เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ.เมือง จ.สตูล
(ดูภาพด้านล่าง)
เมื่อครั้งอดีต “เกาะตะรุเตา” เคยเป็นที่รู้จักกันในฐานะของ “คุกนรก” และแหล่งซ่องสุมของ “โจรสลัดตะรุเตา” ผู้ดุร้ายโหดเหี้ยม แต่ปัจจุบันเกาะแห่งนี้รวมถึงเกาะอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ความอุดมสมบูรณ์และความงดงามของสภาพธรรมชาติต่างๆ โดยรอบเขตพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ.เมือง จ.สตูล” นั้นถึงกับทำให้นักท่องเที่ยวบางคนขนานนามหมู่เกาะแห่งนี้ว่าเป็น “มัลดีฟส์ (Maldives) แห่งเมืองไทย” เลยทีเดียว
|
...................................เรือน้อยลอยลำ ในลำคลอง...................................
(ถ่ายภาพบริเวณ "ท่าเทียบเรือปากคลองพันเตมะละกา" ประตูสู่ "เกาะตะรุเตา")
|
“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายูซึ่งมีความหมายว่า “มีอ่าวมาก” เกาะตะรุเตาและเกาะอื่นๆ ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงรวมทั้งหมด 51 เกาะได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ของประเทศไทย ประกอบไปด้วยเกาะขนาดใหญ่ซึ่งมีความสำคัญและเป็นที่รู้จักอยู่หลายเกาะ อาทิเช่น เกาะตะรุเตา , เกาะไข่ , เกาะอาดัง , เกาะราวี , เกาะหลีเป๊ะ เป็นต้น ในครั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะขออาสาพาท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านไปทำความรู้จักกับเกาะสำคัญๆ แต่ละแห่งกันแบบเจาะลึก โดยเริ่มต้นจากข้อมูลประวัติความเป็นมารวมถึงข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นรอบๆ “เกาะตะรุเตา” ก่อนเป็นลำดับแรก
|
ท่าเทียบเรือ "ปากคลองพันเตมะละกา" ในวันฟ้าใส
|
|
ใครจะขึ้น "เกาะตะรุเตา" เขาก็ต้องมาที่นี่กันทั้งนั้นแหละ
|
คุกนรกเกาะตะรุเตา
บริเวณ “หมู่เกาะตะรุเตา – ลังกาวี (หมู่เกาะลังกาวีอยู่ในเขตประเทศมาเลเซียครับ)” เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะของเส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 เมื่อชาวฮินดูพวกแรกได้อพยพจากประเทศอินเดียผ่านทางประเทศพม่าและประเทศไทยไปยังประเทศอินโดนีเซีย ตามตำนานเก่าแก่ของชาวเรือเล่าขานกันว่า “เกาะตะรุเตา” มีอาถรรพ์ ผู้ใดซึ่งหาญกล้าเดินทางเข้าไปภายในป่าทึบสีเขียวชอุ่มที่มีอยู่อย่างหนาแน่นบนเกาะแห่งนี้จะไม่มีโอกาสได้กลับออกมาอีก และผู้ที่พักอาศัยอยู่ตามอ่าวต่างๆ ของเกาะตะรุเตาเป็นระยะเวลานานจะต้องตกเป็นเหยื่อของความหนาวเย็น การจับไข้ อาการเพ้อ หรือแม้กระทั่งความตาย
|
ดอกผักบุ้งทะเล , พระบรมราชานุสาวรีย์ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
, ศาลเจ้าพ่อตะรุเตา และ เปลือกหอยบริเวณลานหน้าอาคารนิทรรศการฯ
|
|
อาคารนิทรรศการ "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา"
อยู่ลึกเข้าไปจากชายหาดอ่าวพันเตมะละกาไม่เกิน 150 เมตร
|
เนื่องจากเกาะตะรุเตาเป็นเกาะซึ่งตั้งอยู่กลางท้องทะเลลึกห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ คลื่นลมในฤดูมรสุมรุนแรง อีกทั้งยังชุกชุมไปด้วยจระเข้และฉลาม เกาะแห่งนี้จึงได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลไทยให้ใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ รวมถึงนักโทษการเมืองต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณ “อ่าวตะโละอุดัง” และ “อ่าวตะโละวาว” เพื่อเตรียมการจัดทำเป็นทัณฑสถาน จวบจนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2481 นักโทษรุ่นแรกจึงได้ถูกส่งมายังเกาะแห่งนี้
|
สะพานท่าเทียบเรือ "อ่าวตะโละวาว เกาะตะรุเตา"
