เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี
|
หน้า 5 เกาะม้า อ่าวโฉลกหลำ หาดขอม การเดินทางสู่เกาะพะงัน
เนื้อหาในบทความ “เกาะพะงัน” นี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 หน้า ท่านสามารถ Click link ทางด้านล่างบทความเพื่อชมข้อมูลและภาพถ่ายในแต่ละหน้าได้ตามความต้องการ
คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก” เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมซึ่งมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นให้ผู้คนบริโภคจนมากเกินจำเป็น มีการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างกระแสความนิยม และหลอกล่อให้คนจำนวนมากรู้สึกอยากจะซื้อหาสินค้ารวมถึงบริการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เกือบทุกประเทศในโลกเลือกใช้นโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม มีการใช้เชื้อเพลิง fossil กันอย่างไม่บันยะบันยังจนส่งผลให้มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมหาศาล มลภาวะจากขยะ.....สารเคมี.....ของเสียต่างๆ ทับถมทวีคูณ น้ำแข็งขั้วโลกละลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงไป และคงไม่มีพวกเราคนใดที่จะปฏิเสธได้อีกแล้วว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก” กำลังก่อผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบอาชีพ.....วิถีชีวิต.....และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายๆ แห่งบนโลกใบนี้
|
...................................ภาพถ่าย ณ สุดปลายทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ เกาะพะงัน...................................
|
|
...................................บรรยากาศของ หาดแม่หาด...................................
|
เกาะม้า : คุณค่าที่สูญสลายจากฝีมือมนุษย์
ในอดีต..........“เกาะม้า” เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งดำน้ำตื้นใกล้ๆ เกาะพะงันที่มีแนวปะการังอันแสนสวยงามและอุดมสมบูรณ์ เกาะแห่งนี้เป็นเกาะเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่สุดปลายด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะพะงันในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ “อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ (อช.น้ำตกธารเสด็จ)”..........ในยามที่น้ำทะเลลดลงต่ำจะเกิดแนวสันทรายสีขาวอมน้ำตาลอ่อนทอดยาวไกลจาก “หาดแม่หาด เกาะพะงัน” เชื่อมต่อไปถึง “เกาะม้า” ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 200 เมตร..........เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีลักษณะเดียวกันกับ “ทะเลแหวก” ใน จ.กระบี่
|
...................................เส้นทางในรอยทราย...................................
|
.....หลายปีผ่านไป.....นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลไปยังเกาะม้าเพื่อดำน้ำตื้นดูปะการัง สภาพแวดล้อมที่เคยสวยงามและอุดมสมบูรณ์เริ่มเสื่อมถอย มีเอกชนบางกลุ่มเข้ามาจับจองพื้นที่บนเกาะม้าสร้างร้านอาหาร.....บาร์ และบังกะโลขนาดเล็กขึ้นทั้งๆ ที่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อเหตุปัจจัยดังกล่าวผนวกเข้ากับผลจาก “ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ (El Nino)” ที่เกิดขึ้น ก็ได้ทำให้แนวปะการังซึ่งบอบช้ำอยู่ก่อนแล้วถูกทำลายเสียหายไปเกือบทั้งหมด
|
ที่ เกาะม้า ก็มีทะเลแหวก (.....แต่ยังไง.....ทะเลแหวกที่ จ.กระบี่ ก็สวยกว่าอยู่ดีนั่นแหละ !!)
|
|
...............ใต้ท้องทะเลใกล้ๆ เกาะม้า มีเศษซากปะการังตายกระจายอยู่ทั่วไป...............
