เกาะนางยวน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี
|
หน้า 2 จุดดำน้ำและการเดินทางสู่เกาะนางยวน
เนื้อหาในบทความ “เกาะนางยวน” นี้มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ Click link ทางด้านล่างบทความเพื่อชมข้อมูลและภาพถ่ายในแต่ละหน้าได้ตามความต้องการ
มหัศจรรย์แห่งโลกใต้ทะเลที่เกาะนางยวน
โดยรอบเกาะนางยวนมีจุดดำน้ำลึกที่สวยงามน่าสนใจอยู่หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นหินเขียว (Green Rock) , หินแฝด (Twin Rocks) , กองหินนางยวน (Nangyuan Pinnacle) , สวนญี่ปุ่น (Japanese Gardens) , ฯลฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะดำดิ่งลงไปชมความงดงามของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ณ จุดดำน้ำลึกเหล่านี้ จำเป็นจะต้องเรียนรู้.....ฝึกฝนทักษะ.....รวมถึงศึกษามาตรการรักษาความปลอดภัยในขณะดำน้ำลึกให้ดีเสียก่อน แต่หากว่าคุณไม่อยากจะยุ่งยากและไม่ต้องการจะเสียเงินทองมากมายไปกับโปรแกรมเรียนรู้ – ฝึกฝนการดำน้ำลึกล่ะก็.....แค่สวมเสื้อชูชีพ คว้าแว่นตาดำน้ำมาใส่ แล้วตามทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมา.....คุณก็จะได้พบกับจุดดำน้ำตื้นซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้จุดดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงหลายๆ แห่งในฝั่งทะเลอันดามันเลยทีเดียว
|
ปลานกขุนทองอกแดง กำลังแหวกว่ายอยู่เหนือทุ่งปะการังเขากวางจิ๋ว และ
ปลาตาหวาน ซึ่งนอนพักผ่อนอยู่บนปะการังโขดที่เต็มไปด้วย หนอนฉัตร
|
|
.......ปลากะรังเสือ ที่หน้าตาบ่งบอกว่ายังไม่อยากจะรับแขก.......
|
.....แต่ก่อนที่พวกเราจะพาคุณๆ ไปทำความรู้จักกับจุดดำน้ำตื้นของเกาะนางยวนแห่งนี้ พวกเราจะขออนุญาตอธิบายสภาพภูมิประเทศเพื่อประกอบความเข้าใจเบื้องต้นเสียก่อน.....
ดังที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า “เกาะนางยวน” เป็นเกาะที่ประกอบไปด้วยเกาะขนาดเล็ก 3 เกาะเชื่อมต่อกันด้วยแนวสันทราย 3 ง่ามสีขาวนวล ซึ่งแนวสันทรายนี้ได้กั้นแบ่งพื้นที่อ่าวรอบๆ เกาะนางยวนออกเป็น 3 อ่าว ได้แก่ อ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และอ่าวด้านทิศตะวันตก
|
...............นี่มัน..........คู่รัก ? หรือ พี่น้อง ปลาบู่ทะเล กันแน่เนี่ย ?...............
|
|
.........................ปลานกแก้ว ที่พบเห็นได้ไปซะทุกแห่ง.........................
|
อ่าวด้านทิศตะวันตก มีแนวปะการังห่างจากแนวสันทรายออกไปประมาณ 30 – 50 เมตร แนวปะการังช่วงใกล้ชายฝั่งจะมีสภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรมแต่จะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะห่างจากชายฝั่ง (ยิ่งไกลจากชายฝั่งมากเท่าไหร่.....แนวปะการังก็จะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น).....อย่างไรก็ตาม.....กระแสคลื่นลมบริเวณอ่าวด้านทิศตะวันตกนี้ค่อนข้างรุนแรง แถมแนวปะการังที่ยังมีชีวิตนั้นจะอยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปมากจนแสงแดดส่องถึงได้น้อย ทำให้สภาพท้องทะเลไม่ค่อยเหมาะสำหรับการดำน้ำตื้นสักเท่าไหร่นัก
อ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ตั้งของสะพานท่าเทียบเรือเกาะนางยวน มีแนวปะการังสภาพทรุดโทรมกระจายตัวอยู่ทั่วอ่าว สภาพท้องทะเลไม่เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้น (มีปะการังบางส่วนที่เริ่มฟื้นตัวและกำลังเจริญเติบโต แต่ก็ยังไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่)
|
หนอนฉัตร หลากสีบนก้อน ปะการังโขด
บริเวณอ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ เกาะนางยวน
|
|
ปะการังโต๊ะสีเขียวอ่อน..........กับ..........
