ไวน์ (Wine)
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic Beverage) สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น อาการเพ้อ , ความจำเสื่อม , กล้ามเนื้อฝ่อ , กระดูกเปราะ , เป็นหมัน , ความดันโลหิตสูง , เลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง , โรคหลอดเลือดหัวใจ , ตับอักเสบ , ตับแข็ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังสร้างความสูญเสียและปัญหาทางสังคมตามมาอีกเป็นจำนวนมาก เช่น อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ – รถยนต์ , การทะเลาะวิวาท , ความร้าวฉานในครอบครัว เป็นต้น ถึงขั้นที่ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ : สสส.” ต้องดันโฆษณาชุด “ ให้เหล้า = แช่ง” ออกมาประชาสัมพันธ์กันยกใหญ่ แต่บรรดาคอทองแดงขาประจำดูเหมือนจะมองว่าโฆษณาชุดนี้เป็นเพียงแค่เรื่องตลกขบขัน แล้วก็ยังคงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความมัวเมาเคล้าเสียงสะอื้นไห้ของคนรอบข้างเหมือนเดิมต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีพิษมีภัยมากมายหลายประการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ปัจจุบันก็ได้มีงานวิจัยและบทความทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวแย้งในมุมกลับว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณระดับปานกลาง (moderate consumption) อาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดลงได้.....โดยเฉพาะการดื่ม “ไวน์ (Wine)”.....
จะจริงหรือเท็จอย่างไร ? เดี๋ยวเราไปดูกัน แต่ก่อนหน้านั้นลองมาอ่านข้อมูลพื้นฐานของไวน์ประกอบความเข้าใจเบื้องต้นก่อนดีกว่า
“ไวน์ (wine)” เป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากกระบวนการหมักบ่มผลไม้ ข้าว หรือพืชพันธุ์อื่นๆ กับเชื้อยีสต์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 9 – 15 จากน้ำหนักทั้งหมด (น้ำหนักที่เหลือส่วนใหญ่เป็นน้ำ) ในต่างประเทศหากใช้คำว่า “ไวน์ (wine)” เฉยๆ จะหมายถึง “เหล้าองุ่น” ส่วนในกรณีที่ต้องการจะกล่าวถึงไวน์ซึ่งได้มาจากกระบวนการหมักบ่มผลไม้ ข้าว หรือพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องใส่ชื่อของวัตถุดิบนั้นๆ นำหน้าคำว่า “ไวน์ (wine)” เสมอ (เช่น apple wine , blackberry wine , barley wine , ginger wine เป็นต้น)
เราอาจแบ่งแยกประเภทของไวน์ออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ “ไวน์ขาว (white wine)” และ “ไวน์แดง (red wine)” โดยไวน์ขาวจะได้มาจากกระบวนการหมักบ่มองุ่นขาวหรือองุ่นแดงที่ลอกเปลือกออกแล้ว ส่วนไวน์แดงนั้นจะได้มาจากกระบวนการหมักบ่มองุ่นที่มีเปลือกสีคล้ำเข้ม
การศึกษาวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าผู้ซึ่งดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลางจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางกลุ่มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม (แพทย์บางท่านให้คำจำกัดความของ “การดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลาง” ว่า ผู้หญิงที่มีสภาวะสุขภาพเป็นปกติควรดื่มไวน์ในปริมาณไม่เกิน 150 มิลลิลิตร/วัน และผู้ชายที่มีสภาวะสุขภาพเป็นปกติควรดื่มไวน์ในปริมาณไม่เกิน 300 มิลลิลิตร/วัน ทั้งนี้ปริมาณของการดื่มไวน์ระดับปานกลางยังสามารถผันแปรไปได้ตามอายุ , เพศ , พันธุกรรม , น้ำหนักตัว , โครงสร้างร่างกาย , อาหารซึ่งรับประทานร่วม , โรคประจำตัว , ฯลฯ) ในทางตรงกันข้าม ผู้ซึ่งดื่มไวน์ปริมาณมากเกินไปก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นคอเมาขามึนทั้งหลายอย่ารีบดีใจด้วยคิดว่าจะดื่มไวน์เท่าไหร่ก็ได้ทีเดียวเชียว
สำหรับผลของไวน์ที่มีต่อภาวะสุขภาพนั้น อาจพอสรุปได้โดยย่อดังต่อไปนี้
1. ระบบกระดูก ผลงานวิจัยจากโรงพยาบาล St.Thomas แห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และผลงานวิจัยจากกลุ่มศึกษาด้านระบาดวิทยาโรคกระดูกพรุนในประเทศฝรั่งเศสพบว่า การดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลางจะช่วยลดการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ในทางตรงกันข้ามการดื่มแอลกอฮอล์ (หมายรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งไวน์ก็ถือเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งด้วยครับ) ปริมาณมากเกินไปจะขัดขวางกระบวนการสร้างเนื้อกระดูก และหากดื่มต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานก็จะเกิดโรคกระดูกพรุนในท้ายที่สุด ทั้งนี้มีข้อสังเกตจากนักวิจัยชาวฝรั่งเศสว่าความสัมพันธ์ระหว่าง “การลดลงของภาวะกระดูกพรุน” กับ “การบริโภคไวน์ในปริมาณระดับปานกลาง” อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากผู้ซึ่งเลือกดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลางมักจะเป็นผู้ที่มีความรู้และฐานะดี มีรูปแบบวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงบริโภคอาหารถูกต้องตามสุขลักษณะ ซึ่งรูปแบบวิถีชีวิตอันเหมาะสมเช่นนี้เองที่มีส่วนช่วยชะลอการเกิดภาวะกระดูกพรุนในกลุ่มศึกษาอยู่แล้ว (การลดลงของภาวะกระดูกพรุนในกลุ่มศึกษาอาจจะไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการดื่มไวน์แต่เพียงอย่างเดียว