|
ต่อมาในภายหลัง.....ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ อช.น้ำตกธารเสด็จ จะสามารถปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่เกาะม้าให้แก่อุทยานแห่งชาติได้สำเร็จ ร้านอาหาร.....บาร์ และบังกะโลผิดกฎหมายบนเกาะม้าทั้งหมดถูกรื้อถอนทิ้ง.....แต่กระนั้น.....ทุกอย่างก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไป .....ทุกวันนี้.....เราจะพบเห็นเศษซากปะการังตายสีขาว – เทาจำนวนนับไม่ถ้วนเรียงรายอยู่ตลอดแนวชายหาดทางด้านทิศใต้ของเกาะม้า อีกทั้งยังมีเศษขวดแก้วแตกแทรกปะปนอยู่ในเนื้อทรายและร่องหินตลอดแนวชายฝั่งจนทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดกล้าลงเล่นน้ำในบริเวณนี้อีกต่อไปแล้ว.....ปัจจุบัน.....นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะลงดำน้ำตื้นบริเวณเกาะม้าจึงจำเป็นจะต้องเหมาเรือหางยาวหรือซื้อทัวร์รอบเกาะพะงันเพื่อนั่งเรือออกไปยังจุดดำน้ำตื้นแห่งอื่นๆ เท่านั้น (ปัจจุบันคุณจะไม่สามารถว่ายน้ำจากชายฝั่งเกาะม้าออกไปยังจุดดำน้ำตื้นได้อีกแล้วครับ)
|
...................................ช่วงเวลาใกล้เที่ยงวัน...................................
|
|
...............มุมมองแบบกว้างไกลสุดสายตาจาก หาดแม่หาด ถึง เกาะม้า...............
|
“บทเรียนแห่งความเสียหายจากเกาะม้า” อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นหากพวกเราทุกๆ คนยังคงไม่ใส่ใจและไม่ตระหนักว่าการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ – สิ่งแวดล้อมนั้นมีความสำคัญต่อโลก.....ต่อวิถีชีวิตของเรามากขนาดไหน ? หรือหากว่าพวกเรายังคงปล่อยให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งฉ้อฉลทุจริต.....โกงกิน.....รับสินบน เข้ามามีอำนาจบริหารหน่วยงานต่างๆ ก็อาจทำให้พวกเราต้องสูญเสียแผ่นดินเกิด.....บ้านเมือง.....และทรัพยากรอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาไว้ให้แก่ลูกหลานชาวไทยทุกๆ คนไปให้กับกลุ่มเปรตเดินดินกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มจนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวกันทั้งประเทศก็เป็นได้ ?
อ่าวโฉลกหลำ : หมู่บ้านชาวประมงสุดแสนสะอาด
หมู่บ้านชาวประมงส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะเป็นสถานที่ที่มีเศษขยะกระจัดกระจายรกรุงรังระเกะระกะดูไม่งามตา แถมยังมีกลิ่นคาวปลาเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณจนหลายๆ คนอยากเบือนหน้าหนี แต่บางทีหากคุณได้มีโอกาสเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวประมงที่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีบ้างแล้วล่ะก็ คุณน่าจะลบภาพลักษณะเก่าๆ เหล่านั้นไปจากใจได้ไม่ยาก.....แถมอาจจะอยากลองเปลี่ยนอาชีพไปเป็นชาวประมงดูบ้างเลยทีเดียวเชียว
|
...................................รวมกลุ่มเรือประมง...................................
|
|
...................................ณ อ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน...................................
|
“อ่าวโฉลกหลำ” เป็นอ่าวขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะพะงัน มีความยาวตลอดแนวชายฝั่งราว 2½ กม. ลักษณะหาดทรายเป็นสีขาวเนื้อเนียนละเอียด น้ำทะเลเป็นสีฟ้าใสราวกับกระจก บริเวณตอนกลางอ่าวเป็นที่ตั้งของสะพานท่าเทียบเรือและหมู่บ้านชาวประมง มีหมู่เรือน้อยใหญ่จอดทอดสมอลอยลำอยู่ด้านหน้าอ่าวหลายสิบลำ โดยรอบบริเวณหมู่บ้านและชายหาดอาจพบเศษขยะตกหล่นอยู่ได้บ้างประปราย แต่ในภาพรวมแล้วต้องถือว่า “อ่าวโฉลกหลำ” น่าจะเป็นสถานที่ตั้งหมู่บ้านชาวประมงที่สวยงามและสะอาดติดอันดับ 1 ใน 10 หมู่บ้านชาวประมงที่สะอาดที่สุดของประเทศไทยได้สบายๆ
|
...................................ทะเลใส กับ เรือไดหมึก...................................