เปิดให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้เฉพาะในช่วงฤดูมรสุม
|
นักโทษภายในทัณฑสถานเกาะตะรุเตาจะถูกกักกันแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ทั่วไป” และ “กลุ่มนักโทษการเมือง” โดยกลุ่มนักโทษคดีอุกฉรรจ์ทั่วไปจะถูกใช้งานอย่างหนักและได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงหากกระทำผิดต่อข้อกำหนดต่างๆ ของทัณฑสถาน ส่วนกลุ่มนักโทษการเมืองนั้นจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพมากกว่ากลุ่มนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ทั่วไป เนื่องจากถือว่ากลุ่มนักโทษการเมืองเป็นกลุ่มนักโทษที่มีความรู้สูง
|
เรือนพักนักโทษ , รูปปั้นผู้คุม , เส้นทางเดิน และ ตึกแดง
|
|
....................ผืนป่าอาถรรพ์....................
|
การรักษาพยาบาลนักโทษที่เจ็บป่วยในทัณฑสถานเกาะตะรุเตานั้นไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่พยาบาลบางคนแสวงหาผลประโยชน์ขูดรีดเงินทองและทรัพย์สินจากนักโทษด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จะคัดชื่อออกจากโรงพยาบาลเพื่อให้ออกไปทำงานหนักหากผู้ป่วยไม่ยอมมอบทรัพย์สินให้ตามความต้องการ , เปลี่ยนเสื้อผ้าดีๆ ของนักโทษที่ป่วยมาเป็นของตน หรือในกรณีที่มีนักโทษเลี่ยมฟันทองเสียชีวิตก็จะถูกงัดปากและถอนฟันทองออกจนหมด บางครั้งผู้ป่วยยังไม่ทันสิ้นใจก็แย่งกันช่วงชิงเสื้อผ้าหรืองัดเอาฟันทองกันจนผู้ป่วยต้องตายไป นักโทษบางคนต้องการอยู่ในสภาพผู้ป่วยนานๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องออกไปทำงานหนักจึงไม่ยอมรักษาตนเองให้หาย คนที่เป็นแผลก็จะพยายามทำให้แผลเปื่อยขยายออกไปอีก
|
ประติมากรรมนักโทษหน้าโฉด กับ เรือนพักเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา
|
กลางปี พ.ศ. 2486 เกิดไข้มาลาเรียระบาดอย่างรุนแรงภายในทัณฑสถานเกาะตะรุเตา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เนื่องจากขาดแคลนแพทย์และยารักษาโรค ทำให้มีนักโทษตายจากไข้มาลาเรียไม่ต่ำกว่าวันละ 5 – 6 คน ปลายปี พ.ศ. 2486 มีจำนวนนักโทษล้มตายสะสมจากไข้มาลาเรียกว่า 700 คน เจ้าหน้าที่จะห่อศพนักโทษที่เสียชีวิตด้วยผ้าหรือเสื่อแล้วนำไปฝังยังป่าช้าพร้อมแทงจำหน่ายออกจากทะเบียนนักโทษโดยไม่ได้แจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตรับรู้
|
ตึกแดง , สะพานท่าเทียบเรือเก่า และ ซากรถเข็นวัสดุก่อสร้าง
|
|
ส่วนหนึ่งของความน่าพรั่นพรึงจากกาลก่อน
|
สภาพแวดล้อมอันโหดร้ายทารุณและเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายในทัณฑสถานเกาะตะรุเตานี่เองที่ทำให้ทัณฑสถานแห่งนี้ได้รับสมญานามอีกอย่างหนึ่งว่า “คุกนรกเกาะตะรุเตา”
ดินแดนแห่งโจรสลัด
จาก “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2484 – 2488 ทำให้การคมนาคมระหว่างเกาะตะรุเตาและแผ่นดินใหญ่ถูกตัดขาด เกิดปัญหาขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคภายในทัณฑสถานอย่างรุนแรง จวบจนต้นปี พ.ศ. 2487 พัศดี , ผู้คุม และนักโทษจึงได้ร่วมมือกันเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นผ่านไปมาระหว่างปีนัง , ลังกาวี , กันตัง และพม่า เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของตำนาน “โจรสลัดเกาะตะรุเตา”
|
ภายในอาคารนิทรรศการฯ อ่าวพันเตมะละกา จัดแสดงประวัติความเป็นมา
ภาพเขียน ภาพถ่าย และ บทบรรยายความรู้เกี่ยวต่าง ๆ เกี่ยวกับ "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา"
|
|
...............รอยรำลึกถึงดินแดนแห่งโจรสลัด...............
