สวนรุกขชาติสกุโณทยาน อ.วังทอง จ.พิษณุโลก (ดูภาพด้านล่าง)
“สวนรุกขชาติสกุโณทยาน” คือ สวนป่าซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองพิษณุโลกมาช้านาน พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเนินเขา มี “ลำน้ำเข็ก” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่น้ำวังทอง” ไหลผ่านทางด้านทิศใต้ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 814 ไร่ เดิมทีสวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “วนอุทยานวังนกแอ่น” โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นวนอุทยานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 – 2498 (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสวนอุทยานวังนกแอ่นแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนาม “สกุโณทยาน” แทนคำว่า “วังนกแอ่น” ซึ่งเคยใช้อยู่เดิม แต่นั้นมาวนอุทยานวังนกแอ่นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานสกุโณทยาน”
|
เส้นทางสู่ "สวนรุกขชาติสกุโณทยาน" แหล่งศึกษาธรรมชาติใกล้ตัวเมืองพิษณุโลก
|
ในปี พ.ศ. 2504 กรมป่าไม้ได้เปลี่ยนชื่อวนอุทยานฯเป็น “สวนรุกขชาติสกุโณทยาน” เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจัดการทางวิชาการ ภายในสวนรุกขชาติสกุโณทยานมีสิ่งที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. น้ำตกสกุโณทยาน เป็นน้ำตกชั้นเดียวขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 60 เมตร และเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำเข็ก (ตัวน้ำตกกั้นขวางตลอดแนวความกว้างของลำน้ำเข็ก) เดิมน้ำตกแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “น้ำตกวังนกแอ่น” ต่อมาภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อไปตามชื่อของวนอุทยานฯ (เมื่อปี พ.ศ. 2501) น้ำตกสกุโณทยานมีน้ำไหลตลอดทั้งปีโดยในช่วงฤดูฝนสายน้ำจะไหลแรงและเป็นสีน้ำตาลขุ่นไม่เหมาะแก่การลงเล่น (อาจเกิดอันตรายจากการลงเล่นน้ำตกถึงขั้นเสียชีวิตได้) ส่วนในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อนสายน้ำจะไหลช้าลงเป็นสีเขียวค่อนข้างใส นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำตามแก่งต่าง ๆ ซึ่งอยู่ห่างออกมาทางส่วนปลายของตัวน้ำตกได้อย่างปลอดภัย ในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์อื่น ๆจะพบเห็นนักท่องเที่ยวพาครอบครัว – เพื่อนฝูงมานั่งปูเสื่อรับประทานอาหารอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมแก่งเป็นกลุ่ม ๆ
นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถบริเวณลานจอดแล้วเดินไปถึงตัวน้ำตกสกุโณทยานได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที
|
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" เคยเสด็จประพาสสถานที่แห่งนี้
(ภาพขวามือสุด คือ พลับพลารับเสด็จ) |
2. พลับพลารับเสด็จ และ ศาลาวนาศัย กรมป่าไม้ได้จัดสร้างอาคารทั้ง 2 หลังขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาส
“วนอุทยานสกุโณทยาน” ปี พ.ศ. 2501 นักท่องเที่ยวสามารถยืนชมทิวทัศน์ของน้ำตกสกุโณทยานและสองฟากฝั่งของลำน้ำเข็กจาก “ศาลาวนาศัย” ได้ค่อนข้างชัดเจน สำหรับ “พลับพลารับเสด็จ” นั้นปัจจุบันทางสวนรุกขชาติสกุโณทยานได้จัดทำรั้วกั้นเอาไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปภายในพลับพลาเรียบร้อยแล้ว
พลับพลารับเสด็จ และ ศาลาวนาศัยตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกสกุโณทยาน นักท่องเที่ยวสามารถสังเกตเห็นอาคารทั้งสองหลังดังกล่าวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
|
"น้ำตกสกุโณทยาน" อีกหนึ่งน้ำตกสวยที่วางตัวกั้นขวางทางไหลของลำน้ำเข็ก
|
3. สวนไม้วรรณคดี , สวนสมุนไพร และ สวนไม้หอม ทางสวนรุกขชาติสกุโณทยานได้ทำการจัดสร้าง “สวนไม้วรรณคดี” , “สวนสมุนไพร” และ “สวนไม้หอม” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ – ศึกษาพันธุ์พืชของชุมชน มีการรวบรวมพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สำคัญของไทยนำมาปลูกไว้อย่างเป็นระบบ ติดตั้งป้ายให้ความรู้บอกชื่อ สายพันธุ์ และคุณประโยชน์ของพืชชนิดนั้น ๆ เอาไว้โดยสังเขป ตัวอย่างพืชพันธุ์ไม้ที่สามารถพบเห็นได้ภายในสวนรุกขชาติสกุโณทยาน เช่น กฤษณา , การะเวก , ทรงบาดาล , นนทรี , บุนนาค , พิกุล , มณฑา(ยี่หุบ) , สารภี , ลำดวน , ฯลฯ ใครที่อยากเห็นพันธุ์ไม้ชื่อไพเราะหน้าตาแปลก ๆ ก็ลองแวะมาดูได้
|
...............แก่งน้อยใหญ่ใน "สวนรุกขชาติสกุโณทยาน"...............