2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด สารประกอบภายในไวน์หลายชนิดมีคุณสมบัติในการต้านเกล็ดเลือด (ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด) ทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง นอกจากนี้ยังช่วยให้ความสมดุลระหว่าง LDL – C และ HDL – C ในร่างกายดีขึ้น (LDL – C รู้จักกันในชื่อแบบไทยๆ ว่า “ไขมันเลว” เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักซึ่งก่อให้เกิดภาวะเส้นเลือดแดงตีบ – อุดตัน ส่วน HDL – C รู้จักกันในชื่อแบบไทยๆ ว่า “ไขมันดี” ช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเส้นเลือดแดงตีบตัน) ผู้ซึ่งบริโภคไวน์ในปริมาณระดับปานกลางเป็นประจำจึงเกิดภาวะเส้นเลือดแดงตีบ – อุดตันได้ยากขึ้น แต่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปกลับจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้หากดื่มแอลกอฮอล์ข้ามวันข้ามคืนยังอาจจะทำให้เกิดเส้นเลือดสมองแตกและมีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมองจากฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดสะสมได้อีกด้วย
3. ระบบจิตประสาท การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากส่งผลรบกวนต่อความทรงจำในระยะสั้น (ที่ชอบเรียกกันว่า “เมาไม่รู้เรื่อง” นั่นแหละครับ) หากดื่มต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจะยับยั้งการพัฒนาของเซลล์สมอง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า ขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณระดับปานกลางจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด “โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)” และ “โรคสมองฝ่อ (Demantia)” ลงได้ (บทบาทของไวน์ต่อการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองฝ่อยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจังชัดเจน มีแต่การศึกษาวิจัยภาพรวมเรื่องผลของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการป้องกัน/ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองฝ่อเท่านั้น) แต่หากให้ “ผู้ป่วยซึ่งมีภาวะความรับรู้ผิดปกติ (Cognitive Impairment)” ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณระดับปานกลางเข้าไป แทนที่จะช่วยให้ภาวะความรับรู้ซึ่งผิดปกติดีขึ้นกลับทำให้แย่ลงยิ่งกว่าเดิม
4. โรคมะเร็ง เป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษซึ่งทำลายเซลล์ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้จัดให้แอลกอฮอล์อยู่ใน “สารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 (Group 1 Carcinogen)” จากการศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นงานได้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณระดับปานกลางก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด อาทิเช่น มะเร็งเต้านม , มะเร็งลำไส้ใหญ่ , มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น ส่วนการศึกษาวิจัยเรื่องคุณประโยชน์ของไวน์ต่อการลดอัตราเสี่ยง/ป้องกันโรคมะเร็งนั้นยังมีอยู่น้อย บางงานวิจัยก็เสนอแนะว่าการดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลางอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด , มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ (แต่ก็ไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าการดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลางจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่มะเร็งปอด , มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ?)
5. อื่นๆ นอกเหนือไปจากผลทางด้านสุขภาพต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีรายงานว่าการดื่มไวน์ในปริมาณระดับปานกลางยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 , ชะลอความเสื่อมของศูนย์รวมประสาทตา และช่วยลดโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผลไม่พึงประสงค์จากการดื่มไวน์ที่พบได้อีก เช่น อาการปวดศีรษะ , ทำให้ผู้ซึ่งมีโรคประจำตัวเป็นหอบหือและภูมิแพ้อาการกำเริบ เป็นต้น ใครที่อยากทราบข้อมูลเรื่อง “ผลของไวน์ต่อสภาวะสุขภาพ” มากไปกว่านี้..........กรุณาสืบค้นเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ ได้ตามความสมัครใจ เนื่องจากผู้เขียนบทความเริ่มเมื่อยมือแล้ว..........ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมาจนถึงตรงนี้นะครับ
ปัจจุบันยังคงมีรายงานการศึกษาวิจัยถึง “ผลดี – ผลเสียของการบริโภคไวน์ต่อสภาวะสุขภาพ” ใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งยากที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะยกข้อมูลทั้งหมดมาเขียนในบทความชิ้นนี้ได้ อย่างไรก็ตามหากคุณเป็นผู้ซึ่งต้องการจะดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ.....อย่าลืมศึกษาเปรียบเทียบผลดี – ผลเสียต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วยเสียก่อน มิฉะนั้นคุณอาจต้องเสียเงินในกระเป๋าไปเปล่าๆ เหมือนการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ก็เป็นได้ แต่หากคุณเป็นเพียงแค่ผู้ที่ดื่มไวน์เพื่อความสุนทรีในอารมณ์ , เพื่อผ่อนคลาย , เพื่อระบายความเศร้า , เพื่อเมาหัวราน้ำ , เพื่อตามเข้าสังคม , เพื่อดอมดมกลิ่นองุ่นหมัก หรือ เพื่อให้เพื่อนทักว่าเรารวย ก็คงไม่ต้องสนใจประเด็นเรื่องของสุขภาพสักเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขอเตือนด้วยความปรารถนาดีจากใจจริงว่า
“การดื่มสุราผิดศีล 5 ในศาสนาพุทธ , ผิดบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม และอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ”
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : วิลเลจฟาร์ม แอนด์ ไวน์เนอรี่ (Village Farm & Winery) , โปรแกรม “Farm Stay” โดยวิลเลจฟาร์ม แอนด์ ไวน์เนอรี่
ขอขอบคุณ : ข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการจากวิกิพีเดีย
|