|
ในระยะแรกการปล้นสะดมของโจรสลัดเกาะตะรุเตาเป็นการปล้นที่ไม่ทำร้ายเจ้าทรัพย์ เพียงแต่บังคับให้เรือหยุด ใช้อาวุธข่มขู่ ต้อนลูกเรือมัดรวมกันในห้องใต้ท้องเรือ บังคับกัปตันเรือให้ถือท้ายเรือมุ่งหน้าไปยังจุดหมายที่โจรสลัดต้องการ แล้วจึงขนสินค้าซุกซ่อนไว้ตามเกาะเล็กเกาะน้อยต่างๆ จากนั้นจึงนำเรือไปปล่อยยังจุดที่สามารถหลบหนีได้อย่างปลอดภัย ต่อมาภายหลังมีผู้เข้าร่วมกลุ่มโจรสลัดเกาะตะรุเตามากขึ้นทำให้การปล้นสะดมแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เจ้าทรัพย์ถูกฆ่า เรือถูกทำลายด้วยการเจาะให้จมหรือเผาทิ้ง สร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ควบคุมเรือสินค้าที่จำเป็นต้องแล่นผ่านน่านน้ำรอบๆ บริเวณเกาะตะรุเตาเป็นอย่างยิ่ง การปล้นสะดมของโจรสลัดเกาะตะรุเตาในระยะหลังนี้มีการเตรียมการออกปล้นอย่างเปิดเผยบนเกาะ สินค้าที่ได้จากการปล้นมีการลำเลียงไปไว้ยังเรือนพัสดุของทัณฑสถาน ในบางครั้งถึงกับนำเรือสินค้าที่ปล้นได้เข้ามาจอดเทียบท่าบริเวณสะพานขึ้นเกาะ ถือเป็นการกระทำอันอุกอาจปราศจากความหวั่นเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างยิ่ง
|
น้ำทะเลที่ "เกาะตะรุเตา" แห่งนี้ก็ใสแทบไม่แพ้ที่ใดๆ ในประเทศไทยเลยนะ
|
การปล้นสะดมของโจรสลัดเกาะตะรุเตาส่งผลกระทบต่อสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปีนังอย่างหนัก ทำให้ข้าวสารขาดแคลน สินค้าอื่นๆ มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จนมีการร้องเรียนให้รัฐบาลจัดเรือยนต์ลาดตระเวน อนุญาตให้เรือสินค้าติดอาวุธ และขอสนับสนุนการจัดเรือยนต์เพื่อป้องกันเรือสินค้า ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทางรัฐบาลไทยตัดสินใจยินยอมให้ทหารอังกฤษจำนวน 300 นาย ยกพลขึ้นบกที่ “อ่าวตะโละวาว” เพื่อเข้าปราบปรามโจรสลัดบนเกาะตะรุเตาและสามารถดำเนินการได้สำเร็จ เป็นการปิดฉาก “ตำนานโจรสลัดแห่งเกาะตะรุเตา” อันน่าพรั่นพรึงลงในท้ายที่สุด
จากทัณฑสถาน.....สู่.....อุทยานแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2491 กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกการดำเนินการของทัณฑสถานเกาะตะรุเตา ส่งผลให้เกาะตะรุเตากลายเป็นเกาะร้าง เวลาต่อมามีประชาชนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาจับจองพื้นที่ทำกินบนเกาะและมีการตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างมาก ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 จึงได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เกาะตะรุเตา , เกาะอาดัง , เกาะราวี และเกาะเล็กๆ อื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงรวมถึงน่านน้ำโดยรอบบริเวณนี้เป็นเขต “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา”
|
..........อดีตอันโหดร้ายกลับกลายเป็นความงดงามเกินบรรยายในปัจจุบัน..........
