วัดแก้วพิจิตร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี (ดูภาพด้านล่าง)
เมื่อกล่าวถึงเรื่องของความแตกต่าง มักนึกถึงความแตกต่าง ทางเชื้อชาติ ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่รวมกันอาจดูขัดหูขัดตา ไม่กลมกลืน แต่ที่วัดแก้วพิจิตร ความแตกต่างจากหลากหลายศิลปะ วัฒนะธรรมกลับไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกันแม้แต่น้อย การผสมผสานจากความหลากหลายนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม เป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยว เว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ของเรา จึงขอเชิญชวนทุกท่านเกาะติดสถานการณ์ความน่าสนใจของ "วัดแก้วพิจิตร" นี้ไปพร้อม ๆ กัน
|
วัดแก้วพิจิตร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี วัดพุทธที่รวมเอาผลงานสถาปัตยกรรม
ระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตกเข้ามาไว้ด้วยกัน
|
|
.........................อาคารพิพิธภัณฑ์ของ "วัดแก้วพิจิตร".........................
|
จากจารึกแผ่นหินภายในบริเวณวัดระบุว่า วัดแก้วพิจิตรสร้างเมื่อ พ.ศ. 2422 ในสมัยรัชกาลที่ห้า โดยนางประมูล โภคา(แก้ว ประสังสิต) เป็นผู้สร้างวัดแก้วพิจิตร ขึ้นบนเนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้สร้างโรงเรียนบาลีธรรมวินัยและหนังสือ เมื่อ พ.ศ. 2454 และในปี พ.ศ. 2461 ได้สร้างอุโบสถขึ้นอีกหนึ่งหลัง พร้อมสร้างพระประธาน ต่อมาในปี 2464 ได้สร้างหอพระไตรปิฏกเพิ่มขึ้นอีก หนึ่งแห่ง ในบริเวณใกล้เคียงกัน
|
.........................พระอุโบสถหลังงาม ศิลปะไทย จีน ยุโรป และ เขมร.........................
|
|
ภายนอกและภายในพระอุโบสถของ "วัดแก้วพิจิตร"
|
ลักษณะเด่นของพระอุโบสถวัดแก้วพิจิตร เป็นอาคารคอนกรีตที่มีการนำศิลปะไทย (รูปแบบแผนผังอุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ บานประตู หน้าต่าง) ศิลปะจีน (รูปปั้นมังกรเขียวหน้าจั่ว หลังคาลายมังกร ราวบันไดขึ้นอุโบสถ) ศิลปะฝรั่ง (เสาแบบโครนเธยน โดมหลังคาโรงเรียนบาลีนักธรรม และภาพวาดรูปชาวต่างประเทศล้อมรอบใต้ชายหลังคาด้านนอกอุโบสถ) และศิลปะเขมร (รูปแบบหลังคา กำแพงแก้ว ซุ้มประตูแก้ว) มาผสมผสานกันได้อย่างสวยงาม มีแห่งเดียวในประเทศไทย (ขอบคุณข้อมูลจากแผ่นหินจารึกรายละเอียดภายในวัดแก้วพิจิตร)
|
.........................ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สื่อถึงวิถีชีวิตและความเชื่อ.........................
|
สำหรับพระปางประทานอภัยซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดแก้วพิจิตรแห่งนี้ วัดที่ทางทีมงานไปนั้น ท่านเจ้าอาวาสไม่ได้อยู่ที่วัดจึงไม่มีกุญแจที่จะสามารถเข้าไปเยี่ยมชมพุทธลักษณะที่งดงามของพระปางประทานอภัยได้ จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นเล่าให้ฟังว่าจะเปิดให้ชมเฉพาะวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น
นอกจากนี้ทางวัดแก้วพิจิตรยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดยาว สังเกตจากเสาอาคาร และโดมด้านบนกลางอาคารแล้วคาดว่าอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดแก้วพิจิตรนี้น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ภายในพิพิธภัณฑ์มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายเช่น ลายพระหัตถ์บนแผ่นหิน พระพุทธรูปโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน หุ่นจำลองวิถีชีวิตของชุมชน (บ้านเรือน การทำมาหากิน การคมนาคม การดำเนินชีวิต) เป็นต้น โดยระหว่างการเดินเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จะมีคติธรรมให้อ่านเตือนใจ เตือนสติตนเองอย่างสม่ำเสมอ
|
"อาคารพิพิธภัณฑ์วัดแก้วพิจิตร"
แหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาวปราจีนบุรี
|
|
โบราณวัตถุล้ำค่า..........เก็บรักษาเอาไว้ให้ลูกหลานชื่นชม
|
และในแผ่นจารึกภายในวัดยังระบุความสำคัญของวัดแก้วพิจิตรไว้ว่า “วัดแก้วพิจิตร เป็นวัดที่ทางราชการได้กระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยามาแต่เดิม และเป็นที่ตั้งการศึกษาวิชาภาษาบาลีนักธรรม รวมทั้งเป็ฯสถานที่ประทับแรมของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ห้า และรัชกาลที่หก รวมทั้งพระบรมวงศานุวงค์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์”
การเดินทางสู่วัดแก้วพิจิตร : จากถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 305 (เส้นรังสิต-องครักษ์-นครนายก) เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 (ไปทางอำเภอปากพลี) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 319 (ไปปราจีนบุรี) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเทศบาลดำริ ขับต่อไปจนถึงวัดแก้วพิจิตร
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “วัดแก้วพิจิตร” เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
|