ล่องแก่งลำน้ำเข็ก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก (ดูภาพด้านล่าง)
.....เมื่อฤดูฝนมาเยือน.....หลาย ๆคนอาจบ่นว่าหาสถานที่ท่องเที่ยวได้ยากลำบาก เดินทางไปที่ไหนแต่ละครั้งก็ต้องคอยกังวลว่าตนเองจะเปียกปอนเปรอะเปื้อน จนบางครั้งทำให้รู้สึกพาลไม่อยากจะออกจากบ้านไปไกล ๆ หันมาตัดสินใจนอนผึ่งพุงดูโทรทัศน์.....ยัดอาหารส่วนเกินเข้าปาก.....ตากแอร์.....แช่จมอยู่กับที่นอน.....จนคล้ายกับสุกร(หมู)ขึ้นอืดเข้าไปทุกขณะ.....แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมิอยากเป็นเยี่ยงนี้ แต่ก็เหมือนกับชีวิตมันไม่มีหนทางเลือก?
ด้วยเหตุผลว่าสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนนั้นหาพบเจอได้ไม่ง่ายนัก และเหล่าทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ผู้สุดแสนน่ารักก็ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้ผู้มีอุปการคุณทุก ๆ ท่านได้รับทราบเป็นอย่างดี ในครั้งนี้พวกเราจึงขออาสานำพาทุก ๆ ท่านมาทำความรู้จักกับ “ลำน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก” ลำน้ำสีโคลนอันเชี่ยวกรากซึ่งเป็นแหล่งล่องแก่งเรือยางเลื่องลือชื่อของเมืองสองแคว รวมถึงขออนุญาตนำเสนอ “ทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก ราคาประหยัด” ฝากเอาไว้ในอ้อมใจ เพื่อให้พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนพ้อง ลุงป้า น้าอา มีทางเลือกสำหรับชีวิตมากไปกว่าการนอนเพิ่มขนาดห่วงยางหน้าท้องอยู่กับบ้านเฉย ๆ อีกทางหนึ่ง
|
..........เตรียมตัวลุย "ล่องแก่งลำน้ำเข็ก".......... |
“ลำน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก” หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “แม่น้ำวังทอง” มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลเรื่อยมาทาง อ.เขาค้อ(จ.เพชรบูรณ์) แล้วผ่านเข้าสู่ จ.พิษณุโลกทางด้าน อ.วังทอง เลาะเลียบขนานเคียงคู่ไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) หลังจากนั้นก็ไหลลงสู่ทิศใต้ผ่านเขต อ.บางกระทุ่ม(จ.พิษณุโลก) ต่อไปจนถึง อ.เมือง จ.พิจิตร รวมความยาวของลำน้ำเข็กทั้งหมดประมาณ 135 กม. ในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อนนั้นน้ำในลำน้ำเข็กจะมีสีเขียวค่อนข้างใสและไหลเอื่อยตามปริมาณน้ำที่ลดลง ส่วนช่วงฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำมาก น้ำในลำนำเข็กจะไหลแรงและเป็นสีน้ำตาลเข้มเนื่องจากตะกอนดินโคลนถูกพัดพาขึ้นมายังพื้นผิวน้ำ ในช่วงฤดูฝนนี้เองที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากจากหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยจะหลั่งไหลกันมายัง ลำน้ำเข็ก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อร่วมสนุกกับกิจกรรมล่องแก่งบนสายน้ำที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศแห่งนี้
|
ตอนนี้ยังเริงร่า.....อีกเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน...ฮึ.....ฮึ..
