โบราณสถานลายพระหัตถ์-โบราณสถานหลุมเมือง-
โบราณสถานพานหิน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี (ดูภาพด้านล่าง)
"โบราณสถานลายพระหัตถ์" ตั้งอยู่ในเขตบ้านโคกขวาง ต.หนองโพรง จ.ปราจีนบุรี ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2524 เชื่อว่าโบราณสถานลายพระหัตถ์ คือซากของเทวาลัยสมัยลพบุรี ซึ่งเป็นโบราณสถานยุคสมัยเดียวกับเมืองศรีมโหสถเมืองอมรเทวี คาดคะเนอายุโบราณสถานลายพระหัตถ์อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13
โบราณสถานลายพระหัตถ์คงเหลือให้เห็นเพียงว่ามีฐานก่อด้วยศิลาแลง สำหรับส่วนอื่น ๆ นั้นปรักหักพังไปหมดแล้ว ในปี พ.ศ. 2451 ตรงกับ ร.ศ. 127 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานลายพระหัตถ์แห่งนี้ และได้ทรงพระปรมาภิไธย ไว้ที่แท่นหินศิลาแลง ว่าจปร.41/127 (127 คือ ร,ศ. และ 41 คือเป็นปีที่รัชกาลของพระองค์)
|
"โบราณสถานลายพระหัตถ์" บางครั้งก็เรียกว่า "อนุสาวรีย์ลายพระหัตถ์"
|
|
..........ร่องรอยพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว..........
|
จากนั้นในปี 2457 มีการสร้างมณฑปขึ้นเพื่อครอบโบราณสถานลายพระหัตถ์ส่วนฐานแห่งนี้ แต่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป ในปี 2473 จึงได้มีการสร้างมณฑปใหม่ขึ้นมาทดแทนมณฑปเดิม โดยมณฑปหลังใหม่นี้สร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลวดลายปูนปั้นรูปครุฑ ลายดอกไม้ ฯลฯ ดูสวยงาม
ภายในมณฑปของโบราณสถานลายพระหัตถ์แห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และแท่นหินศิลาที่จารึกพระปรมาภิไธยไว้ นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาเที่ยวชมกันได้นะคะ
|
โบราณสถานหลุมเมือง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
โบราณสถานปริศนาที่ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้แน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลกลใด ?
|
"โบราณสถานหลุมเมือง" เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่แปลกประหลาด ลักษณะจะเป็นหลุมขนาดต่าง ๆ เจาะลึกลงไปในพื้นศิลาแลงธรรมชาติ ไม่ปรากฎว่าโบราณสถานหลุมเมืองเกิดขึ้นในสมัยใด หรือสร้างขึ้นเพื่ออะไร แต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสโบราณสถานหลุมเมืองนั้นมีพระราชสันนิษฐานว่าอาจเป็นหลุมสำหรับโขลกปูนที่จะปั้นลวดลายประดับปราค์หรือไม่ และอีกทางหนึ่งสำหรับคำบอกเล่าจากคนรุ่นเก่าเชื่อว่าเป็นหลุมสำหรับเล่นกีฬาพื้นบ้านของคนสมัยก่อน
|
แท่งศิลาแลงทรงกลมสกัดเป็นรูปเชิงบาตร สัญลักษณ์ของ "โบราณสถานพานหิน"
|
|
รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสโบราณสถานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2451
|
"โบราณสถานพานหิน" ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโคกขวาง ตำบลหนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังโบราณสถานพานหินแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างยาวด้านละ 15.5 เมตร สูง 3.5 เมตร มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ที่มุขด้านทิศเหนือมีร่องรอยหลุมเสา นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าอาจเป็นเสาบันไดไม้ขึ้นตัวอาคารของโบราณสถานพานหิน ด้านบนของอาคารพบหลุมเสาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเสาของอาคารเครื่องไม้มุงหลังคา และพบแท่งศิลาแลงทรงกลมสลักเป็นรูปเชิงบาตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสโบราณสถานพานหินแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2451 ทรงสันนิษฐานว่าแท่งศิลาแลงทรงกลมบนตัวอาคารนั้นน่าจะเป็นฐานเทวรูป ซึ่งเมื่อได้มีการขุดแต่งทางโบราณคดีในสมัยต่อ ๆ มา ณ โบราณสถานพานหินแห่งนี้ ในปี พ.ศ.ได้พบชิ้นส่วนปะติมากรรมพระกรซ้ายทรงสังข์ ที่น่าจะเป็นพระกรของพระนารายณ์ ซึ่งตรงกับที่พระองค์สันนิษฐานไว้ จึงเชื่อกันว่าโบราณสถานพานหินแห่งนี้ เคยเป็นศาสนสถาน หรือเทวสถานในศาสนาฮินดู มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 14 ซากโบราณสถานหรือโบราณวัตถุนั้น มองเผิน ๆ เหมือนกับซากปรักหักพังทั่วไป เป็นเพียงก้อนอิฐก้อนหินเก่า ๆ แต่ลึก ๆ ลงไปแล้วทุกชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นมาเป็นโบราณสถานแห่งนี้แฝงไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศิลปะอันล้ำค่าที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนกันได้ ดังนั้นพวกเรานักท่องเที่ยวจึงควรช่วยกันดูแลรักษาไว้
การเดินทางสู่โบราณสถานลายพระหัตถ์ โบราณสถานหลุมเมือง โบราณสถานพานหิน : โบราณสถานลายพระหัตถ์ อยู่เลยจากที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิไปทางบ้านโคกขวาง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยอยู่เยื้องทางเข้าโบราณสถานหลุมเมือง สำหรับโบราณสถานพานหิน อยู่เลยจากที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิไปทางบ้านโคกขวางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “โบราณสถานลายพระหัตถ์-โบราณสถานหลุมเมือง-โบราณสถานพานหิน” เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
|