โรคท้องเสีย (Diarrhea)
ลองจินตนาการดูให้ดีๆ สิครับว่า มันจะลำบากแค่ไหนหากคุณกำลังเดินทางท่องเที่ยวแล้วจู่ๆ อาการท้องไส้ปั่นป่วนก็เข้ามารบกวนวันอันน่าอภิรมย์ นั่งไป.....บิดไป.....เดินไป.....ม้วนไป ด้วยกังวลว่าปากประตู(ทวาร)หนักจะไม่สามารถอัดอั้นสิ่งปฏิกูลที่ไม่พึงประสงค์เอาไว้ได้ ความทุกข์ทรมานราวกับผู้เยี่ยมยุทธซึ่งต้องผนึกลมปราณผสานกำลังภายในอดทนป้องกันมิให้ธาตุไฟแตกนั้นทำให้บางคนถึงกับมีเหงื่อกาฬเม็ดใหญ่ๆ ผุดขึ้นมาตามใบหน้าและร่างกาย วันพักผ่อนสบายๆ กลับกลายคล้ายเป็นอเวจีขึ้นมาทันตาเห็น หากเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน..........จริงไหมครับ ?
ในคราวนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จึงตัดสินใจว่า เราจะพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับโรค “ท้องเสีย” กันสักหน่อย เพื่อให้ทุกๆ ท่านมีข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ใช้ดูแลป้องกันการเกิดโรคท้องเสีย รวมถึงสามารถปฐมพยาบาลตนเองและคนรอบข้างได้ในยามจำเป็น และทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของทุกๆ ท่านกลายเป็นวันอันแสนโสภาโดยไม่ต้องไปลงเอยด้วยการหมดแรงอย่างน่าอเนจอนาถในห้องสุขา..........นะเออ..........
โรคท้องเสีย คือ อะไร ?
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของคำว่า “โรคท้องเสีย” หรือ “โรคท้องร่วง” ไว้ว่าคือ การถ่ายเหลว (มีปริมาณน้ำผสมอยู่กับเนื้ออุจจาระมากกว่าปกติ) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้ง หรือถ่ายมีมูกเลือดปน 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 24 ชม. (ธรรมดาในเด็กเล็กอาจมีการถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้ง/วันอยู่แล้วโดยไม่ถือว่าเป็นโรคท้องเสีย แต่การจะบอกได้ว่าเด็กเล็กท้องเสียหรือไม่นั้นต้องสังเกตว่าเด็กมีการถ่ายบ่อยกว่าที่เคยและมีปริมาณน้ำปนมากกว่าปกติหรือไม่ ยกเว้นกรณีที่เด็กถ่ายเป็นน้ำใสๆ หรือถ่ายมีมูกปนเพียงแค่ครั้งเดียวก็ถือว่าท้องเสียได้เลยครับ) ซึ่งโรคท้องเสียนี้จะทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกไปจากร่างกายเป็นปริมาณมาก หากอาการรุนแรงก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อคจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุและการป้องกันโรคท้องเสีย
สาเหตุของโรคท้องเสียนั้นมีมากมายหลายอย่างทั้งจากการใช้ยาบางชนิด (เช่น colchicine , magnesium containing antacids , lactulose เป็นต้น) , การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว (เฉพาะในผู้ซึ่งมีพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ lactase) , การได้รับสารพิษบางอย่าง (เช่น organophosphate , mercury , arsenic , cadmium เป็นต้น) , ฯลฯ แต่สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องเสียที่เราพบนั้น ได้แก่ การรับประทานอาหาร/น้ำดื่มที่มีเชื้อก่อโรคปนเปื้อนเข้าไป และอาหารเป็นพิษ (อาหารเป็นพิษ : มีสารพิษซึ่งเชื้อโรคสร้างขึ้นตกค้างอยู่ภายในอาหารถึงแม้ว่าอาหารนั้นๆ จะผ่านการอุ่นร้อนก่อนรับประทานจนเชื้อโรคที่อยู่ในอาหารตายไปหมดแล้วก็ตาม)
หลักในการป้องกันโรคท้องเสียก็คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียนั่นเอง (เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องเสีย คือ การรับประทานอาหาร/น้ำดื่มที่มีเชื้อก่อโรคปนเปื้อนเข้าไปและอาหารเป็นพิษ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำมากที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคท้องเสียก็คือ การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างเก่า/อาหารซึ่งเราไม่มั่นใจในความสะอาด/อาหารสุกๆ ดิบๆ , ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และใช้ภาชนะที่มั่นใจว่าสะอาดจริงๆ ในการใส่อาหาร)
เมื่อท้องเสียควรทำอย่างไร ?