|
“หมู่บ้านชาวประมงอ่าวโฉลกหลำ” นับเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของเกาะพะงัน ทุกๆ วันจะมีอาหารทะเลสดๆ ลำเลียงขึ้นจากสะพานท่าเทียบเรือแล้วส่งต่อไปยังร้านอาหาร – โรงแรมเกือบทั่วทั้งเกาะแห่งนี้ หากโชคช่วยให้คุณเดินทางมาถึงสะพานท่าเทียบเรือในขณะที่กำลังมีการขนกุ้ง.....หอย.....ปู.....ปลาขึ้นจากเรือพอดิบพอดี คุณก็อาจจะขอแบ่งซื้ออาหารทะเลได้ในราคาซึ่งถูกกว่าปกติ แต่หากคุณทางมาถึงอ่าวโฉลกหลำในช่วงเวลาอื่นๆ ก็ยากที่จะขอแบ่งซื้ออาหารทะเลสดๆ จากชาวประมงท้องถิ่นได้ เนื่องจากสัตว์ทะเลที่จับได้ในปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงกว่าเมื่อครั้งอดีตมาก และสัตว์ทะเลสดๆ ทั้งหมดก็มักจะถูกจองซื้อและส่งต่อไปยังร้านอาหาร – โรงแรมรอบๆ เกาะพะงันเรียบร้อยแล้ว
|
.........ต้นสนรูปร่างคล้ายดอกเห็ดที่ "Malibu Beach Bungalows " อ่าวโฉลกหลำ.........
|
ใครที่อยากจะหาที่พักสวยๆ ติดริมชายหาดอ่าวโฉลกหลำ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม(www.thongteaw.com) แนะนำว่าน่าจะเลือกพักที่ Malibu Beach Bungalows ซึ่งตั้งอยู่เกือบสุดปลายอ่าวด้านทิศตะวันตก บังกะโลแห่งนี้เขามีการปลูกต้นสนไว้บนหาดทรายสีขาวบริสุทธิ์แล้วตัดแต่งกิ่งใบให้ดูคล้ายกับดอกเห็ด ส่วนท้องทะเลด้านหน้าชายหาดก็ใสจนมองเห็นพื้นทรายใต้น้ำได้อย่างชัดเจน บรรยากาศโดยรวมของบังกะโลค่อนข้างสงบและสวยงามมาก หากใครชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนล่วงหน้าเพื่อจองห้องพักก็ยังสามารถขอให้ทางบังกะโลส่งรถไปรับที่ท่าเรือท้องศาลาได้ฟรีๆ อีกด้วย
หาดขอม : ร่องรอยแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ลบเลือน
จากข้อมูลต่างๆ ที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้ลองพยายามสืบค้นมา.....เขาว่ากันว่า “หาดขอม” เป็นจุดดำน้ำตื้นที่ยังคงมีแนวปะการังที่มีชีวิตอาศัยอยู่เป็นวงกว้าง พวกเราจึงตัดสินใจขี่จักรยานยนต์ข้ามเนินเขาสูงบ้างต่ำบ้างมายังชายหาดแห่งนี้
|
...................................ชิงช้าที่หน้า หาดขอม...................................
|
.....สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น.....คือ สุภาษิตโบราณที่พวกเรานึกถึงเมื่อได้เห็นสภาพแนวปะการังอันทรุดโทรมด้านหน้าหาดขอม .....ปัจจุบัน.....ใต้ท้องทะเลด้านหน้าชาดหาดเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะพะงันแห่งนี้แทบจะไม่สามารถพบแนวปะการังมีชีวิตหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว จะคงมีก็แค่เศษซากปะการังตายที่ถูกตะไคร่สีน้ำตาลอมเขียวจับเกาะกระจัดกระจายอยู่เป็นวงกว้างเท่านั้น.....อย่างไรก็ตาม.....หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวของเกาะพะงันได้ริเริ่มจัดโครงการ “เกาะสีเขียว” ขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเกาะแห่งนี้มีส่วนร่วมในการช่วยกันบำรุงรักษาธรรมชาติ รวมถึงปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมต่างๆ ของเกาะพะงันที่เริ่มเสื่อมโทรมให้กลับมาสวยงามดังเช่นในอดีตอีกครั้ง.....
