ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อ ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ นี้มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
เมื่อกล่าวถึง “การท่องเที่ยววัด” ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) เชื่อว่าคงมีผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งอยากเบือนหน้าหนีลี้หลบ ขอกลับไปนอนสลบอุตุอยู่กับบ้านจะรู้สึกรำคาญใจน้อยกว่าการเดินทางเข้าสู่อาณาบริเวณขอบเขตพัทธสีมา หรือบางคนก็อาจจะถามตัวเองอยู่ในใจลึก ๆ ว่ามีอะไรให้ดูที่วัดกันหนอ ? หากแต่สำหรับผู้ซึ่งชอบทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรมแล้ว การเข้าวัดก็อาจจะเหมือนกับการไปพักผ่อน แสวงหาความสุขสงบให้แก่หัวใจอันเหนื่อยล้า ค้นคว้าสัจจะธรรมให้กับชีวิต ยิ่งเข้าวัดเป็นนิจจิตก็ยิ่งสว่างแจ่มใส
ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะรู้สึกอย่างไรกับ “วัด” มาก่อนก็ตาม ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเชื่อว่าข้อมูลของ
“วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก)” อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ น่าจะทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกอยากเข้าวัดมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นอย่างแน่นอน (ปัจจุบัน อ.ศรีวิไล ถูกแยกออกมาจาก จ.หนองคาย แล้วผนวกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “จ.บึงกาฬ” ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับการตั้งขึ้นใหม่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 แต่ช่วงเวลาในขณะที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมไปเก็บข้อมูล “วัดเจติยาคีรีวิหาร” นั้น อ.ศรีวิไล ยังคงขึ้นอยู่กับ จ.หนองคายครับ)
|
"ภูทอกน้อย" คือ ภูเขาหินทรายสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่
เป็นที่ตั้งของ "วัดเจติยาคีรีวิหาร" หรือ "วัดภูทอก"
|
|
....................เงียบสงบ ร่มเย็น....................
|
“ภูทอก” ในภาษาอีสานแปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว” แต่ถึงแม้จะได้ชื่อว่าภูเขาโดดเดี่ยว “ภูทอก” ก็ประกอบไปด้วยภูเขาหินทรายสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่สองลูกเรียงตัวอยู่ใกล้เคียงกัน คือ “ภูทอกใหญ่” และ “ภูทอกน้อย” นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นภูทอกทั้งสองแห่งตั้งอยู่อย่างโดดเด่นได้ตั้งแต่ระยะไกล
|
ด้านหน้า "วัดเจติยาคีรีวิหาร"
มองเห็น "สะพานนรก - สวรรค์" ซึ่งสร้างเวียนขึ้นสู่ยอด "ภูทอกน้อย" อยู่ไกลลิบๆ |
บริเวณโดยรอบภูทอกมีทัศนียภาพอันสวยงาม เงียบสงบ รายล้อมไปด้วยป่าทึบซึ่งอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด จวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2512 “พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ” ลูกศิษย์สาย “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ” ได้เข้ามาจัดตั้งแหล่งบำเพ็ญเพียรเพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้าง “วัดเจติยาคีรีวิหาร” หรือ “วัดภูทอก” และ “สะพานนรก – สวรรค์” สะพานไม้ที่สร้างเวียนขึ้นสู่ยอด “ภูทอกน้อย” อย่างพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์
|
"สะพานนรก - สวรรค์" หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทย
|
“สะพานนรก – สวรรค์” เป็นสะพานไม้เวียนรอบจากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อยที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 350 เมตร (ยอดภูทอกน้อยมีระดับความสูงใกล้เคียงกับตึก 60 – 70 ชั้น) สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากเหล่าพระ เณร และชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบบริเวณภูทอก เริ่มต้นการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปีจึงแล้วเสร็จ พระอาจารย์จวนผู้บุกเบิกการก่อสร้างวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) หวังจะให้สะพานแห่งนี้สื่อความหมายในแง่ที่ว่า ผู้ซึ่งจะเดินไปตามเส้นทางธรรมที่สามารถน้อมนำให้สัตบุรุษหลุดพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวงจนอยู่เหนือโลกได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีความเพียรพยายาม ความอดทน และความมุ่งมั่น อีกทั้งยังต้องรู้จักประคับประคอง ควบคุม รักษาสติสัมปชัญญะเอาไว้ให้จงดี ไม่ยอมให้ตนเองตกอยู่ในความประมาท จึงจะสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ล่วงพ้นไปสู่จุดหมายในท้ายที่สุดได้ (บันได – สะพานไม้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรม , ความสูงชันเป็นดุจดั่งอุปสรรคต่าง ๆ , ยอดภูทอกน้อยเหมือนกับจุดมุ่งหมายสุดท้าย คือ ความหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง หากเดินทางด้วยประมาทขาดสติพลาดพลั้งร่วงหล่นตกลงมาระหว่างทางก็อาจจะต้องเจ็บปวดรวดร้าวราวกับตกนรก)