|
|
อ่าวพันเตมะละกาที่ยาวไกลสุดสายตายามเพลากลางวัน
|
ในปี พ.ศ. 2525 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาได้รับการยกย่องจาก “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO : United Nations Educational Scientific and Cultural Organization)” ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)
มรดกแห่งท้องทะเลอันงดงาม
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อยมากถึง 51 เกาะ มีเนื้อที่รวมประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร สามารถจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 3 หมู่เกาะ คือ “หมู่เกาะตะรุเตา” , “หมู่เกาะอาดัง – ราวี” และ "หมู่เกาะดง" โดยในบริเวณ "หมู่เกาะอาดัง – ราวี" และ "หมู่เกาะดง" นั้นจะมีความใสของน้ำทะเลรวมถึงมีความสวยงามของแนวปะการังมากกว่า "หมู่เกาะตะรุเตา" นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงนิยมที่จะเดินทางไปพักค้างแรมบน “เกาะหลีเป๊ะ” หรือ “เกาะอาดัง” แล้วเช่าเหมาเรือ – ซื้อทัวร์ดำน้ำรอบๆ บริเวณหมู่เกาะในละแวกนั้นแทนที่จะเลือกพักค้างแรมบนเกาะตะรุเตา (“เกาะหลีเป๊ะ” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของหมู่เกาะอาดัง – ราวีครับ)
|
....................เมื่อสุริยาบอกลาผืนนภาลับลงสู่ห้วงมหาสมุทร....................
(ถ่ายภาพบริเวณ "ปากคลองพันเตมะละกา" และ "หน้าอ่าวพันเตมะละกา" เวลาเย็น)
|
|
บรรยากาศ "เกาะตะรุเตา" ในแสงสุดท้ายของวันเก่า
|
“เกาะตะรุเตา” เป็นเกาะซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา มีเนื้อที่ประมาณ 152 ตารางกิโลเมตร ด้วยสาเหตุที่ตัวเกาะตะรุเตามีขนาดใหญ่ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวเลือกพักค้างแรมบนเกาะแห่งนี้เป็นจำนวนน้อย จึงทำให้บรรยากาศโดยรวมของเกาะตะรุเตาค่อนข้างเงียบสงบและมีความเป็นส่วนตัวสูง นับได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในเสน่ห์ของความวิเวกวังเวงเป็นอย่างยิ่ง
โดยรอบบริเวณเกาะตะรุเตามีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจสำคัญๆ หลากหลายแห่งดังต่อไปนี้
1.อ่าวตะโละวาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะตะรุเตา มีลักษณะเป็นหาดหินสลับกับป่าชายเลนไม่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ ด้านหน้าของอ่าวตะโละวาวมีสะพานท่าเทียบเรือซึ่งทอดยื่นยาวลงไปในท้องทะล สุดปลายสะพานท่าเทียบเรือด้านทิศเหนือมีภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางผืนน้ำกว้าง ทิวทัศน์ของสะพานท่าเทียบเรือและภูเขาหินปูนลูกนี้ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอ่าวตะโละวาว
|
"เกาะตะรุเตา" อดีตคุกนรก และ ดินแดนแห่งโจรสลัด
|
|
มุมมองแบบกว้างไกลสุดสายตา ณ สะพานท่าเทียบเรืออ่าวตะโละวาว
|
ในอดีตพื้นที่บริเวณอ่าวตะโละวาวเคยถูกใช้เป็นสถานกักกันนักโทษคดีอุกฉรรจ์ทั่วไป แต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้ให้กลายเป็นเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาที่ ตต.1 (อ่าวตะโละวาว) ด้วย
|
มาดูภาพถ่ายในมุมสูงๆ ของสะพานท่าเทียบเรือ "อ่าวตะโละวาว" กันบ้าง
|
เส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์ตะโละวาวมีความยาวโดยประมาณ 1 – 2 กม. ใช้เวลาในการเดินเท้าไป – กลับเฉลี่ย 1 – 2 ชม. (นับจากจุดตั้งต้นบริเวณสะพานท่าเทียบเรือ) มีสถานที่น่าสนใจต่างๆ บนเส้นทางกลากหลายแห่ง เช่น ตึกแดง , สุสาน 700 ศพ , เรือนนอนนักโทษ , ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังสะพานท่าเทียบเรืออ่าวตะโละวาวได้โดยการเหมารถของอุทยานฯ มาจากที่ทำการกลางบริเวณ “อ่าวพันเตมะละกา” (สะพานท่าเทียบเรือบริเวณอ่าวตะโละวาวไม่อนุญาตให้เรือนำเที่ยวเข้าเทียบท่า แต่จะใช้เป็นจุดจอดเทียบเรือของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาในช่วงฤดูมรสุมเท่านั้น กรณีที่นักท่องเที่ยวเลือกพักอยู่บริเวณอ่าวแห่งอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ “อ่าวพันเตมะละกา” สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของทางอุทยานฯ ให้วิทยุเรียกรถมารับบริเวณอ่าวนั้นๆ ได้ครับ)
|
....................หอยตัวน้อยๆ หลากชนิด....................