ฝูง ปลาสลิดหินลายบั้ง ที่กำลังแหวกว่ายอยู่หน้าแนว ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง
|
อ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอ่าวซึ่งไม่ค่อยมีกระแสคลื่นลมเนื่องจากมีเกาะเหนือและส่วนหัวของเกาะเต่าช่วยบดบังทิศทางลมไว้ ทำให้อ่าวแห่งนี้เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ.....ในช่วงเวลากลางวัน.....คุณจะได้เห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากนั่ง – นอนพักผ่อนอยู่บนเตียงผ้าใบ บ้างก็เล่นน้ำอยู่บริเวณด้านหน้าอ่าว แต่จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากนักที่ลอยตัวว่ายไกลออกไปเพื่อดูปะการังน้ำตื้น.....ทั้งๆ ที่อ่าวแห่งนี้ คือ จุดดำน้ำตื้นที่สวยงามมากที่สุดของเกาะนางยวน !!
สาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ค่อยลงดำน้ำตื้นบริเวณอ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนางยวน อาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่ทราบว่าที่อ่าวแห่งนี้ยังคงมีแนวปะการังน้ำตื้นอันแสนสวยงามและค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ซุกซ่อนตัวอยู่ใต้ท้องทะเลใสก็เป็นได้
|
เชื่อผมเถอะครับ.....ว่าความสวยงามทั้งหมดนี้พบเห็นได้ที่ เกาะนางยวน จริง ๆ
|
เมื่อแรกย่างเท้าก้าวลงสู่ท้องน้ำของอ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ.....นักท่องเที่ยวทุกๆ คนจะได้พบกับเศษซากปะการังตายสีขาวจำนวนมากจนอาจทำให้หลายๆ คนคิดไปว่า.....อ่าวแห่งนี้ไม่น่าจะมีแนวปะการังที่มีชีวิตหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว.....แต่ถ้าหากได้ลองสวมเสื้อชูชีพและหน้ากากดำน้ำแล้วว่ายไกลออกไป.....ไกลออกไปเรื่อยๆ ล่ะก็.....เมื่อว่ายพ้นจากแนวเศษซากปะการังตายและแนวพื้นทรายใต้น้ำสีขาวบริสุทธิ์แล้ว คุณจะได้พบกับแนวปะการังมีชีวิตซึ่งกินพื้นที่กว้างยาวหลายร้อยตารางเมตรเลยทีเดียว !! (ตำแหน่งที่คุณจะเริ่มมองเห็นแนวปะการังมีชีวิตอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 เมตรครับ)
|
............ปะการังสมอง ที่กำลังฟื้นตัวจากความเสียหาย และ ปะการังแผ่น............
|
|
.........................รอยจูบทะเลใต้.....กับ.....ก้อนปะการังรังผึ้ง.........................
|
แนวปะการังบริเวณอ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนางยวนนี้มีทั้งปะการังโขด , ปะการังแผ่นเปลวไฟ , ปะการังสมอง , ปะการังรังผึ้ง , ปะการังผักกาดหอม , ปะการังโต๊ะ , ปะการังผิวยู่ยี่ , ปะการังลายดอกไม้ , ฯลฯ.....ทั้งนี้.....ช่วงบริเวณกลางอ่าวยังสามารถพบทุ่งปะการังเขากวางจิ๋วซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างยาวเกือบร้อยตารางเมตรได้ด้วย (ทุ่งปะการังเขากวางจิ๋วนี้มีระดับความลึกจากผิวน้ำประมาณเพียงแค่ 1 – 1½ เมตรเท่านั้น นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะดำน้ำตื้นดูทุ่งปะการังเขากวางดังกล่าวจะต้องลอยตัวเกือบขนานกับผิวน้ำอยู่ตลอดเวลาและห้ามเหยียบลงไปบนทุ่งปะการังโดยเด็ดขาด เนื่องจากปะการังชนิดนี้เปราะบางและแตกหักเสียหายได้ง่ายมาก)
|
....................ปะการังลายดอกไม้ ในทุ่ง ปะการังเขากวาง....................
