ไข้เลือดออก
ช่วงฤดูฝนนี้ใครซึ่งมีลูกมีหลานตั้งแต่วัยเด็กเล็กไปจนกระทั่งถึงวัยรุ่นหนุ่มสาวอาจจะต้องให้ความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพของพวกเขาเหล่านั้นมากขึ้นสักหน่อย เพราะในฤดูนี้นอกจากใครต่อใครหลาย ๆ คนจะพากันป่วยด้วยอาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจกันโดยถ้วนหน้าแล้ว โรคที่มาพร้อม ๆกับสัตว์บางชนิดซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงฤดูฝนก็อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุตรหลานของท่านจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว
“ไข้เลือดออก” (Dengue Hemorrhagic Fever : DHF) เป็นโรคซึ่งมีการระบาดแปรผันตามฤดูกาลโดยจะพบความชุกสูงที่สุดในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม (สามารถเกิดการติดเชื้อไข้เลือดออกและป่วยในช่วงฤดูอื่น ๆซึ่งไม่ใช่ฤดูฝนก็ได้ แต่จะพบความชุกน้อยกว่า) เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงลายบ้านจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่ายุงลายสวนหลายเท่า เมื่อคนถูกยุงลายซึ่งมีเชื้อไวรัสเดงกี่กัด เชื้อไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวในร่างกายของคนประมาณ 3 – 15 วันก่อนจะก่อให้เกิดอาการของโรค ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี รองลงมาได้แก่กลุ่มอายุ 10 – 14 ปี (แต่ก็สามารถเกิดโรคในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี หรืออายุมากกว่า 14 ปีได้ เพียงแต่ความชุกจะน้อยกว่า)
ผู้ซึ่งได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าสู่ร่างกายนั้นอาจจะไม่มีอาการเจ็บป่วยผิดปกติใด ๆเกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่หากมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นก็จะแสดงลักษณะของอาการได้ 3 รูปแบบ คือ
1. ไข้ที่ไม่สามารถแยกประเภทได้ (Undifferentiated fever : UF) หรือ viral syndrome มักพบในทารกและเด็กเล็กซึ่งจะปรากฏเพียงอาการไข้และบางครั้งมีผื่นนูนแดงเล็ก ๆ (maculopapular rash) กระจายทั่วไปตามร่างกาย แยกยากจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ
2. ไข้เดงกี่ (Dengue Fever : DF) มักเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ผู้ป่วย Classic DF จะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน หน้าแดง อาจมีคอแดงได้แต่มักจะไม่มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก จุกท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร และมีผื่น บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง tourniquet test ให้ผลบวก (tourniquet test คือ การทดสอบความสามารถของหลอดเลือดในการยอมให้ของเหลวซึมผ่านโดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตรัดแขน ขออนุญาตไม่กล่าวถึงวิธีการทดสอบ tourniquet อย่างละเอียดไว้ ณ ที่นี้ เนื่องจากการทดสอบและแปลผลเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ครับ) ตรวจเลือดอาจพบเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ (เม็ดเลือดขาวอาจจะต่ำกว่า 5,000
เซลล์/ลบ.มม.ได้ แต่เกล็ดเลือดจะไม่ต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ลบ.มม.ในผู้ป่วยไข้เดงกี่)
3. ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever : DHF) อาการส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับอาการของไข้เดงกี่ (สังเกตตัวหนาในหัวข้อ 2. ไข้เดงกี่ ด้านบนครับ) อาจตรวจพบตับโตและกดเจ็บได้ มีการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิต หรือมีภาวะช็อก สำหรับคำนิยามของผู้ป่วยไข้เลือดออก (DHF) คือ ผู้ป่วยซึ่งมีอาการ ,อาการแสดง และสิ่งตรวจพบทางห้องปฏิบัติการดัง 4 ข้อต่อไปนี้
- ไข้ขึ้นแบบเฉียบพลันและสูงลอยอยู่ประมาณ 2 – 7 วัน (ไข้มักจะสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส)
- Tourniquet test ให้ผลบวก และ/หรือ มีอาการเลือดออกผิดปกติอื่น ๆ เช่น เลือดกำเดาออก ,
เลือดออกตามไรฟัน ,อาเจียนเป็นเลือด (ลักษณะการอาเจียนเป็นเลือดนั้น อาจอาเจียนออกมาเป็นเกล็ด ๆสีน้ำตาลเข้มคล้ายสีกาแฟ หรือเป็นเลือดสีแดงสดก็ได้) ,ถ่ายเป็นเลือด ,ฯลฯ
- เกล็ดเลือด < 100,000 เซลล์/ลบ.มม.
- ความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) เพิ่มขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับความเข้มข้นเลือดเดิม หรือมีหลักฐานการรั่วของน้ำเลือด (Plasma) เช่น มีน้ำรั่วออกมาในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) ,มีน้ำรั่วออกมาภายในช่องท้อง (ascites) หรือมีระดับโปรตีน/อัลบูมินในเลือดต่ำ
ในช่วงที่ไข้เริ่มลดลงจะเป็นช่วงเวลาซึ่งอันตรายที่สุดในผู้ป่วยไข้เลือดออก เนื่องจากจะมีการรั่วของน้ำเลือดออกจากหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยบางรายซึ่งมีน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือดในปริมาณมากอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกได้ เรียกว่า “ไข้เลือดออกเดงกี่ที่ช็อก (Dengue shock syndrome : DSS)” สามารถเจอสิ่งตรวจพบต่าง ๆ ตามคำนิยามของไข้เลือดออก (DHF) ข้างต้นร่วมกับอาการ ,อาการแสดง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
-ชีพจรเบา เร็ว ปัสสาวะน้อยลง
-เหงื่อออก มือ/เท้าเย็น ชื้น กระสับกระส่าย ตัวเป็นลาย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
-มีการเปลี่ยนแปลงในระดับความดันโลหิต โดยจะตรวจพบช่วงระหว่างความดันโลหิตในขณะหัวใจบีบตัว (SBP) และความดันโลหิตในขณะหัวใจคลายตัว (DBP) แคบลงกว่าปกติ (เรียกช่วงระหว่างความดันโลหิตทั้งสองตัวนี้ว่า pulse pressure) คือ แคบน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 มม.ปรอท เช่น 100/80 ,90/70 มม.ปรอท หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของช่วงอายุนั้น ๆ (Hypotension)
- มีอัตราการไหลคืนกลับของเลือดเข้าสู่หลอดเลือดส่วนปลายช้ากว่าปกติ คือ นานเกินกว่า 2 วินาที (poor capillary refill)
ผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่ที่ช็อก (DSS) หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีจะเสียชีวิตภายในระยะเวลาประมาณ 12 – 24 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่จะไม่มีอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเป็น DSS และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามพ่อ แม่ ผู้ปกครองควรมีความรู้เบื้องต้นในการสังเกตอาการและให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างง่าย ๆ ที่บ้านตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. เช็ดตัวลดไข้ โดยใช้น้ำธรรมดาหรือใช้น้ำอุ่น ไม่ควรใช้น้ำเย็นเพราะจะทำให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังหดตัวทำให้การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นได้ การเช็ดตัวไม่ควรถูตัวไปมาบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังมากขึ้นได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาด ๆ ลูบเบา ๆไปในทิศทางเดียวกันแล้ววางไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ซอกรักแร้ แผ่นอก แผ่นหลัง (บริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ทอดผ่าน) ใช้เวลาในการเช็ดตัวแต่ละครั้งประมาณ 10 – 15 นาที และเช็ดตัวซ้ำเป็นระยะ ๆเมื่อไข้ขึ้น
2. ให้ยาลดไข้ ให้ยาลดไข้ Paracetamol ในรายที่เด็กเคยมีประวัติชักจากไข้ หรือภายหลังจากเช็ดตัวลดไข้แล้วอุณหภูมิยังสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส โดยคำนวณตามน้ำหนักตัว (ให้ยา 10 – 15 มก./กก./ครั้ง ห้ามให้ยาถี่มากกว่าทุก 4 ชม.เนื่องจากการให้ยา Paracetamol เกินขนาดจะเป็นพิษต่อตับได้) หรืออาจใช้วิธีคำนวณปริมาณยาคราว ๆ ตามน้ำหนักมาตรฐานของเด็กในช่วงอายุนั้น ๆ ดั
