โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี (ดูภาพด้านล่าง)
ในอดีตการรักษาโรค การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องของครอบครัวหรือเพื่อนบ้านในชุมชน การดูแลรักษาจึงเน้นการดูแลตนเอง การใช้ทรัพยากรสมุนไพรพื้นบ้าน ผสมผสานความรู้ของภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบันความเจริญต่าง ๆ เข้ามาแทนที่ ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านซึ่งรวมถึงเรื่องของการรักษาโรคและดูแลสุขภาพ จากเดิมเริ่มจากการดูแลตนเองก่อน หลังจากนั้นหากเกินความสามารถแล้วจึงจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล กลับกลายเป็นไม่ว่าจะป่วยน้อย ป่วยมากก็จะผลักภาระการดูแลของตนเองทั้งหมดไปให้กับหมอในโรงพยาบาล ต้องการยารักษาโรคนั้นโรคนี้ที่มากเกินความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่บางอาการเจ็บป่วยหรือบางโรคนั้นสามารถใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ในประเทศของเราอยู่แล้ว ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการรณรงค์ให้นำสมุนไพรท้องถิ่นมาใช้ในการรักษาโรค โดยนำสมุนไพรมาผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อความสะอาดปลอดภัย ซึ่งโรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับแนวทางในการรักษานำสมุนไพรมาใช้คือ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี”
|
.........................ชีวิตเล็ก ๆ ในสวนสมุนไพร.........................
|
|
รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452
|
มาทำความรู้จักโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกันเถอะ
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2452 โดยท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เพื่อใช้ในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะได้เสด็จฯ มายังโรงพยาบาลแห่งนี้ ต่อมาตึกนี้ได้ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2455 และเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ ตึกหลังนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และพระองค์ได้มอบตึกหลังงี้ในกับทางราชการเมื่อปี 2482 และได้กลายเป็นตึกผู้ป่วยที่สวยงามที่สุดจนถึงปี 2512 ในสมัยนายแพทย์สุจินต พลานุกูล ได้ทำการบูรณะและจะเปิดใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น ต่อมาได้มีการบูรณะตึกครั้งใหญ่ในปี 2537 โดยงบประมาณจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 2.5 ล้านและคุณป้าจรวย ประสมสิน อีก 1 แสนบาทเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
|
.........................ภายใน "ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร".........................
|
|
รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2543 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม
ในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ เครื่องรับประกันความงดงามของตึกหลังนี้
|
พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรมีอะไรบ้าง ?
- ส่วนจัดแสดงชั้นล่าง
1.ห้องแนะนำพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
2.ห้องประวัติศาสตร์ แสดงประวัติความเป็นมาการสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาการใช้ประโยชน์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าความงามทางสถาปัตยกรรมของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
3.ห้องท้องพระโรง จัดแสดงความงามทางสถาปัตยกรรมของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
4.ร้านขายยาไทย โพธิ์เงิน – อภัยภูเบศร โอสถ
5.คลินิกการแพทย์แผนไทยเพื่อการวิจัย
6.ห้องยาไทย จัดแสดงเรื่องราวของไม้กฤษณา สมุนไพรเก่าแก่ที่สัมพันธ์กับจังหวัดปราจีนบุรี และการแสดงทำยา 28 วิธี
7.สำนักงาน
|
.........................ห้องประวัติศาสตร์.........................
|
|
ผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะในยุคบาโรค (Baroque)
|
- ส่วนจัดแสดงชั้นบน
8.ห้องปูมเมืองปราจีน จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมา พัฒนาการของจังหวัดปราจีนบุรี
9.ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร จัดแสดงประวัติการพัฒนาสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ
10.ห้องประวัติโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดแสดงประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
11.ห้องโถงกลาง
12.ห้องประชุม
13.ห้องอเนกประสงค์
|
ห้องท้องพระโรง และ ทางเดินซึ่งเชื่อมต่อไปยังสวนสมุนไพรด้านหลัง "ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร"
|
|
...............ร้านขายยาไทย "โพธิ์เงิน - อภัยภูเบศร โอสถ" ในแสงสลัว...............