|
กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็กนั้นจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน – ตุลาคมของทุก ๆ ปี นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการทำกิจกรรมล่องแก่งนอกจากจะต้องว่ายน้ำเป็นแล้ว ยังต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวให้เหมาะสม รวมทั้งต้องมีวินัยในการรับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำ/คำสั่งของต้นหน – นายท้ายเรืออย่างเคร่งครัดเพื่อมิให้เกิดอันตรายขึ้นแก่ตนเองและเพื่อน ๆร่วมเรือคนอื่น ๆในขณะล่องแก่งด้วย (อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะล่องแก่ง เช่น โดนกิ่งไม้ดีดเข้าใส่ตา – ใบหน้า , ไม้พาย/ด้ามพายฟาดโดนตนเอง – บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ , ตกเรือ , เรือยางพลิกคว่ำ เป็นต้น) โดยปกติผู้ประกอบกิจการล่องแก่งทุก ๆรายจะมีวิทยากรอธิบายถึงวิธีการล่องแก่งที่ถูกต้อง วิธีปฏิบัติตนเมื่อนักท่องเที่ยวตกเรือ/เรือยางพลิกคว่ำ รวมถึงมีการซักซ้อมความเข้าใจ – ความพร้อมในการกระทำตามคำสั่งต่าง ๆซึ่งเกี่ยวข้องกับการล่องแก่ง (คำสั่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการล่องแก่ง เช่น พาย , ทวน , เก็บพาย , หมอบ , เอนตัว ฯลฯ) อีกทั้งยังมีการตรวจสอบวิธีสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวให้เหมาะสมก่อนที่จะปล่อยเรือยางออกจากท่าน้ำอยู่แล้ว
|
..........กรี๊ด.....ด....ด..ด.ด.....พ่อแก้ว แม่แก้ว ช่วยหนูด้วย !!.......... |
|
"ลำน้ำเข็ก" กับ สายน้ำสีโคลนอันเชี่ยวกราก |
ปัจจุบันองค์กรการกีฬาหลายแห่งได้ทำการจัดแบ่ง “ระดับความยากง่ายของลำน้ำ (Scale of River Difficulty)” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ระดับความยากง่ายของแก่ง” ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเกณฑ์บ่งชี้ถึงระดับความปลอดภัยของลำน้ำช่วงนั้น ๆ รวมทั้งทักษะความชำนาญที่นักกีฬาทางน้ำ/ต้นหน/นายท้ายจำเป็นต้องมีเพื่อนำพาหนะผ่านลำน้ำช่วงนั้น ๆ ไปให้ได้ (“ระดับความยากง่ายของลำน้ำ” หรือ “ระดับความยากง่ายของแก่ง” ไม่ได้ถูกจัดแบ่งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะกับกิจกรรมล่องแก่งเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้กับกีฬาทางน้ำประเภทอื่น ๆ อีกด้วย เช่น Riverboarding , พายเรือคายัก , พายเรือแคนู , เป็นต้น) เกณฑ์ “ระดับความยากง่ายของลำน้ำ” หรือ “ระดับความยากง่ายของแก่ง” จะช่วยบ่งบอกถึงรายละเอียดคราว ๆ ของปริมาณสิ่งกีดขวางต่าง ๆภายในทางไหลของลำน้ำ , จำนวนและความสูงของคลื่นบนพื้นผิวน้ำ , การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของทิศทางกระแสน้ำในพื้นที่เฉพาะจุด , ระดับความสูงต่ำและความยาวของแก่ง ,ฯลฯ แต่การจัดแบ่งเกณฑ์ดังกล่าวนี้อาจแตกต่างกันไปได้ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งยังอาจจะแตกต่างกันไปตามทักษะ – ประสบการณ์ของนักกีฬาผู้ซึ่งทำหน้าที่จัดแบ่งระดับอีกด้วย
|
..........หัวหดกันหมดเลยนะ.....ตัวเอง..........