- อายุต่ำกว่า 6 เดือน ให้ 1 มล. - อายุระหว่าง 6 เดือน – 1 ปี ให้ ½ ช้อนชา
- อายุระหว่าง 1 ปี – 5 ปี ให้ 1 ช้อนชา - อายุมากกว่า 5 ปี ให้ 1½ – 2 ช้อนชา หรือ ½ เม็ด
หมายเหตุ ขนาดยาตามเกณฑ์อายุข้างต้นดังกล่าวนี้ อ้างอิงจากยาลดไข้ชนิดน้ำเชื่อม (Paracetamol syrup) ขนาด 120 มก./ช้อนชา (1 ช้อนชา = 5 มล.) และยาลดไข้ชนิดเม็ด (Paracetamol tablet) ขนาด 500 มก./เม็ด กรณีไม่มั่นใจว่าควรใช้ยาขนาดเท่าใด จำเป็นต้องปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ หรือเภสัชกรอีกครั้ง เนื่องจากการให้ยาผิดขนาดอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีครับ ห้ามให้ยาลดไข้ชนิดอื่น ๆ เช่น Aspirin หรือ ยากลุ่ม NSAIDs โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้มีเลือดออกมาก มีอาการทางสมอง หรือตับวายได้
3. ให้รับประทานอาหารอ่อน ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ให้เพียงพอ อาหารที่รับประทานควรย่อยและดูดซึมได้ง่าย รสไม่จัด เช่นโจ๊ก ,ข้าวต้ม ,นมถั่วเหลือง เพื่อลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารและสารน้ำซึ่งมีสีแดง ดำ หรือน้ำตาล เนื่องจากอาจทำให้มีปัญหาในการประเมินผู้ป่วยซึ่งอาเจียน/ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดได้ การให้ดื่มน้ำเกลือแร่และน้ำผลไม้อย่างเพียงพอจะช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายไม่ให้สูงมากจนเกินไป ป้องกันภาวะสมดุลเกลือแร่ในร่างกายไม่ให้ผิดปกติ และลดโอกาสช็อกจากการขาดสารน้ำได้ การประเมินว่าผู้ป่วยได้รับสารน้ำเพียงพอหรือไม่ ให้สังเกตว่าผู้ป่วยไม่มีอาการ ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง กระหม่อมบุ๋ม หรือปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ควรหลีกเลี่ยงการให้ดื่มน้ำอัดลมเนื่องจากอาจทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียวเพราะจะทำให้ภาวะสมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติได้
4. สังเกตอาการที่จำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวต่อไปนี้ ควรรีบพาผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลทันที คือ
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ - ปวดท้องมาก
- คลื่นไส้/อาเจียนมากจนไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำได้
- กระสับกระส่าย โวยวาย - ซืมมาก
- ผิวหนังเย็นชื้น เหงื่อออก ชีพจรเร็ว ตัวเป็นลาย - ปัสสาวะออกน้อยลง
- อาการเลวลงเมื่อไข้เริ่มลดลง
- มีเลือดออก (ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใดก็ตาม) เช่น เลือดออกตามไรฟัน ,เลือดกำเดาไหล ,อาเจียนเป็นเลือด (อาจอาเจียนเป็นเลือดสีแดงสด หรือเป็นเลือดสีดำ/น้ำตาลเข้มคล้ายสีกาแฟ ลักษณะเป็นลิ่ม ๆซึ่งเกิดจากการที่เลือดสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารแล้วเปลี่ยนสีไปก็ได้) ,ถ่ายเป็นเลือด (อาจถ่ายเป็นเลือดสีแดงสด หรือเป็นมูกสีดำเหนียวคล้ายยางมะตอยก็ได้) ในผู้ป่วยวัยรุ่นหญิงบางรายอาจมีประจำเดือนมาเร็ว/มากกว่าปกติได้
สำหรับผู้ป่วยซึ่งมีอาการสงสัยว่าจะเป็นไข้เดงกี่/ไข้เลือดออกโดยไม่ได้มีอาการเข้าเกณฑ์ที่จำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีดังเช่นในข้อ 4. ข้างต้น แนะนำให้ไปตรวจคัดกรองว่าจะเป็นโรคไข้เดงกี่/ไข้เลือดออกหรือไม่ ภายหลังจากเริ่มมีอาการไข้ไปแล้วประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง เนื่องจากการตรวจคัดกรองไข้เดงกี่/ไข้เลือดออกภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงแรกนั้น tourniquet test อาจจะยังให้ผลลบอยู่และการเจาะเลือดก็อาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่จำเพาะต่อโรคใด ๆ ทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาด หรือคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตามหากไปตรวจคัดกรองโรคแล้วไม่พบอาการแสดง หรือผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งเข้ากันได้กับโรค
