเชื้อครั้งแรกไปแล้วในช่วงวันที่ 2 – 4 ภายหลังจากได้รับเชื้อครั้งแรกแล้วล่ะก็ ยุงลายตัวนั้นก็จะนำเชื้อจากผู้ป่วยรายเก่าไปแพร่ยังเหยื่อรายใหม่ต่อๆไปได้ เรียกช่วงระยะเวลา 2 – 4 วันนี้ว่าระยะติดต่อ(ระยะนี้เป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่าในกระแสเลือดของผู้ป่วยอยู่สูง ยุงที่มากัดจึงสามารถรับเชื้อเหล่านี้ไปแพร่ต่อได้อย่างง่ายดาย) โรคนี้ไม่พบรายงานของการติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง(ในทวีปเอเชียการติดต่อเกิดจาก คน – ยุงลาย – คน เท่านั้นแต่ในทวีปอาฟริกามีการติดต่อแบบ ลิง – ยุงลาย – คนด้วยครับ) โรคนี้มีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกันคือ โรคชิคุนกุนย่าจะไม่มีการรั่วของน้ำเลือด( plasma )ออกนอกเส้นเลือดทำให้ระดับความรุนแรงของโรคต่ำกว่าและพบโรคนี้ในผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ในขณะที่โรคไข้เลือดออกนั้นจะมีการรั่วของน้ำเลือดออกจากเส้นเลือดได้ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการ shock จนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุดและมักจะพบโรคไข้เลือดออกในผู้ป่วยซึ่งมีช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา(พบในช่วงอายุอื่นได้เช่นเดียวกันแต่ไม่มากนัก)
สำหรับความชุกของการเกิดโรคชิคุนกุนย่านั้นจะเกิดมากในช่วงฤดูฝนซึ่งยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ขยายจำนวนได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีแหล่งน้ำขังที่เหมาะกับการวางไข่และการเจริญเติบโตของตัวอ่อนยุงลายอยู่มาก ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดมากนั้นก็คือพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี(คือ พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง) ส่วนพื้นที่อื่นๆหรือฤดูอื่นๆนั้นก็มีการระบาดได้เช่นเดียวกันเพียงแต่ความชุกของการระบาดจะไม่เท่ากับพื้นที่หรือช่วงฤดูที่กล่าวมาแล้วดังข้างต้น
ในส่วนของการรักษานั้นไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงใดๆ( no specific treatment ) เป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ( supportive treatment )เท่านั้น เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ,ยาลดการปวดข้อ/ข้ออักเสบ ,พักผ่อน ส่วนการป้องกันโรคชิคุนกุนย่านี้ก็สุดแสนจะง่ายดายเพียงแค่การระวังป้องกันมิให้ยุงกัดก็พอโดยอาจใช้โลชั่น ,สเปรย์ฉีดกันยุง , นอนในมุ้ง ,ฯลฯ ตามความสะดวกของท่านๆ นั่นแหละครับ นอกจากนั้นท่านยังสามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้โดยการช่วยกันกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย หรือกรณีที่ท่านติดโรคชิคุนกุนย่าแล้วควรระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดซ้ำอีกเนื่องจากยุงลายจะนำเชื้อไวรัสจากเลือดของท่านไปแพร่ให้กับผู้อื่นได้อีกหลายทอดครับ
ท้ายนี้เราขอสรุปสั้นๆเกี่ยวกับอาการที่ทำให้ท่านเป็นบุคคลต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคชิคุนกุนย่าและควรติดต่อปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจเลือดยืนยันการเป็นโรคเพิ่มเติมพร้อมทั้งเข้ารับการรักษาที่จำเป็นต่อไป คือ มีอาการไข้สูง(ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เมื่อวัดปรอททางปากด้วยกระบวนการที่ถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์)ร่วมกับอาการอย่างน้อยสองอาการข้างล่างดังต่อไปนี้
1. ปวดข้อ ,ข้อบวมอักเสบ
2. มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
3. ปวดกล้ามเนื้อ
4. ปวดศีรษะ
5. ปวดกระบอกตา
ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรคชิคุนกุนย่าบ้างพอสมควรดังนี้แล้วหลายๆท่านอาจจะไปท่องเที่ยวภาคใต้หรือท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนได้อย่างสบายใจมากขึ้นเพราะอย่างน้อยโรคนี้ก็ไม่ทำอันตรายให้ถึงขั้นเสียชีวิตแต่อย่างใด แต่ทางที่ดีก็คืออย่าลืมวางแผนป้องกันสุขภาพร่างกายให้ดีก่อนไปท่องเที่ยวจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียอารมณ์ว่าต้องไปนอนโรงพยาบาลแทนการได้ไปท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานครับ
|