|
สำหรับเกณฑ์ที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมจะขอยกมาอธิบายประกอบความเข้าใจในการล่องแก่งช่วงต่าง ๆของลำน้ำเข็กนั้น ได้แก่ “เกณฑ์ระดับความยากง่ายของลำน้ำสากล (International Scale of River Difficulty)” ซึ่งได้ทำการจัดแบ่งระดับความยากง่ายของลำน้ำออกเป็น 6 ระดับ มีรายละเอียดโดยย่อดังต่อไปนี้
ระดับ 1 ลำน้ำมีคลื่นขนาดเล็ก สามารถมองเห็นเส้นทางด้านหน้าได้ชัดเจน ไม่มีสิ่งกีดขวางทางไหลของกระแสน้ำที่สำคัญ ๆ
ระดับ 2 กระแสน้ำไหลเร็วและแรงขึ้นแต่ยังสามารถมองเห็นเส้นทางด้านหน้าได้ชัดเจน ลำน้ำมีคลื่นขนาดกลาง นักกีฬา/ต้นหน/นายท้ายซึ่งจะนำพาหนะผ่านลำน้ำช่วงนี้ต้องเคยมีประสบการณ์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ต้องมีความพร้อมและเหมาะสม
ระดับ 3 กระแสน้ำไหลเร็ว มีคลื่นสูงไม่สม่ำเสมอจำนวนมาก มีโขดหินและน้ำวนในบางจุด บางช่วงทางไหลของกระแสน้ำแคบแต่ยังคงสามารถมองเห็นเส้นทางด้านหน้าได้ชัดเจน นักกีฬา/ต้นหน/นายท้ายต้องมีความชำนาญในการนำพาหนะหลบหลีกสิ่งกีดขวาง รวมถึงต้องมีความสามารถในสั่งการให้ผู้ร่วมทีมปฏิบัติตามอย่างเหมาะสมเพื่อนำพาหนะผ่านลำน้ำช่วงนั้น ๆ ไปให้ได้
ระดับ 4 กระแสน้ำไหลเร็ว มีคลื่นสูงไม่สม่ำเสมอจำนวนมาก แก่งยาว มีโขดหินที่อาจก่อให้เกิดอันตราย มีแอ่งน้ำวนรุนแรงคล้ายน้ำเดือด แม้แต่เส้นทางซึ่งผ่านได้ง่ายที่สุดก็ยังถือว่ายากสำหรับมือใหม่ การจะนำพาหนะผ่านลำน้ำช่วงนี้ไปได้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของนักกีฬา/ต้นหน/นายท้าย และความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำสั่งอย่างแข็งขันของผู้ร่วมทีม (เช่น บอกให้พายต้องพาย บอกให้ทวนต้องทวน ไม่ใช่นั่งชมนก.....ชมไม้.....ชมสายน้ำอยู่เฉย ๆ นะครับ)
ระดับ 5 กระแสน้ำไหลรวดเร็ว รุนแรง แก่งยาว มีคลื่นสูงไม่สม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดระยะของลำน้ำ มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำอย่างฉับพลันทันที บางจุดพาหนะอาจทิ้งตัวจากลำน้ำระดับสูงกว่าลงสู่เบื้องล่างอย่างรุนแรง มีโพรงน้ำวนคล้ายน้ำเดือด ผู้เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน – รักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเนื่องจากพาหนะมีโอกาสพลิกคว่ำกลางลำน้ำ
ระดับ 6 ในอดีตเคยได้รับการนิยามว่าเป็นลำน้ำซึ่งมีระดับความอันตรายสูงจนพาหนะชนิดใด ๆ ก็ไม่สามารถล่องผ่านได้ แต่ปัจจุบันมีนักกีฬาพายเรือคายักหลายคนทั่วโลกสามารถล่องเรือผ่านลำน้ำความยากระดับ 6 นี้ได้อย่างปลอดภัย จึงทำให้มีการนิยามลำน้ำความยากระดับ 6 นี้ใหม่ว่าเป็นลำน้ำซึ่งมีระดับความอันตรายสูงจนไม่เหมาะสมกับกิจกรรมล่องแก่งด้วยเรือยางแทน
|
.....เอ้า !!...เรือหมุนแล้ว อย่าอู้ !!.....ช่วยกันพายเข้าพี่น้อง !!.....
|
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจเกณฑ์ระดับความยากง่ายของลำน้ำกันไปเบื้องต้นแล้ว ลองมาติดตามดูว่าลำน้ำเข็กนั้นมีแก่งอะไรที่น่าสนใจบ้าง และแต่ละแก่งมีความยากง่ายในระดับใด?