ไข้เดงกี่/ไข้เลือดออก แต่ผู้ป่วยยังมีอาการชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคอยู่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือญาติของผู้ป่วย ควรจะพาผู้ป่วยไปเข้ารับการตรวจประเมินซ้ำอีกครั้งหนึ่งภายในระยะเวลา 24 – 48 ชั่วโมงถัดไป
ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะช็อกและไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หลังจากที่ไข้ลดลงและได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายใน 2 – 3 วัน โดยเฉลี่ยระยะเวลาป่วยของผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะอยู่ที่ประมาณ 7 – 10 วัน การป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้นเป็นสิ่งที่ทุก ๆคนควรมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด และการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัย เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเอง บุตร หลาน ญาติพี่น้องป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว คุณยังสามารถช่วยลดอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกภายในชุมชนลงอีกด้วย เรามาลองดูวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกซึ่งมีอยู่หลากหลายแล้วเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละครอบครัวของทุก ๆคนกัน
1. การควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย แบ่งออกเป็นวิธีทางกายภาพ วิธีทางชีวภาพ และวิธีทางเคมีภาพ
วิธีทางกายภาพ ได้แก่
- ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยวัสดุใด ๆ ที่สามารถปิดปากภาชนะนั้นได้อย่างมิดชิดจนยุงลายไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้ เช่น ผ้า ,ตาข่ายไนล่อน ,ฝาอลูมิเนียม เป็นต้น
- หมั่นเปลี่ยนน้ำในภาชนะเก็บน้ำทุก 7 วัน วิธีนี้เหมาะสำหรับภาชนะเล็ก ๆ ที่เก็บน้ำไม่มาก เช่น แจกัน
- เติมน้ำเดือดจัดลงในภาชนะเก็บน้ำทุก 7 วัน วิธีนี้ใช้ได้กับถ้วยหล่อขาตู้กับข้าวกันมด
- ใช้กระชอนช้อนลูกน้ำทิ้ง เพื่อลดจำนวนลูกน้ำยุงลายในภาชนะกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น โอ่งน้ำ ,บ่อซีเมนต์เก็บน้ำในห้องน้ำห้องส้วม หรืออาจใช้ขันตักลูกน้ำแล้วนำมาล้างทำความสะอาดส้วมก็ได้
- เก็บทำลายเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขัง เช่น กระป๋อง ,ขวด ,ยางรถยนต์
- กลบถมแอ่ง หรือบ่อน้ำขังภายในบริเวณบ้าน
วิธีทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตหลายชนิดเป็นศัตรูโดยธรรมชาติของลูกน้ำยุงลาย การนำสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลายได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพดีในหลาย ๆพื้นที่ นอกจากการนำสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของยุงลายมาใช้แล้ว การศึกษาและป้องกันไม่ให้ศัตรูตามธรรมชาติของยุงลายเหล่านั้นถูกทำลายไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่น จากการใช้สารเคมีที่ไม่เหมาะสม) ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของยุงลาย ได้แก่