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ บนเกาะพะงัน
น่าเสียดายที่เวลาอันจำกัดทำให้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมไม่สามารถแวะไปเก็บข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ บนเกาะพะงันได้ทุกแห่ง หากคุณมีเวลาอยู่บนเกาะพะงันหลายๆ วัน.....พวกเราขอแนะนำว่าคุณอาจลองแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนน้ำตกธารเสด็จ ,น้ำตกธารประพาส ,น้ำตกธารประเวศ ,น้ำตกแพง ,หาดท้องนายปานน้อย ,หาดท้องนายปานใหญ่ ,หาดขวด หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ แห่งอื่นๆ ดูบ้าง.....แล้วคุณจะรู้ว่า “เกาะพะงัน” นั้นมีสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่มากมายจนเกินกว่าจะเที่ยวได้หมดภายในระยะเวลาไม่กี่วันจริงๆ
การเดินทางสู่เกาะพะงัน : นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางมายังเกาะพะงันมีทางเลือกดังต่อไปนี้
1. รถยนต์ส่วนบุคคล คุณสามารถขับรถยนต์ส่วนบุคคลข้ามฟากจากท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มายังท่าเรือท้องศาลา เกาะพะงันได้โดยเลือกใช้เรือข้ามฟากของ “บริษัทราชาเฟอรี่” โทร.(077) 471206 – 8 , (077) 377453
2. รถประจำทาง เลือกใช้บริการรถปรับอากาศกรุงเทพฯ – เกาะพะงันของ “บริษัทขนส่ง 999” โดยรถจะต้องมาขึ้นเรือข้ามฟากที่ท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี เช่นเดียวกับข้อ 1. โทร.(02) 7926222 , (02) 4224444
3. รถต่อเรือ เลือกใช้บริการรถปรับอากาศต่อเรือของบริษัท ซีทรานดิสคัฟเวอรี่ , เรือเร็วลมพระยา หรือ ส่งเสริมรุ่งเรือง โดยจะมีรถบัสรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานครไปยังท่าเรือบริเวณ จ.ชุมพร แล้วต่อเรือไปยังเกาะเต่า – เกาะพะงัน – เกาะสมุย โทร.(02) 9814599 , (089) 1378702 , (084) 1450957 , (084) 3602913
4. เรือเฟอรี่ เลือกใช้บริการเรือเฟอรี่ของบริษัท “ซีทรานดิสคัฟเวอรี่” โดยเริ่มต้นจากท่าเรือบางรัก เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไปยังเกาะพะงัน – เกาะเต่า.....ทั้งนี้.....นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอให้บริษัทฯ จัดรถตู้ปรับอากาศรับ – ส่งจากโรงแรมบนเกาะสมุยไป – กลับท่าเรือได้ แต่จะต้องเสียค่ารถตู้เพิ่มเติมอีกประมาณคนละ 100 บาท/เที่ยว (มีเรือและรถให้บริการสองทางแบบไป – กลับเช่นเดียวกัน) โทร.(02) 9814599 , (089) 1378702 , (084) 1450957 , (084) 3602913
5. เรือเฟอรี่หาดริ้น มีเรือเฟอรี่วิ่งให้บริการตรงระหว่างเกาะสมุย – ท่าเรือหาดริ้นในทุกวัน โทร.(077) 484668 , (077) 375113
6. รถไฟ เลือกใช้บริการรถไฟสายกรุงเทพฯ – สุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถสองแถวมายังท่าเรือดอนสักแล้วจึงต่อเรือเฟอรี่มายังเกาะพะงันอีกทอด โทร.1690 www.thairailticket.com
7. เครื่องบิน สามารถเลือกใช้บริการสายการบิน Bangkok Airways มาลงเครื่องที่สนามบินเกาะสมุย หรือเลือกใช้บริการของสายการบินอื่นๆ มาลงเครื่องที่สนามบิน จ.สุราษฎร์ธานี แล้วจึงต่อรถ – เรือมายังเกาะพะงันอีกต่อ
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. เป็นช่วงฤดูมรสุม นักท่องเที่ยวต้องตรวจสอบสภาพภูมิอากาศให้ถี่ถ้วนก่อนวางแผนการเดินทาง
หมายเหตุ : ข้อมูลบางอย่างของ “เกาะพะงัน” อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : จองที่พักเกาะพะงันกับ r24 , จองที่พักเกาะพะงันกับ ido24
โปรแกรมทัวร์อื่น ๆ ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อโปรแกรมทัวร์” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของโปรแกรมทัวร์แต่ละแบบโดยละเอียด) |
|
|
|