ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อ ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ นี้มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
ความสวยงามชวนตื่นตาน่าพิศวงของ “วิหารพระพุทธ” และ “สะพานนรก – สวรรค์” ของวัดเจติยาคีรีวิหารบนภูทอกน้อยนั้นน่าจะมีคุณค่าสมควรแก่การเรียกได้ว่า “อัศจรรย์เมืองไทย (Amazing Thailand)” จริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม “วัด” อาจจะยังถือไม่ได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจร หากแท้จริงแล้ว “วัด” คือ สถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจสำคัญของชาวพุทธ ผู้ซึ่งจะเข้าเยี่ยมชม – กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด ได้แก่
|
....................ระเบียงชมผืนดินและแผ่นฟ้า.................... |
1. ห้ามนำสุรา – อาหารเข้าไปรับประทานภายในบริเวณวัดโดยเด็ดขาด
2. ห้ามส่งเสียงดังรบกวน พระ เณร แม่ชี ที่กำลังปฏิบัติธรรม
3. ห้ามขีดเขียน – สลักข้อความลงบนหิน ต้นไม้ หรือ สิ่งปลูกสร้างใด ๆ ภายในบริเวณวัด
4. ห้ามทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาว
5. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในบริเวณวัด
6. ควรเข้า – ออกจากวัดตามระยะเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ (วัดเจติยาคีรีวิหารเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่เวลา 8.30 – 17.00 น.ทุกวัน ยกเว้นในวันที่ 10 – 16 เมษายน ของทุก ๆ ปี ทางวัดจะปิดทางขึ้นภูทอกน้อยชั่วคราว)
7. ควรแต่งกายให้สุภาพ (สุภาพสตรีนุ่งน้อยห่มน้อย หรือสวมเสื้อ กางเกง กระโปรงสั้น ห้ามขึ้นสะพานนรก - สวรรค์โดยเด็ดขาด)
|
อีกมุมหนึ่งของ "วิหารพระพุทธ"
มองดูราวกับมีหินก้อนใหญ่วางทับอยู่บนหลังคาอาคาร
|
นอกเหนือไปจาก “สะพานนรก – สวรรค์” และ “วิหารพระพุทธ” ซึ่งตั้งอยู่บนภูทอกน้อยแล้ว ภายในบริเวณวัดเจติยาคีรีวิหารยังมีสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งซึ่งผู้ที่เดินทางมาเยือนวัดแห่งนี้ควรแวะไปเยี่ยมชม ได้แก่ “พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ”
พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมมียอดลักษณะบัวตูม โดยรอบองค์พระเจดีย์ประดับกระเบื้องดินเผาบอกเล่าเรื่องราวประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานรูปปั้นพระอาจารย์จวนขนาดเท่าองค์จริง มีเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์จวน และพระอัฐิธาตุของพระอริยสงฆ์องค์อื่น ๆ จัดแสดงเอาไว้ให้ชม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบรรจุพระอัฐิธาตุของพระอาจารย์จวนและทรงเปิดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เองเมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
|
"สะพานนรก - สวรรค์" สะพานไม้ที่สร้างเวียนขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อย
ณ ความสูง 350 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (ความสูงพอๆ กับตึก 60 - 70 ชั้น)
|
“พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ในสกุล “นรมาส” ณ บ้านเหล่ามันแกว อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ในวัยเด็กพบพระธุดงค์มาปักกลดใกล้บ้านจึงไปปรนนิบัติรับใช้และเกิดความเลื่อมใสอยากบวช ได้หัดภาวนาตามหนังสือที่พระให้ชื่อ “ไตรสรณาคมน์” ปรากฏจิตรวมสว่างไสว จวบจนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2486 จึงตัดสินใจบวชเป็นพระธรรมยุตที่วัดป่าสำราญนิเวศน์ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ต่อมามีโอกาสติดตามศึกษาธรรมกับ “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ” (ปี พ.ศ. 2488) และ “หลวงปู่ขาว อนาลโย” (ปี พ.ศ. 2492) หลังจากนั้นได้ออกเดินทางธุดงค์ไปในหลายพื้นที่ สุดท้ายจึงมาจำพรรษาอยู่ที่ “ภูทอก” ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2512
|
หากประมาทพลาดพลั้งร่วงหล่นตกลงไป
ถ้าไม่ต้องย้ายภพ.....จบชีพ.....เกิดใหม่.....ก็คงต้องเจ็บหนักอย่างแน่นอน
|
เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระอาจารย์จวนเป็นครั้งแรก ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร พระองค์ได้ทรงมีพระราชปรารภกับพระอาจารย์ว่าจะให้สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรในการทำเกษตรกรรม พระอาจารย์จวนอนุโมทนาในพระราชดำรินั้นและตั้งต้นคิดจัดทำฝายน้ำตามหมู่บ้าน 7 – 8 แห่ง โดยพระอาจารย์ได้ใช้เงินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งโปรดเกล้าถวายในวาระที่ท่านรับกิจนิมนต์ไปงานพระราชพิธีต่าง ๆ มาจ่ายเป็นค่ารถแทรกเตอร์ที่ใช้ปรับหน้าดินสร้างฝายจนหมด
พระอาจารย์จวนกล่าวว่า “ เงินของท่าน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ก็ทำบุญให้ท่าน ความจริงแผ่นดินนี้เป็นของท่าน ราษฎรก็เป็นคนของท่าน ก็เอาเงินของท่านทำให้แผ่นดินของท่านทำให้ราษฎรของท่าน”
|
....................บนภูทอกน้อย....................
