เกาะราวี อ.เมือง จ.สตูล (ดูภาพด้านล่าง)
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อนได้ก่อให้เกิดผลกระทบอันเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหิมะซึ่งตกหนักผิดปกติ , พายุฝนที่โหมกระหน่ำจนบ้านเรือนพังพินาศแถมพ่วงท้ายด้วยอุทกภัยขนานใหญ่ , แผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นถี่และบ่อยยิ่งกว่าเดิม , ภัยแล้งที่เผยตัวออกมาอย่างรวดเร็วหลังจากสิ้นฤดูน้ำหลาก , ฯลฯ ในบรรดาสภาวะอันเลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนว่า “ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว” จะเป็นหนึ่งในสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ลำดับต้นๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังเป็นอย่างมาก
|
กิ่ง.....ก้าน.....ใบ กับ เรือหางยาวริมชายฝั่ง
|
|
ณ ที่แห่งนี้ "เกาะราวี จ.สตูล"
|
“เกาะราวี จ.สตูล” เป็นหนึ่งในบรรดาสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลชื่อดังซึ่งได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2553 จนทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาต้องมีการประกาศปิดจุดดำน้ำตื้นบริเวณด้านหน้า “หาดทรายขาว เกาะราวี” ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2554 ไปจนถึงช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยวกลางเดือน พ.ค. 2554 (คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลการปิดจุดดำน้ำรอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาในช่วงเวลาอื่นๆ ได้ตามเบอร์โทรศัพท์ที่อยู่ทางด้านล่างของบทความชิ้นนี้ครับ)
“ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว” คือ อะไร ? เราจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบของปรากฏการณ์นี้ต่อแนวปะการังได้หรือไม่ ? ลองมาศึกษาข้อมูลทางวิชาการของเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมๆ การสำรวจบรรยากาศโดยรอบ “หาดทรายขาว เกาะราวี” กับทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) กันนะครับ
|
ยามมองฟ้ากว้าง.....ทางไกล.....น้ำใส ในหัวใจรู้สึกเป็นสุข
|
ปะการัง คือ อะไร ?
ถึงแม้จะมีโอกาสได้ดำน้ำดูปะการังสวยๆ มาเยอะแยะมากมายหลากหลายแห่ง แต่นักท่องเที่ยวบางคนก็อาจจะยังไม่รู้จักปะการังดีพอว่า “มัน คือ อะไรกันแน่ ?” แท้จริงแล้วปะการังก็คือ สัตว์ทะเลติดพื้นขนาดเล็กชนิดหนึ่งซึ่งอยู่รวมตัวกันเป็นอาณานิคม (Colony) มีการสร้างหินปูนรูปลักษณะต่างๆ ขึ้นเป็นโครงสร้างที่เกาะอาศัย ปะการังหนึ่งตัวจะมีหนวด 6 หนวดหรือจำนวนทวีคูณของ 6 ใช้จับแพลงตอนเป็นอาหาร แต่โดยปกติแล้วปริมาณพลังงานจากแพลงตอนที่ปะการังจับกินได้เองนั้นจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงทำให้ปะการังจำเป็นต้องอาศัยแหล่งพลังงานจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ซูแซนเทลลี่ (Zooxanthellae)”
ในสภาวะแวดล้อมตามปกติปะการังกับสาหร่ายเซลล์เดียวซูแซนเทลลี่จะมี “ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา (Symbiosis)” โดยซูแซนเทลลี่จะอาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อของปะการัง (ใช้ปะการังเป็นบ้าน) แล้วใช้รงควัตถุสังเคราะห์แสงสร้างพลังงานให้แก่ตัวมันเองและเนื้อเยื่อปะการังที่มันอาศัยอยู่ ปะการังจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในเขตน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึงเนื่องจากมันจำเป็นต้องอาศัยพลังงานจากการสังเคราะห์แสงของซูแซนเทลลี่ในการดำรงชีวิต
บทบาทของซูแซนเทลลี่นอกเหนือไปจากการช่วยสร้างพลังงานให้แก่ปะการังแล้ว รงควัตถุของซูแซนเทลลี่ยังเป็นตัวสร้างสีสันให้แก่เนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ด้วย (สีสันของปะการังส่วนใหญ่ ก็คือ สีรงควัตถุของซูแซนเทลลี่นั่นเองครับ)
|
เรือสี่พี่น้อง และ ชิงช้าที่ผูกคล้องไว้กับกิ่งไม้ใหญ่
|
|
ไม้ดิบ กับ ไม้แปรรูป (เรือหางยาว)
|
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
“ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว” เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ปะการังสูญเสียซูแซนเทลลี่ออกไปจากเนื้อเยื่อ และ/หรือซูแซนเทลลี่สูญเสียรงควัตถุในตัวของมันไป ทำให้เนื้อเยื่อปะการังมีความใสเพิ่มมากขึ้นจนสามารถมองทะลุไปถึงชั้นหินปูนภายใต้เนื้อเยื่อซึ่งเป็นสีขาวซีดได้ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะทำให้เนื้อเยื่อของปะการังเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรงและอาจตายลงได้ในท้ายที่สุด สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนั้นหลักๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในแนวเขตปะการังที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตตามปกติของซูแซนเทลลี่นั่นเอง
จากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ให้เห็นว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนั้น ได้แก่ อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลง (ทั้งร้อนขึ้นและเย็นลงมากเกินกว่าที่ปะการังและซูแซนเทลลี่จะสามารถปรับตัวรักษาสมดุลเอาไว้ได้) , ความเข้มของแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากเกินไป , ความเค็มของน้ำทะเลลดลง , การติดเชื้อแบคทีเรีย , มีปริมาณตะกอนแขวนลอยอยู่ในน้ำทะเลมากเกินไป และ/หรือมีตะกอนตกทับสะสมอยู่บนแนวเขตปะการังเป็นระยะเวลานาน รวมถึงมลพิษต่างๆ นอกจากนี้ชนิดของปะการังยังมีผลต่อความไวในการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแตกต่างกันด้วย โดย “ปะการังเขากวาง” ในน้ำตื้นมักจะเป็นพวกแรกที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวขึ้นก่อน ต่อมาจึงเป็นกลุ่ม “ปะการังโต๊ะ” และ “ปะการังพุ่ม” ส่วน “ปะการังโขด” หรือ “ปะการังก้อน” สุดอึดนั้นยากที่จะเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว
|
"เกาะราวี" ในมุมมองที่หลากหลาย
|
จุดดำน้ำตื้นด้านหน้าหาดทรายขาว เกาะราวี จ.สตูล เป็นจุดดำน้ำตื้นอีกแห่งหนึ่งในละแวกใกล้เคียงเกาะหลีเป๊ะที่มีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเป็นวงกว้างจนต้องมีการประกาศปิดจุดดำน้ำดังกล่าวไปในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2554 – กลางเดือน พ.ค. 2554 ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปะการังที่กำลังอ่อนแอมีโอกาสได้ฟื้นตัวขึ้น (หากปล่อยให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งทาครีมกันแดดลงไปแหวกว่ายดำน้ำเล่นในจุดมีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง นอกจากนักท่องเที่ยวจะไม่ได้เห็นแนวปะการังอันสวยงามแล้ว สารเคมีจากครีมกันแดดจำนวนมากของนักท่องเที่ยวหลายๆ คนยังอาจทำให้ปะการังที่กำลังอ่อนแอตายแหงแก๋ได้อย่างไม่ยากเย็นครับ)
พักผ่อนตามอัธยาศัย ณ หาดทรายขาว เกาะราวี
อย่างไรก็ตาม.....ในช่วงเวลาที่มีการปิดจุดดำน้ำตื้นนั้น นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมายังเกาะราวีก็ยังสามารถลงจากเรือมาพักผ่อนบน “หาดทรายขาว” หาดทรายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเกาะราวีได้ตามปกติ ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวบางคนอาจรู้สึกเบื่อๆ ไปบ้างที่ไม่มีโอกาสได้ดำน้ำ แต่เมื่ออุ้งเท้าของพวกเขาเหล่านั้นได้สัมผัสกับพื้นทรายเนื้อเนียนละเอียดนุ่มสีขาวบริสุทธิ์ ได้นั่งรับประทานอาหารกลางวันสบายๆ ใต้ร่มไม้ในขณะที่ลมทะเลพัดโชยโบกเข้ามาอ่อนๆ ได้แกว่งชิงช้าโยกไหวไปมาพร้อมๆ กับเงี่ยหูฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง หรือแม้กระทั่งได้ลงไปเล่นน้ำใสๆ ริมชายหาดอันสวยงาม ความรู้สึกหงุดหงิดตะขิดตะขวงใจซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้ลงดำน้ำดูปะการังก็อาจจะทุเลาเบาบางลงไปได้
|
วันหวานๆ ของคู่รัก ขณะพักผ่อนบน "เกาะราวี จ.สตูล"
|
ถึงแม้ว่า “เกาะราวี” จะเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาที่ ตต.6 (หาดทรายขาว) และหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาที่ ตต.7 (ตะโละปะเหลียน) แต่บนเกาะแห่งนี้ก็ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรม คงเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งบริเวณหาดทรายขาวได้เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น
โทรศัพท์ติดต่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา : (074) 783 – 485 , (074) 783 – 597
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี (ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปีเป็นช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยว)
การเดินทางสู่เกาะราวี : เกาะราวีตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะหลีเป๊ะ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อแพ็คเกจทัวร์มาล่วงหน้า หรือเช่าเหมาเรือหางยาวจากเกาะหลีเป๊ะมายังเกาะแห่งนี้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที กรณีที่เลือกเช่าเหมาเรือมาเองทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าควรจัดโปรแกรมทัวร์เกาะราวีรวมไว้กับโปรแกรมทัวร์เกาะอื่นๆ ในกลุ่มของ “หมู่เกาะอาดัง – ราวี (ทัวร์รอบใน)” ได้แก่ เกาะกระ –หินขาว , เกาะอาดัง (ผาชะโด – อ่าวสอง) , เกาะยาง , เกาะหินงาม และร่องน้ำจาบัง (กรณีที่ใช้เวลาในแต่ละจุดนานเกินไปอาจทำให้ไม่สามารถเที่ยวได้ครบทุกสถานที่ แนะนำว่าอาจเลือกตัด “เกาะกระ – หินขาว” ออกไปจากโปรแกรมก็ได้ครับ)
เกาะสำคัญแห่งอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อเกาะ” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของแต่ละเกาะโดยละเอียด) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “เกาะราวี” เมื่อเดือน ก.พ. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
|