พระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ (ดูภาพด้านล่าง)
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง : เป็นวัดโบราณสำคัญอีกวัดหนึ่งในอำเภอลับแล ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง ไม่ปรากฏว่าวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานจากหลักฐานรูปแบบศิลปกรรมว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย ร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัย และศรีสัชนาลัย จากหลักฐานของทำเลที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งที่อยู่เกือบกลางเมืองทุ่งยั้ง จึงเชื่อได้ว่าเป็นวัดสำคัญประจำเมืองจึงได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมเจดีย์ประธานภายในวัดเชื่อว่าเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ภายหลังจากการบูรณะแล้วมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกาดังที่เห็นในปัจจุบัน
|
1.เจดีย์ประธาน 2.วิหารหลวง 3.ซุ้มประตูกำแพงแก้ว 4.พระพุทธรูปปางปรินิพพาน |
|
"วัว" ดาราจำเป็นที่พบเห็นอยู่ภายในบริเวณ "วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง" |
จากประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งแล้ว ทางทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ขอพาทุกท่านไปชมโบราณสถานสำคัญอื่น ๆ ที่อยู่ภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ประธาน ,พระอุโบสถ , วิหารหลวงที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว
“เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ลักษณะฐานแบบเขียงซ้อนกัน 3 ชั้นลดหลั่นกันไป ชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลง ทั้ง 4 มุมมีเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังอยู่ตรงกลาง เรือนธาตุของเจดีย์ทั้ง 4 ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายในซุ้มจรนำ (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลัง)
|
....................วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์.................... |
“พระอุโบสถ” เป็นอุโบสถขนาด 3 ห้อง ก่ออุฐถือปูน หลังคามุมกระเบื้องลด 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปูนปั้นประดับกระจก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน
“วิหารหลวง” เป็นวิหารขนาด 5 ห้อง หลังคามุมกระเบื้อง 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม้แกะสลักที่หน้าบันติดกระจก ลงรักปิดทอง มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชี เพดานวิหารหลวงเขียนสี ผนังของวิหารหลวงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเงาะป่า (แต่คาดว่าเลอะเลือนไปมากแล้ว) และภายนอกมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานประดิษฐานอยู่บริเวณสวนของวัด
|
วัดแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 |
|
นักระนาดเอกตัวน้อยกำลังบรรเลงบทเพลงดนตรีไทยอันไพเราะอยู่ภายในวิหารหลวง |
การเดินทาง : วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง จากตัวเมืออุตรดิตถ์ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กม. จะมองเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ
|