ชีวิตคนเราเกิดมาสักครั้งหนึ่งคงยากที่จะไม่เคยเป็นโรคท้องเสีย แม้ว่าจะได้ระมัดระวังป้องกันตนเองอย่างดีแล้วแต่ลำไส้ใหญ่ก็อาจเกิดอาการปรู๊ดปร๊าด.....จู๊ดจ๊าดขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ประตู(ทวาร)หนักรั่วแบบไม่ตั้งใจ หากปล่อยไว้ร่างกายก็อาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากจนถึงขั้นต้องย้ายพบจบชีพไปเกิดใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อท้องเสียแล้วไซร้ควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. เนื่องจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่เป็นสาเหตุหลักของการลาโลก(เสียชีวิต)ในผู้ป่วยโรคท้องเสีย เพราะฉะนั้นการให้สารน้ำและเกลือแร่เข้าไปทดแทนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากผู้ป่วยไม่มีอาการคลื่นไส้ – อาเจียนจนไม่สามารถดื่มน้ำได้แนะนำให้ซื้อผงเกลือแร่มาผสมน้ำดื่ม โดยการถ่ายเหลว 1 – 2 ครั้ง จะต้องดื่มผงเกลือแร่ผสมน้ำ 1 ซอง (ปกติจะใช้ผงเกลือแร่ 1 ซอง ผสมกับน้ำดื่มสะอาด 250 cc. ทั้งนี้อัตราส่วนการผสมอาจเปลี่ยนแปลงไปนอกเหนือจากนี้ได้ขึ้นอยู่กับว่าเลือกใช้ผงเกลือแร่ของบริษัทใด แนะนำให้อ่านฉลากบนซองผงเกลือแร่ว่าต้องผสมในอัตราส่วนเท่าใดก่อนใช้ด้วยครับ) ทั้งนี้อัตราส่วนการดื่มน้ำเกลือแร่ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ขึ้นอยู่กับอัตราการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกายจากการถ่ายอุจจาระ (เช่น หากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกายมากจนปากแห้ง , หนังเหี่ยว , ชีพจรเต้นเร็วเกิน 100 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยอาจต้องดื่มน้ำเกลือแร่ปริมาณ 250 cc. ทุกๆ ครั้งที่มีการถ่ายเลยก็เป็นได้) ถ้าไม่สามารถหาผงเกลือแร่ได้แนะนำให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะและเกลือป่น ½ ช้อนชาผสมน้ำสะอาด 1 ลิตรทำเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่แทน
กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนไม่สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ได้/หรือดื่มได้น้อย แนะนำให้พาผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลในละแวกใกล้เคียงเนื่องจากผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับสารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำ กรณีผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กแนะนำให้ส่งพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงของสภาวะการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ พร้อมทั้งรอรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
2. หากมีไข้โดยปกติจะนึกถึงโรคท้องเสียจากการติดเชื้อมากกว่าสาเหตุอื่นๆ แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยหาซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง เนื่องจากเชื้อก่อโรคท้องเสียนั้นมีมากมายหลากหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดก็จะรับกับยาปฏิชีวนะแตกต่างกันไป [ถึงแม้ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะเรียก “ยาปฏิชีวนะ/ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotic)” ว่า “ยาแก้อักเสบ” แต่โดยปกติแพทย์จะไม่เรียกกลุ่มยาเหล่านี้ว่า “ยาแก้อักเสบ” เนื่องจากเป็นการแปลความหมายที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดความสับสนกับ “ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs)” ซึ่งเป็นยาคนละกลุ่มกับ “ยาปฏิชีวนะ/ยาฆ่าเชื้อ” ได้ครับ] นอกจากนี้อาการไข้ร่วมกับถ่ายเหลวบ่อยอาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคท้องเสียก็ได้ (เช่น ไส้ติ่งอักเสบ , ไข้รากสาดน้อย เป็นต้น) เพราะฉะนั้นหากมีอาการไข้ร่วมกับอาการถ่ายเหลวบ่อยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมจะดีกว่า