ช่วงของลำน้ำเข็กที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ นิยมพานักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมล่องแก่งนั้นจะเริ่มต้นขึ้นจาก “ท่าน้ำบ้านท่าข้าม” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง “ทรัพย์ไพรวัลย์แกรนด์โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท” และ “พนาวัลย์รีสอร์ท” เรื่อยไปจนถึง “น้ำตกแก่งซอง” รวมระยะทางประมาณ 8 กม. ผ่านแก่งสำคัญต่าง ๆ ทั้งหมด 13 – 15 แห่ง เรียงตามลำดับดังนี้
ชื่อแก่ง |
ระดับความยาก |
ชื่อแก่ง |
ระดับความยาก |
1. แก่งท่าข้าม |
1 – 2 |
2. แก่งไทร |
1 – 2 |
3. แก่งเวฟยาว |
2 |
4. แก่งมรดกป่า |
2 – 3 |
5. แก่งปากยาง |
2 – 3 |
6. แก่งหินลาด |
2 – 3 |
7. แก่งสบยาง |
1 – 2 |
8. แก่งรัชมังคลาฯ |
1 – 2 |
9. แก่งซาง |
4 – 5 |
10. แก่งโสภาราม |
4 – 5 |
11. แก่งดงสัก |
1 – 2 |
12. แก่งนางคอย |
4 – 5 |
13. แก่งยาว |
3 – 4 |
14. แก่งวังน้ำเย็น |
1 – 2 |
15. แก่งทับขุนไท |
1 – 2 |
|
|
การที่นักท่องเที่ยวจะได้ล่องแก่งเป็นจำนวนทั้งหมดกี่แห่งนั้นขึ้นอยู่กับโปรแกรมทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็กซึ่งนักท่องเที่ยวเลือกซื้อ ผลการสำรวจของทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมพบว่าผู้ประกอบการทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็กส่วนใหญ่มักจะเลือกจัดให้นักท่องเที่ยวล่องแก่งทั้งหมดไม่เกิน 13 แห่งเท่านั้น (ผู้ประกอบการทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็กบางรายจะส่งนักท่องเที่ยวลงล่องแก่งที่ริมน้ำบ้านท่าข้าม บางรายส่งลงริมตลิ่งก่อนถึงแก่งมรดกป่า บางรายก็ส่งลงบริเวณตลิ่งใกล้กับแก่งปากยาง ส่วนการรับนักท่องเที่ยวขึ้นจากลำน้ำเข็กนั้นผู้ประกอบการส่วนมากจะนำรถมารับนักท่องเที่ยวบริเวณท่าน้ำภายใน “วนธาราเฮลท์รีสอร์ทแอนด์สปา” หรือ ริมตลิ่งใกล้ ๆ กับน้ำตกแก่งซอง ทำให้จำนวนแก่งที่นักท่องเที่ยวได้ลงล่องแตกต่างกันไปตามผู้ประกอบการแต่ละรายครับ)
|
บางช่วงสายน้ำก็ไหลเอื่อย บางช่วงสายน้ำก็ไหลเชี่ยว แต่ก็รวมเป็นหนึ่งเดียวอยู่ใน "ลำน้ำเข็ก" |
|
..........ได้ลุ้น.....ได้พัก.....ได้รู้สึกรักชีวิตมากขึ้น (เพราะกลัวจะเสียชีวิต).......... |
|
.........."ล่องแก่งลำน้ำเข็ก" กิจกรรมส่งเสริมความสามัคคีที่ไม่ควรพลาด.......... |
ความสนุกของการล่องแก่งลำน้ำเข็กนั้นอยู่ตรงที่นักท่องเที่ยวจะได้พบกับประสบการณ์ล่องแก่งแบบครบรสตั้งแต่แก่งง่าย ๆ ซึ่งก่อความสั่นสะเทือนให้กับเรือยางเบา ๆคล้ายนั่งรถยนต์ผ่านถนนลูกรัง ไปกระทั่งถึงแก่งยาก ๆที่เรือโยกตัวขึ้นลงกระแทกกับผืนน้ำอย่างรุนแรงสร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวให้แก่ผู้โดยสารเป็นอย่างยิ่ง (ขณะล่องผ่านแก่งยาก ๆ นักท่องเที่ยวจะต้องใช้ขายึดกับลำเรือเอาไว้ให้ดีตามที่วิทยากรแนะนำและได้ทำการซักซ้อมไว้ตั้งแต่ก่อนปล่อยเรือยางออกจากท่า หากมัวแต่สนุกสนานเพลิดเพลินจนประมาทเกินเหตุก็อาจโดนแรงเหวี่ยงของเรือและกระแสน้ำซัดผลัดตกจากที่นั่งลงไปในลำน้ำเข็กได้) นอกจากนี้ยังมีบางช่วงของลำน้ำเข็กที่น้ำไหลเอื่อยเป็นระยะทางยาวจนนักท่องเที่ยวสามารถทิ้งตัวจากเรือยางลงมาดำผุดดำว่ายท่ามกลางสายน้ำสีโคลนได้อย่างปลอดภัย เรียกว่าได้สนุกสนานทั้งล่องแก่งทั้งว่ายน้ำกันอย่างจุใจเลยทีเดียว