|
2.อ่าวพันเตมะละกา เป็นที่ตั้งของที่ทำการกลางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ ลักษณะหาดทรายสีขาวเนื้อเนียนละเอียดยาวประมาณ 1.5 กม. มีต้นสน , หูกวาง และ เตยทะเลขึ้นยืนต้นตระหง่านอยู่ตลอดแนวชายหาด อ่าวพันเตมะละกามีความลาดเอียงของพื้นทรายใต้ทะเลต่ำทำให้สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างค่อนข้างปลอดภัย น้ำทะเลด้านหน้าอ่าวเป็นสีฟ้าใสสวยงาม ในยามเย็นหากคุณมีอารมณ์โรแมนติกมากพอก็อาจจะมานั่งรอชมพระอาทิตย์ลาลับหายไปจากเส้นขอบฟ้าด้านหน้าอ่าวพันเตมะละกาแห่งนี้ก็ได้
|
ทิวทัศน์รอบๆ "อ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา" อ.เมือง จ.สตูล
|
|
กาลครั้งหนึ่ง ณ สถานที่ซึ่งฉันได้พบกับความสงบสุข
|
|
หาดทราย ต้นไม้ กับ ลวดลายแห่งท้องทะเล
|
“ผาโต๊ะบู” เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกในช่วงเวลาเย็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีความสวยงามแปลกแตกต่างไปจากการนั่งชมพระอาทิตย์ตกบริเวณด้านหน้าอ่าวพันเตมะละกา เนื่องจากผาโต๊ะบูเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 60 เมตร ณ จุดชมทิวทัศน์แห่งนี้นักท่องเที่ยวจะสามารถมองเห็นอ่าวพันเตมะละกาเบื้องล่างได้ตลอดแนวความยาวทั้งอ่าวรวมทั้งยังสามารถมองเห็น “คลองพันเตมะละกา” ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือได้อีกด้วย เส้นทางเดินขึ้นสู่ผาโต๊ะบูตั้งอยู่ด้านหลังที่ทำการกลางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ใช้เวลาในการเดินเท้าเพียงแค่ 15 – 20 นาทีก็สามารถขึ้นไปถึงศาลาชมทิวทัศน์บริเวณยอดผาได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยสักเท่าไหร่นัก
|
ขึ้น "ผาโต๊ะบู" เพื่อมาดู "อ่าวพันเตมะละกา - คลองพันเตมะละกา" ในมุมกว้าง
(ถ่ายภาพบนผาโต๊ะบูในยามเย็นขณะพระอาทิตย์ตกด้านหน้าอ่าวพันเตมะละกา)
|
|
เส้นทางสูงชัน..........ต้องเหน็ดเหนื่อยพอสมควรเหมือนกันกว่าจะมาถึง
|
บริเวณ “ปากคลองพันเตมะละกา” เป็นที่ตั้งของท่าเทียบเรือนำเที่ยว นักท่องเที่ยวทุกๆ คนซึ่งต้องการจะพักค้างแรมบนเกาะตะรุเตาจะถูกส่งขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือแห่งนี้ หากต้องการจะเช่าเหมาเรือไปดำน้ำตื้นรอบๆ เกาะตะรุเตา หรือจะเช่าเรือคายักพายไปยัง “ถ้ำจระเข้ ” ซึ่งตั้งอยู่สุดปลายคลองพันเตมะละกา ก็สามารถติดต่อได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของอุทยานฯ บริเวณท่าเทียบเรือได้
|
....................ช่วงเวลาอันน่าหลงใหล....................