3. ผู้ป่วยซึ่งสงสัยท้องเสียจากการติดเชื้อหรืออาหารเป็นพิษไม่แนะนำให้ซื้อยาหยุดถ่ายในกลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น (Opiate derivative เช่น loperamide , diphenoxylate เป็นต้น) หรือยาที่ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ (Antispasmodic เช่น buscopan) รับประทานเอง เพราะยาดังกล่าวจะทำให้ลำไส้มีการบีบตัวลดลง ส่งผลให้เชื้อโรคและสารพิษต่างๆ ตกค้างอยู่ในทางเดินอาหารได้นานขึ้น (ผู้ป่วยจะหายช้าลงไปอีก) และหากผู้ป่วยติดเชื้อ “แบคทีเรียที่มีความสามารถในการทำลายผนังเยื่อบุลำไส้” อาจทำให้เชื้อดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อลำไส้ได้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่ลำไส้เป็นพิษโป่งพอง (Toxic megacolon) และต้องผ่าตัดเอาลำไส้ซึ่งติดเชื้อทิ้งไปในท้ายที่สุด
4. ในช่วงท้องเสียควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย (เช่น ข้าวต้ม , โจ๊ก) และไม่ควรงดการรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายขาดพลังงานรวมถึงขาดสารอาหารต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการซ่อมแซมตนเองด้วย หากผู้ป่วยรับประทานอาหารได้แค่ทีละน้อย แนะนำว่าให้แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อแทน
5. หากผู้ป่วยต้องการดื่มน้ำผลไม้แทนน้ำเกลือแร่ แนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้บรรจุกล่องที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 40 % เนื่องจากการดื่มน้ำผลไม้ที่มีความเข้มข้นสูงเกินไปอาจส่งผลให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้คั้นสด เพราะน้ำผลไม้คั้นสดจากบางแหล่งจะมีเชื้อก่อโรคท้องเสียปะปนอยู่ด้วย (โดยเฉพาะน้ำส้มคั้นสดนั้น เรามักจะพบบ่อยๆ ว่ามีเชื้อก่อโรคท้องเสียติดอยู่บนผิวเปลือกส้ม เมื่อนำส้มมาคั้นน้ำโดยไม่มีการล้างทำความสะอาดเปลือกส้มอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เชื้อโรคจากผิวเปลือกส้มปนเปื้อนลงไปในน้ำส้มได้)
ข้อควรระวัง !
หากมีอาการถ่ายเหลวเป็นสีดำลักษณะเหนียวๆ คล้ายยางมะตอย ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก (ไม่ใช่โรคท้องเสีย !!) แนะนำให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที (ผู้ป่วยเลือดออกในกระเพาะอาหารอาจมีอาการอาเจียนเป็นกากสีคล้ายๆ กาแฟร่วมกับอาการถ่ายเหลวสีดำคล้ายยางมะตอยได้ด้วยครับ)
จากคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หากผู้ป่วยท้องเสียยังสามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้ การให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากร่างกาย คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด ปลอดภัยที่สุด และพึงกระทำมากที่สุด หลังจากนั้นหากผู้ป่วยค่อยๆ ถ่ายห่างขึ้น มีปริมาณอุจจาระลดลง ปัสสาวะออกตามปกติ รู้สึกสดชื่นขึ้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาใดๆ เพิ่มเติมอีก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้ร่วมกับท้องเสีย , มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก , ปวดท้องมาก , ความถี่ในการถ่ายและปริมาณของอุจจาระไม่ลดลงภายหลังจากที่ได้ดื่มน้ำเกลือแร่ไประยะหนึ่งแล้ว , มีอาการถ่ายดำเหลวลักษณะเหนียวๆ คล้ายยางมะตอย หรือมีอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ การนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด..........ยังไงถ้าต้องเดินทางไปท่องเที่ยวไกลๆ ก็อย่าลืมพกผงเกลือแร่ติดกระเป๋าไว้ให้อุ่นใจด้วยนะครับ
ขอขอบคุณ : ข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการจากหนังสือ “Short Note in Medicine” ของภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ “BangkokHealth.com” เว็บไซต์ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพฯ
|