|
ช่วยกันพาย..ช่วยกันจับ.....ประคับประคองกันไป
|
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยล่องแก่งมาก่อนแต่อยากจะสัมผัสกับประสบการณ์อันสุดแสนเร้าใจบนสายน้ำเชี่ยว ณ ลำน้ำเข็ก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าเพียงแค่คุณสามารถว่ายน้ำเป็น มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เชื่อฟังและทำตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในการล่องแก่งต่าง ๆอย่างเคร่งครัดก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็กได้อย่างแน่นอน..........หากคุณเป็นคนหนึ่งซึ่งรักการผจญภัยแล้วล่ะก็ ลองหาโอกาสมาล่องแก่งลำน้ำเข็ก..........ลำน้ำที่ขึ้นชื่อว่าล่องแก่งได้สนุกเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยแห่งนี้ดูสักครั้งครับ
|
..........โลดโผนกระโจนลงแก่ง..........
|
การเดินทางสู่จุดล่องแก่งลำน้ำเข็ก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก :
รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จุดลงล่องแก่งลำน้ำเข็ก (บ้านท่าข้าม) จะอยู่บริเวณ กม.50 – 52 (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำให้เลือกซื้อโปรแกรมทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็กล่วงหน้าแล้วนัดให้รถของผู้ประกอบการไปรับ – ส่ง ณ รีสอร์ทที่นักท่องเที่ยวเลือกพักจะดีกว่า เนื่องจากบริเวณจุดลงล่องแก่งจะไม่มีเคาน์เตอร์ทัวร์ของบริษัทใดตั้งอยู่เลยแม้แต่แห่งเดียว นักท่องเที่ยวจึงไม่สามารถไปจอดรถแล้วติดต่อซื้อทัวร์เอาเองบริเวณจุดลงล่องแก่งได้ครับ)
รถโดยสารประจำทาง – รถรับจ้าง ขึ้นรถประจำทางสายพิษณุโลก – เพชรบูรณ์ , สายพิษณุโลก – หล่มสัก หรือ สายพิษณุโลก – นครไทย ไปลงด้านหน้ารีสอร์ทที่นักท่องเที่ยวเลือกพักแล้วนัดให้ผู้ประกอบการล่องแก่งลำน้ำเข็กไปรับ – ส่ง ณ รีสอร์ท
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับการล่องแก่งลำน้ำเข็ก คือ ประมาณกลางเดือน มิ.ย. – ต้นเดือน ต.ค. แต่แนะนำให้โทรศัพท์ตรวจสอบระดับน้ำในลำน้ำเข็กกับผู้ประกอบการก่อนถึงกำหนดวันล่องแก่งจริงอย่างน้อย 5 – 7 วัน
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “ล่องแก่งลำน้ำเข็ก” เมื่อเดือน ต.ค. 2553
|
.....แกล้งชูมือบอกว่าสบายดี ทั้ง ๆที่(..เซ็นเซอร์..)เกือบจะราด ?.....
|
รีสอร์ท/ที่พักใกล้จุดล่องแก่งลำน้ำเข็ก : เรนฟอร์เรสท์ , วนธารา , ทรัพย์ไพรวัลย์ , พนาวัลย์
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง >> : ที่พัก/รีสอร์ทใน จ.พิษณุโลก
โปรแกรมทัวร์ใน จ. พิษณุโลก >> : ทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็ก ราคาประหยัด
โทรศัพท์ติดต่อจองโปรแกรมทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็ก ราคาประหยัด : (089) 137-8702 ,
(084) 145-0957 , (084) 360-2913 หรือ (02) 928-2167 Fax. (02) 980-4455
|