|
|
.........................อารมณ์เปลี่ยว.........................
|
|
เฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์ตกจากหน้าปากคลองพันเตมะละกา กับ ยอดไม้บนผาโต๊ะบู
|
จากข้อมูลที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ได้ลองสอบถามกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำให้พวกเราได้ทราบว่า “ถ้ำจระเข้” เป็นถ้ำซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ตั้งอยู่ห่างจากปากคลองพันเตมะละกาประมาณ 2 กม. การเดินทางสู่ถ้ำจระเข้นั้นนอกเหนือจากการเช่าเรือคายักพายไปจอดยังทางเดินไม้บริเวณป่าโกงกางปากถ้ำแล้ว ยังสามารถเช่าเหมาเรือหางยาวของทางอุทยานฯ ให้ไปรับ – ส่งได้อีกด้วย น่าเสียดายที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมีเวลาในการเก็บข้อมูลจำกัด พวกเราจึงไม่ได้แวะเที่ยวถ้ำจระเข้แห่งนี้
|
....................ยามดวงอาทิตย์ใกล้ดับอับแสง....................
|
|
สนธยาฟากฟ้าสีทอง กับ ต้นเตยทะเลที่ดูหม่นหมองในเวลาเย็น
|
หากเดินพ้นจากสะพานท่าเทียบเรือเข้าไปเล็กน้อยก็จะพบกับอาคารหกเหลี่ยมสีน้ำตาลแดงหลังเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของถนน อาคารหลังนี้คือ “ศาลเจ้าพ่อตะรุเตา” นักท่องเที่ยวบางส่วนนิยมมากราบไหว้ขอพรให้ตนเอง เพื่อนพ้อง และครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวโดยสวัสดิภาพ เมื่อเดินลึกเข้าไประหว่างทางจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตามุ่งหน้าสู่บริเวณเรือนพักนักท่องเที่ยวจะได้พบกับ “อาคารแสดงนิทรรศการ” ซึ่งมีการจัดแสดงภาพถ่าย ภาพวาด ซากสัตว์ ข้อมูลความรู้สภาพทางธรรมชาติโดยรวมของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา รวมถึงยังได้มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของนักโทษที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของทัณฑสถานเกาะตะรุเตาเอาไว้ด้วย นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะทำความรู้จักกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาอย่างลึกซึ้งแนะนำว่าควรแวะมาเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารหลังนี้
|
"ศาลเจ้าพ่อตะรุเตา" กับ ลิงแสม
|
“ลิงแสม” เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปรอบๆ บริเวณอ่าวพันเตมะละกา แต่ลิงแสมบนเกาะตะรุเตานี้เป็นลิงป่าที่มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย แนะนำว่านักท่องเที่ยวไม่ควรให้อาหารลิงอย่างเด็ดขาดและต้องใช้ความระมัดระวังในการพกพาอาหารเดินไปเดินมาระหว่างเรือนพักกับสถานที่แห่งอื่นๆ เพราะอาจถูกลิงแย่งอาหารหรือกัดเอาได้
|
ความแตกต่างระหว่างห้วงเวลา ณ อ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา
|
|
สีสัน ตัด ขัดแย้ง...............แต่แฝงไว้ด้วยความงดงาม
|
นอกจากลิงแสมแล้วในช่วงเวลาเช้าตรู่และช่วงเวลาเย็นมักจะพบเห็นฝูง “นกเงือก” บินร่อนลงมาเดินหากินบริเวณรอบๆ โรงอาหารของทางอุทยานฯ อยู่เสมอๆ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา หน้า 1 2
|
|