|
4. เส้นทางศึกษาธรรมชาติสกุโณทยาน สำหรับผู้ซึ่งชื่นชอบการปล่อยอารมณ์.....เอ้อระเหย.....ชมนก.....ชมไม้.....เดินลอยชายสบาย ๆ กลางผืนป่า สวนรุกขชาติสกุโณทยานได้จัดเตรียม “เส้นทางศึกษาธรรมชาติสกุโณทยาน” ระยะทางประมาณ 1.15 กม.เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวเดินออกกำลังกายเบา ๆ พร้อมกับเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องระบบนิเวศน์ ภายในเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้พบกับสถานีย่อยต่าง ๆ รวมทั้งหมด 17 แห่ง อาทิเช่น โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก , มะม่วง 3 คนโอบ , บ้านในต้นไม้ , นักบุญแห่งป่า.....นักฆ่าเลือดเย็น , สวนสยามของสัตว์ป่า เป็นต้น .....น่าเสียดายที่แผ่นป้ายอธิบายความรู้ตามสถานีบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติบางส่วนได้รับความเสียหายไปตามกาลเวลาบ้างแล้ว
|
....................ป่าอยู่เคียงคู่น้ำ.................... |
|
บ่อน้ำสีโคลน.....สระน้ำพุ และ ศาลาวนาศัย |
แม้ว่าพื้นที่โดยรอบสวนรุกขชาติสกุโณทยานจะมีความร่มรื่น สวยงาม แต่ก็ยังไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งโดดเด่นเพียงพอจะดึงดูดให้ผู้คนต่างถิ่นแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก (จากการสังเกตป้ายทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ภายในลานจอดรถของสวนรุกขชาติสกุโณทยาน ส่วนมากจะเป็นป้ายทะเบียนพิษณุโลก มีรถป้ายทะเบียนจังหวัดอื่น ๆน้อยครับ) ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) แนะนำว่า หากคุณไม่ใช่ผู้ซึ่งชื่นชอบการท่องเที่ยวน้ำตก หรือการท่องเที่ยวศึกษาพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เป็นชีวิตจิตใจแล้วล่ะก็ การตั้งใจเดินทางไกลเพื่อมาท่องเที่ยว ณ สวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้เป็นการเฉพาะอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกซึ่งคุ้มค่าสักเท่าไหร่นัก [แต่ในกรณีที่คุณมีโอกาสเดินทางมาล่องแก่งลำน้ำเข็ก , มาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หรือว่ามีโอกาสใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถยนต์ส่วนบุคคลมุ่งหน้าจาก อ.วังทอง จ.พิษณุโลกไปพักผ่อนยัง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ล่ะก็ การจัดสวนรุกขชาติสกุโณทยานรวมเข้าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวตามโปรแกรมด้วย.....ก็ถือว่าเป็นทางเลือกซึ่งน่าจะเหมาะสมครับ]
การเดินทางสู่สวนรุกขชาติสกุโณทยาน :
รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 33กม. จะเห็นป้ายสวนรุกขชาติสกุโณทยานอยู่ทางด้านขวามือ สามารถขับรถยนต์เข้าไปในบริเวณลานจอดใกล้ ๆ กับตัวน้ำตกได้
รถโดยสารประจำทาง – รถรับจ้าง ขึ้นรถประจำทางสายพิษณุโลก – เพชรบูรณ์ , สายพิษณุโลก – หล่มสัก หรือ สายพิษณุโลก – นครไทย ไปลงด้านหน้าสวนรุกขชาติสกุโณทยาน
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปีแต่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม คือ กลางเดือน พ.ย. – ต้นเดือน ก.พ. (ช่วงฤดูหนาว คือ ช่วงที่สวนรุกขชาติสกุโณทยานมีความสวยงามมากที่สุด)
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “สวนรุกขชาติสกุโณทยาน” เมื่อเดือน ต.ค. 2553
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง >> : ที่พัก/รีสอร์ทใน จ.พิษณุโลก
โปรแกรมทัวร์ใน จ. พิษณุโลก >> : ทัวร์ล่องแก่งลำน้ำเข็ก
|