|
ความงามทางสถาปัตยกรรมของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
- ภาพลายปูนปั้น
ลักษณะสถาปัตยกรรมของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นสถาปัตยกรรมเลียนแบบ บาร็อค (Baroque) ของฝรั่งเศสซึ่งพัฒนาไปสู่ศิลปะแบบโรโกโก (rococo) ลวดลายปูนปั้นส่วนใหญ่เป็นลวดลายขนาดเล็กอ่อนไหว เช่น ลวดลายที่หน้าบัน ทำเป็นลายปูนปั้นรูปกระถางต้นปาล์ม นอกจากนี้ซุ้มประตูหน้าต่าง ขื่อ คาน เสา และกรอบประตูหน้าต่าง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายใบไม้ แสดงความเคลื่อนไหวด้วยการงอหรือม้วน ลายดอกไม้ ลายรูปหน้าคน ลายเปลือกหอย ฯลฯ
มีเพียงลายปูนปั้นที่เสาใต้หน้าบันเท่านั้นที่มีสัญลักษณ์ความเป็นไทย คือทำเป็นรูปช้าง ภายในห้องมีลายปูนปั้นประดับตามหัวเสา ทวยรับคานเหนือกรอบประตูหน้าต่างเป็นลายหน้าคน ลายแจกัน ลายใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ เสาภายในอาคารเป็นเหลี่ยมเซาะร่อง หัวเสาประดับลายปูนปั้น จากห้องโถงกลางมีประตูไปยังห้องข้าง ๆ ได้ทั้งสองข้าง ส่วนด้านหลังมีประตูออกไปยังห้องโถงยาว ด้านหลังเป็นบันไดเวียนทำด้วยไม้ขึ้นสู่ชั้นบน ห้องน้ำและห้องเก็บของ
- ประตูทางเข้าห้องโถง
ภายในตัวอาคารเมื่อผ่านประตูหน้าเข้ามามีระเบียงขนาดใหญ่ เสาเป็นซุ้มวงโค้งอาเขตเป็นช่วง ๆ หน้าต่างตามแนวตอนบนเป็นช่องแสงติดกระจกสี ตัวบานหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ ถัดจากระเบียงเข้าประตูห้องโถงกลาง บานประตูเป็นไม้แกะสลัก เหนือประตูเป็นช่องแสง ช่องลมรูปครึ่งวงกลมทำเป็นไม้ฉลุลวดลายดอกไม้ใบไม้ทั้งที่บานประตูและบานหน้าต่าง ภายในอาคารติดกลอนทองเหลืองมีลวดลายงดงาม (ลายพิณ เหลือเพียงสองอันที่โถงด้านล่างซ้าย) ขวามือเป็นประตูทางเข้าอาคารผ่านระเบียงทางเดินภายใน ก่อนจะเข้าห้องโถงทางด้านซ้ายมือโดยที่ปลายสุดของระเบียงทางเดิน เป็นบันไดทางขึ้นชั้นบน
- ภาพลายกระเบื้องปูพื้น
ลักษณะเด่นของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นอกจากความงามของขนาด และสัดส่วนของตัวอาคารแล้ว บริเวณพื้นที่ภายในอาคารทั้งชั้นล่างและชั้นบนของทุกห้อง ปูด้วยกระเบื้องโมเสดลวดลายต่าง ๆ งดงามมาก โดยเฉพาะในห้องโถงกลางชั้นล่าง ซึ่งลวดลายต่าง ๆ เป็นลายเฉพาะ และเป็นลวดลายดั้งเดิมตั้งแต่สร้างตึกขึ้นมา
- ภาพเขียนสีบนเพดานห้อง
ลายภาพเขียนปูนเปียกบริเวณเพดานที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ค้นพบในปี 2537 ขณะที่มีการบูรณะตึกโดยเภสัชกร ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ได้สังเกตเห็นเพดานห้องโถงด้านขวาที่ทาสีขาว ได้หลุดร่อนออกมาประมาณ 10 ซม.ปรากฏลายปูนเปียกที่มีสีสันสวยงาม จึงได้มีการขูดสีที่ทาทับไว้ทั้งตึกออก จากนั้นได้ซ่อมแซมดังที่เห็น
- บันไดและหัวเสาไม้
จากระเบียงด้านหน้าบริเวณหน้าห้องปีกตะวันออก เป็นบันไดขึ้นสู่ชั้นบน ลักษณะเป็นบันไดไม้ มีที่พักเป็นระเบียงขวาง เดิมมีเสาบันไดทำเลียนแบบเสาโรมัน และระเบียงราวบันไดเป็นไม้แกะสลักลวดลาย ที่ปลายเสาเป็นหัวเม็ดแกะสลักลวดลายใบไม้ ชั้นบนของอาคารเหมือนกับชั้นล่าง แต่ช่องแสงช่องลมซุ้มประตูไม้ฉลุลวดลายดอกไม้ใบไม้ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
|
รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครย้อนยุคบางเรื่องด้วยนะ
|
ด้วยความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของในยุคกลางรัตนโกสินทร์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงทำให้ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รับรางวัล อาคารอนุรักษ์ดีเด่น โดยสมาคมสถาปนิกสยามในประบรมราชูปถัมภ์ในปี 2543 โดยได้รับพระราชทานโล่และกิตติบัตรจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การเดินทางสู่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร : จากถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 305 (เส้นรังสิต-องครักษ์-นครนายก) เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 (ไปทางอำเภอปากพลี) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 319 (ไปปราจีนบุรี) เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบท ปจ.2033 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3069 (ถนนปราจีนอนุสรณ์) ถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
|