|
...............ระหว่างเส้นทางขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อย............... |
“สะพานนรก – สวรรค์” มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 ชั้น (สวรรค์ตามความเชื่อทางพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ จตุมหาราชิกา , ดาวดึงส์ , ยามา , ดุสิต , นิมมานรดี และ ปรนิมมิตวสวัตดี แต่การที่ “สะพานนรก – สวรรค์” มี 7 ชั้นนั้นอาจจะเพื่อสื่อความหมายว่ายังมีสภาวะที่อยู่เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ทั้ง 6 อีก ซึ่งก็คือ “นิพพาน” หรือ “ความพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง” นั่นเอง) แต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกันดังนี้
ชั้นที่ 1 – 2 เป็นเพียงแค่บันไดไม้สู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มมีสะพานเวียนรอบเขา เส้นทางเดินรอบชั้นที่ 3 นี้มีโขดหิน ลานหิน โตรกผา และไม้ยืนต้นขึ้นกางกิ่งใบให้ร่มเงาครึ้ม จากชั้นที่ 3 จะมีทางแยกสองทางโดยทางแยกด้านซ้ายมือจะเป็นบันไดทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ส่วนทางแยกด้านขวาจะเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4
|
...............กุฏิพระภิกษุสงฆ์บนเขา............... |
ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองลงไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับกันเรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจรดกับ “ภูลังกา” ในเขต อ.เซกา (เดิม อ.เซกา ถือเป็นส่วนหนึ่งของ จ.หนองคาย แต่ปัจจุบันถูกแบ่งแยกออกมาอยู่ในเขต จ.บึงกาฬ เช่นเดียวกับ อ.ศรีวิไล) บนชั้น 4 นี้เป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีจุดให้นั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์ระหว่างทางเป็นระยะ ๆ
ชั้นที่ 5 เป็นที่ตั้งของศาลาและกุฏิพระภิกษุสงฆ์ ตามทางเดินรอบชั้นนี้มีถ้ำตื้น ๆ อยู่หลายถ้ำ มีลานกว้างที่สามารถนั่งพักได้อยู่หลายแห่ง มีหน้าผาซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิต , ผาเทพสถิต , ผาหัวช้าง เป็นต้น หากเดินไปทางด้านทิศเหนือจะได้เห็นสะพานหินธรรมชาติซึ่งทอดยาวออกไปเชื่อมกับสะพานไม้สู่ “วิหารพระพุทธ” วิหารที่สร้างขึ้นอย่างแปลกประหลาดพิสดารจนดูราวกับมีใครนำหินก้อนใหญ่ไปวางทับไว้บนหลังคาวิหาร วิหารพระพุทธนี้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและถือเป็นจุดชมทิวทัศน์ซึ่งมีความงดงามมากที่สุดบนภูทอกน้อยเลยทีเดียว (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่า “วิหารพระพุทธ” คือ สถานที่ซึ่งทุก ๆ คนที่สู้อุตส่าห์เดินขึ้น “สะพานนรก – สวรรค์” มา ไม่ควรพลาดการแวะเยี่ยมชมอย่างยิ่งครับ)
จากวิหารพระพุทธจะสามารถมองเห็นแนวของ “ภูทอกใหญ่” ที่วางตัวอยู่ใกล้ ๆ ได้อย่างชัดเจน
|
สิ่งปลูกสร้างอันพิลึกพิลั่นพิสดาร และ บรรยากาศโดยรอบภูทอกน้อย |
|
1.สุดสายตาที่ภูทอกใหญ่ 2.สะพานไม้ซึ่งทอดยาวไปสู่วิหารพระพุทธ 3.ดอกไม้ริมทาง
4.ทิวทัศน์ผืนแผ่นดินเบื้องล่างเมื่อมองจากสะพานนรก - สวรรค์ |
ผู้ซึ่งเดินขึ้นมาตาม “สะพานนรก – สวรรค์” ส่วนใหญ่มักจะหยุดการเดินทางอยู่เพียงแค่ชั้นที่ 5 เนื่องจากชั้นที่ 6 เป็นสะพานไม้แคบ ๆ เวียนรอบเขาเกาะติดอยู่ริมหน้าผาสูงชันดูน่าหวาดเสียว แต่หากลองแข็งใจเดินขึ้นมายังสะพานชั้นที่ 6 ดูก็จะพบกับจุดชมทิวทัศน์สวย ๆ ที่สามารถถ่ายภาพ “วิหารพระพุทธ” จากมุมสูงได้ สะพานชั้นที่ 6 นี้มีความยาวรอบเขาทั้งหมดประมาณ 400 เมตร (สะพานชั้นที่ 6 มีความยาวใกล้เคียงกับสะพานชั้นที่ 4) และมีบันไดไม้ทอดยาวขึ้นไปสู่ยอดภูทอกน้อยเป็นชั้นสุดท้าย
|
"วิหารพระพุทธ" คือ สถานที่ซึ่งมีความสวยงามมากที่สุดของ "วัดภูทอก" |
บริเวณยอดภูทอกน้อยมีแมกไม้ใหญ่น้อยขึ้นยืนต้นบดบังทัศนียภาพโดยรอบทำให้ไม่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ต่าง ๆ เบื้องล่างได้ชัดเจนนัก แต่ก็มีทางดินที่สามารถเดินไปชมความงดงามของวิหารพระพุทธจากมุมสูงได้เช่นเดียวกับบริเวณสะพานนรก – สวรรค์ชั้นที่ 6 ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าหากคุณรู้สึกว่าเรี่ยวแรงภายในร่างกายเริ่มหดหายคล้ายจะเป็นลมหน้ามืดก็คงไม่จำเป็นต้องเดินทนขึ้นมาถึงยอดภูทอกน้อยก็ได้ เพราะจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดบนภูทอกน้อยนั้นอยู่บริเวณสะพานนรก – สวรรค์ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 6 ไม่ใช่จุดชมทิวทัศน์บนยอดภูทอกน้อยดังที่หลาย ๆ คนเข้าใจกันแต่อย่างใด (สำหรับ “ภูทอกใหญ่” นั้น แม้ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างลักษณะคล้ายหอระฆัง ? ตั้งอยู่ด้านบนยอดภู แต่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมก็ไม่รู้ว่ามีทางขึ้นอยู่ ณ ที่แห่งใด ทำให้พวกเราไม่ได้ปีนขึ้นไปเก็บข้อมูลบนภูทอกใหญ่ครับ)
ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ หน้า 1 2
|
|