- ปลากินลูกน้ำ ในประเทศไทยมีปลาหลายชนิดที่กินลูกน้ำยุงเป็นอาหาร เช่น ปลาหางนกยูง ,ปลากัด ,ปลาสอด ,ปลาหัวตะกั่ว ,ปลาตะเพียน ,ปลาแกมบูเซีย ,ฯลฯ การนำปลาเหล่านี้ใส่ลงในภาชนะเก็บกักน้ำสามารถช่วยควบคุมและลดปริมาณลูกน้ำยุงลายได้
- ไรน้ำจืด (cyclopoid copepods) - ตัวอ่อนแมลงปอ
- ด้วงดิ่ง มวนวน มวนกรรเชียง - ไส้เดือนฝอย
- ลูกน้ำยุงยักษ์ ยุงยักษ์เป็นยุงขนาดใหญ่ยาวประมาณ 2 ซม.มีสีสันสดใส เกล็ดเป็นมันวาว ปากโค้งงอจึงดูดเลือดคนกินไม่ได้ แต่ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในเขตเมืองได้เนื่องจากขาดแหล่งอาหาร
- แบคทีเรีย ,โปรโตซัว หรือ เชื้อราบางชนิดสามารถใช้ควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลายได้
ในจำนวนศัตรูธรรมชาติทั้งหมดนี้การใช้ปลากินลูกน้ำเป็นวิธีที่ได้ผลดี สะดวก และประหยัดที่สุด
วิธีทางเคมีภาพ ได้แก่
- การใช้ทรายกำจัดลูกน้ำ เป็นทรายเคลือบสารเคมีในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต อัตราส่วนที่แนะนำให้ใช้คือ ทรายกำจัดลูกน้ำชนิด 1% จำนวน 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ทรายกำจัดลูกน้ำคุณภาพดีควรออกฤทธิ์ควบคุมลูกน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในภาชนะเก็บน้ำถาวร (เช่น โอ่งเก็บน้ำในฤดูฝนสำหรับเปิดใช้ในฤดูแล้ง) และออกฤทธิ์ควบคุมลูกน้ำในภาชนะที่มีการใช้น้ำหมุนเวียนได้นานไม่ต่ำกว่า 1½ เดือน (เช่น ตุ่มน้ำสำหรับใช้อาบหรือซักล้างประจำวัน) ทั้งนี้ให้สังเกตจนกว่าจะพบลูกน้ำรอดชีวิตจึงนำเอาทรายเดิมออกแล้วเติมทรายใหม่ลงไป (หากใช้วิธีห่อทรายเอาไว้ในผ้าขาวบาง ,ผ้ามุ้ง หรือผ้าโปร่งชนิดอื่น ๆ จะทำให้สามารถเปลี่ยนทรายกำจัดลูกน้ำได้สะดวกยิ่งขึ้น)
- ใส่เกลือแกง ½ ช้อนชา หรือผงซักฟอก ½ ช้อนชา หรือน้ำส้มสายชู 2 ช้อนชา ลงในจานน้ำรองขาตู้กันมด จะสามารถป้องกันยุงลายไม่ให้มาวางไข่ได้นานประมาณ 7 – 22 วัน
2. การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด การป้องกันตนเองและผู้ใกล้ชิดไม่ให้ถูกยุงลายกัดอาจทำได้ดังนี้
- นอนในมุ้ง
- สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และเสื้อผ้าที่สวมใส่นั้นควรเลือกใช้สีอ่อน ๆ
- ใช้สารไล่ยุง ซึ่งมีให้เลือกใช้ทั้งชนิดขด ,ชนิดแผ่น ,ชนิดน้ำที่ต้องใช้ความร้อนช่วยในการระเหยสารออกฤทธิ์ ,สารไล่ยุงชนิดทาผิว ,ฯลฯ
- กรุหน้าต่างประตูและช่องลมด้วยมุ้งลวด
- ตรวจตราซ่อมแซมฝาบ้าน ฝ้าเพดาน อย่าให้มีร่อง ช่องโหว่ หรือรอยแตก
3. การกำจัดยุงลาย ทำได้โดย
- ใช้สารเคมี ปัจจุบันสารเคมีกำจัดยุงมีทั้งสูตรน้ำมัน (oil based) และสูตรน้ำ (water based) ซึ่งชนิดสูตรน้ำจะปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมมากกว่า รวมทั้งไม่ทำให้เครื่องเรือนและสิ่งของต่าง ๆเปรอะเปื้อน เหนียวเหนอะหนะอีกด้วย
- การใช้อุปกรณ์กำจัดยุง มีทั้งแบบกับดักไฟฟ้าซึ่งใช้ไฟบ้าน 220 โวลต์ ปล่อยแสงล่อให้ยุงบินเข้าไปชนกับดักจนถูกไฟฟ้าช็อตตายไป หรืออาจเลือกใช้อุปกรณ์กำจัดยุงไฟฟ้าแบบใช้ถ่านไฟฉาย รูปร่างคล้ายไม้เทนนิสโบกซี่ลวดให้ถูกตัวยุงเพื่อให้ไฟช็อตก็ได้
หลังจากที่ได้อ่านกันมาถึงตรงนี้ พวกเราทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ก็หวังว่า ทุก ๆ ท่านจะสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกไปใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ดูแล ให้การพยาบาลตนเอง หรือบุคคลที่ท่านรักให้พ้นจากภยันอันตรายของโรคไข้เลือดออกได้ไม่มากก็น้อยนะครับ.....สุดท้ายนี้ขอให้มีความสุขสนุกกับการท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนครับ
ขอขอบคุณ : ข้อมูลทางวิชาการจากสำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข
|