|
นอกจากแนวปะการังที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามอยู่มากแล้ว คุณยังสามารถพบเห็นสิ่งมีชีวิตน่ารักๆ ใต้ท้องทะเลได้อีกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ปลากะรังเสือ , ปลานกแก้ว , ปลานกขุนทองอกแดง , ปลาแพะแถบหางจุด , ปลากล้วย , ปลาสลิดหินลายบั้ง , ปลาสลิดหินดำ , ปลาบู่ทะเล , ปลากระต่าย , ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง , ปลาผีเสื้อ , ปลาตาหวาน , หมึกยักษ์ , หอยมือเสือ , ดอกไม้ทะเล , หนอนฉัตร , ดาวทะเล , ฯลฯ.....เรียกได้ว่า.....จุดดำน้ำตื้นบริเวณอ่าวด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะนางยวนแห่งนี้ เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจริงๆ (สิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงข้างต้น เป็นสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลเกาะนางยวนที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้เห็นมากับ 2 ตาของตัวเองจริงๆ ณ จุดดำน้ำตื้นแห่งนี้ครับ)
|
ใต้ท้องทะเล เกาะนางยวน ก็มี ดอกไม้ทะเล เยอะแยะ
และยังมี ปะการังโต๊ะ ที่ซ้อนกันกันเป็นชั้น ๆ แบบนี้ด้วยนะ
|
หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวอีกคนหนึ่งซึ่งรักหาดทรายสวยๆ น้ำทะเลใสๆ และแนวปะการังใต้น้ำที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากแล้วล่ะก็ ลองเดินทางมาเยือน “เกาะนางยวน” ดูสักครั้ง.....แล้วสุดท้ายคุณอาจจะหลงเสน่ห์ของเกาะแห่งนี้จนถอนตัวไม่ขึ้นเช่นเดียวกับทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ก็เป็นได้
การเดินทางสู่เกาะนางยวน : นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางมาเยือน “เกาะนางยวน” มีทางเลือกหลายอย่าง ได้แก่
1. ใช้บริการรถปรับอากาศต่อเรือของบริษัท ซีทรานดิสคัฟเวอรี่ , เรือเร็วลมพระยา หรือ ส่งเสริมรุ่งเรือง โดยจะมีรถบัสรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานครไปยังท่าเรือบริเวณ จ.ชุมพร แล้วต่อเรือไปยังเกาะนางยวน – เกาะเต่า – เกาะพะงัน – เกาะสมุย และยังสามารถต่อรถจากเกาะสมุยไปจนถึงตัวเมืองสุราษฎร์ธานีได้ด้วย (มีเรือและรถให้บริการสองทางแบบไป – กลับครับ)
2. ใช้บริการเรือเร็วของบริษัท “ซีทรานดิสคัฟเวอรี่” โดยเริ่มต้นจากท่าเรือบางรัก เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไปยังเกาะพะงัน – เกาะเต่า – เกาะนางยวน .....ทั้งนี้.....นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอให้บริษัทฯ จัดรถตู้ปรับอากาศรับ – ส่งจากโรงแรมบนเกาะสมุยไป – กลับท่าเรือได้ แต่จะต้องเสียค่ารถตู้เพิ่มเติมอีกประมาณคนละ 100 บาท/เที่ยว (มีเรือและรถให้บริการสองทางแบบไป – กลับเช่นเดียวกัน)
3. ใช้บริการเรือหางยาวรับจ้างจาก “ท่าเรืออ่าวแม่หาด” เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ให้ไปส่งที่เกาะนางยวน อัตราค่าบริการคนละ 100 – 200 บาท/คน/เที่ยว หากต้องการให้เรือจอดรออยู่ที่เกาะนางยวนต้องตกลงราคาไป – กลับให้เรียบร้อยก่อน
4. ใช้บริการเรือเมล์ของ “นางยวน ไอส์แลนด์ ไดฟ์ รีสอร์ท” ไป – กลับระหว่างเกาะนางยวนและ “ท่าเรืออ่าวแม่หาด” เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี อัตราคาบริการคนละ 200 บาท/คน/เที่ยว (บริการฟรี !! เฉพาะแขกซึ่งพักค้างแรมที่ “นางยวน ไอส์แลนด์ ไดฟ์ รีสอร์ท” เท่านั้นครับ) โดยจะมีเรือออกตามตารางเวลาทางด้านล่าง
ตารางเวลาการให้บริการเรือเมล์ของ นางยวน ไอส์แลนด์ ไดฟ์ รีสอร์ท
(Nangyuan Island Dive Resort) |
เกาะเต่า – เกาะนางยวน |
เกาะนางยวน – เกาะเต่า |
10.30 น. |
8.30 น. |
15.00 น. |
13.00 น. |
18.00 น. |
16.00 น. |
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. เป็นช่วงฤดูมรสุม นักท่องเที่ยวต้องตรวจสอบสภาพภูมิอากาศให้ถี่ถ้วนก่อนวางแผนการเดินทาง
หมายเหตุ : ข้อมูลบางอย่างของ “เกาะนางยวน” อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : จองที่พักเกาะนางยวนกับ r24 , จองที่พักเกาะนางยวนกับ ido24
เกาะนางยวน
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
|
หน้า 1 |
ข้อมูลทั่วไปและประวัติเกาะนางยวน |
หน้า 2 |
จุดดำน้ำและการเดินทางสู่เกาะนางยวน |
โปรแกรมทัวร์อื่น ๆ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อโปรแกรมทัวร์” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของโปรแกรมทัวร์แต่ละแบบโดยละเอียด) |
|
|
|