|
|
....................ความอัศจรรย์อันงดงาม....................
|
“พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” เป็นผู้นำในการก่อตั้ง “วัดเจติยาคีรีวิหาร” และริเริ่มการสร้าง “สะพานนรก – สวรรค์” สะพานเวียนรอบเขาขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อยอันพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์ ท่านมรณภาพจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์บำเพ็ญพระราชกุศลตลอด 7 วัน ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.กรุงเทพมหานคร และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงจัดดอกไม้ถวายบูชาหน้าศพด้วยพระองค์เองตลอดทุกคืน
ผู้ซึ่งเดินทางมาเยือนวัดเจติยาคีรีวิหารสามารถศึกษาประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เพิ่มเติมได้จากป้ายให้ความรู้ทั้งภายในและภายนอกพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ฯ
|
มุมมองจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง กับ เส้นทางที่พวกเราก้าวเดิน
|
ดังที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า “การท่องเที่ยววัด” อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับบางคน แต่หากคุณตัดสินใจเดินทางมาเยือนวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ ดูสักครั้งล่ะก็ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) มั่นใจว่าทิวทัศน์อันงดงาม รวมทั้งความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของ “สะพานนรก – สวรรค์” และ “วิหารพระพุทธ” ซึ่งตั้งอยู่บนภูทอกน้อยน่าจะทำให้คุณรู้สึกประทับใจได้ยิ่งกว่าวัดแห่งไหน ๆ ที่คุณเคยไปเยือนมาเลยทีเดียว (การก่อสร้างสะพานไม้เวียนรอบภูเขาที่มีขนาดความสูงพอ ๆ กับตึก 60 – 70 ชั้น ในปี พ.ศ. 2512 – 2517 ซึ่งเป็นสมัยที่เทคนิคการก่อสร้างคงยังล้าหลังนั้น นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง)
|
พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ "พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ" ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณ "วัดเจติยาคีรีวิหาร"
|
|
กระเบื้องดินเผา.....รูปปั้น....และ.....เครื่องอัฐบริขาร
บอกเล่าเรื่องราวชีวประวัติรวมถึงคุณงามความดีต่างๆ ซึ่งพระอาจารย์จวนได้เคยสร้างไว้
|
การเดินทางสู่วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) :
รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.บึงกาฬ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มุ่งหน้าไปทาง อ.บุ้งคล้า ประมาณ25 กม.จะมาถึงสี่แยก “บ้านชัยพร” (ให้สังเกตว่าจะมีป้ายบอกทางไป “ภูทอก” อยู่เป็นระยะ ๆ) ให้เลี้ยวขวาที่ทางแยกแล้วขับรถตรงไปเรื่อย ๆ ผ่านโรงเรียนบ้านหนองยาว , บ้านคำภู , บ้านภูเงิน จนถึงทางแยกขวาบริเวณ “บ้านนาต้อง” ให้เลี้ยวขวาไปตามทางแยกดังกล่าวไม่เกิน 5 กม.จะถึงวัดเจติยาคีรีวิหาร
รถประจำทาง ขึ้นรถสายหนองคาย – นครพนม แล้วลงรถบริเวณสี่แยก “บ้านชัยพร” จากนั้นให้เหมารถรับจ้างไปส่งยังวัดเจติยาคีรีวิหาร (หารถรับจ้างได้ค่อนข้างลำบากครับ)
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู แต่วัดเจติยาคีรีวิหารจะปิดทางขึ้นภูทอกน้อยในช่วงวันที่ 10 – 16 เมษายน ของทุก ๆ ปี
ขอขอบคุณ : ข้อมูลการเดินทางสู่วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ จากหนังสือท่องเที่ยวทั่วไทยไปกับ “นายรอบรู้” ของสำนักพิมพ์สารคดี
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูลวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ ในเขต จ.บึงกาฬ : น้ำตกเจ็ดสี
ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ หน้า 1 2
|
|