เกาะหินซ้อน เกาะไผ่ เกาะผึ้ง อ.เมือง จ.สตูล
(ดูภาพด้านล่าง)
“หมู่เกาะดง” ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศอันงดงามแปลกตา มีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ ในยามที่คลื่นลมสงบน้ำทะเลจะเป็นสีเขียวอมฟ้าใสแจ๋วราวกับมรกต ชายหาดบนเกาะหลายเกาะมีทรายสีขาวเนื้อเนียนละเอียดนุ่มเท้าราวกับแป้งฝุ่น นักท่องเที่ยวที่มีเวลาพักค้างแรมบนเกาะหลีเป๊ะหลายๆ วันนิยมเช่าเหมาเรือหางยาวมาดำน้ำตื้น ชมทิวทัศน์ และ นอน – นั่งพักผ่อนบนชายหาดอันสวยงามของเกาะเหล่านี้ ส่วนนักท่องเที่ยวซึ่งมีช่วงเวลาวันหยุดพักผ่อนสั้นๆ (ไม่เกิน 4 วัน 3 คืน) จะนิยมเลือกซื้อโปรแกรมทัวร์เรือเร็ว (speedboat) เพื่อให้สามารถใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดท่องเที่ยวได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
|
ธรรมชาติแปลกตา ณ "เกาะหินซ้อน จ.สตูล"
|
|
ตื่นตาไปกับก้อนหินที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือหางยาวธรรมดาๆ หลายเท่า
|
เกาะหินซ้อน , เกาะไผ่ , เกาะผึ้ง , เกาะรอกลอย และ เกาะดง คือ เกาะซึ่งถือได้ว่าเป็น 5 เกาะสำคัญในกลุ่ม “หมู่เกาะดง” (หมู่เกาะดงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะหลีเป๊ะภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา) เจ้าของเรือหางยาวเช่าเหมาลำและผู้ประกอบการเรือทัวร์มักจะเรียกโปรแกรมทัวร์เกาะต่างๆ เหล่านี้ว่า “โปรแกรมทัวร์รอบนอก” หรือ “โปรแกรมทัวร์หมู่เกาะดง”
ในบทความชิ้นนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะขอนำพาคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านไปทำความรู้จักกับเกาะหินซ้อน , เกาะไผ่ และเกาะผึ้งกันก่อนในเบื้องต้น ส่วนข้อมูลรวมถึงภาพถ่ายของเกาะรอกลอยและเกาะดงนั้น คุณสามารถรับชมเพิ่มเติมได้โดยการ Click link ภายในตาราง “เกาะสำคัญแห่งอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” ซึ่งวางอยู่ท้ายบทความชิ้นนี้
|
"เกาะหินซ้อน" ไม่มีหาดทรายที่นักท่องเที่ยวจะสามารถขึ้นไปพักผ่อนอิริยาบถได้
|
ความอัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ “เกาะหินซ้อน”
เพียงแค่ได้ยินชื่อเกาะหลายๆ คนก็คงพอจะเดาออกแล้วว่า “เกาะหินซ้อน” ต้องเป็นเกาะที่มีก้อนหินวางเรียงซ้อนกันอยู่ซึ่งหากเกาะแห่งนี้มีแค่หินแบบธรรมดาๆ วางเรียงซ้อนกันเท่านั้น.....มันก็คงไม่น่าอัศจรรย์สักเท่าไหร่จริงไหมครับ ? แต่ความเป็นจริงก็คือ เกาะหินซ้อนมีก้อนหินยักษ์รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาดใหญ่กว่าเรือหางยาว 4 – 5 เท่าวางซ้อนกันอยู่อย่างสมดุลดูราวกับว่ามีใครจงใจมาจัดวางเอาไว้ และด้วยทิวทัศน์อันแปลกตาดังกล่าวข้างต้นนี้เองก็ได้ทำให้เกาะหินซ้อนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหมู่เกาะดงไปในที่สุด
|
ใครหนอจับหินก้อนโตมาซ้อนกันไว้.....น่าสงสัยเป็นหนักหนา ?
|
นอกจากก้อนหินขนาดยักษ์ที่วางเรียงซ้อนกันอย่างน่าอัศจรรย์แล้ว บริเวณใกล้ๆ เกาะหินซ้อนยังเป็นจุดดำน้ำที่สามารถพบเห็น “ปะการังเจ็ดสี” ได้เช่นเดียวกันกับที่ “ร่องน้ำจาบัง” ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขอแนะนำว่าหากคุณเป็นบุคคลที่สามารถใช้ตีนกบ (fin) ได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ควรจะขอตีนกบจากเจ้าหน้าที่ดูแลทัวร์หรือหาเช่ามาให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางจากที่พัก (กรณีเช่าเหมาเรือหางยาวมาเที่ยวเอง นายท้ายเรือส่วนใหญ่จะเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้แค่หน้ากากดำน้ำและเสื้อชูชีพเท่านั้น ไม่มีการเตรียมตีนกบไว้ให้ครับ) เพราะจุดดำน้ำใกล้ๆ กับเกาะหินซ้อนแห่งนี้มักจะมีการไหลของกระแสน้ำที่เร็วและรุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีการผูกทุ่นและขึงเชือกเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกาะพักเหนื่อยได้ แต่ความรุนแรงของกระแสน้ำก็จะทำให้ผู้ซึ่งไม่ใส่ตีนกบหมดแรงเอาง่ายๆ (คุณสามารถอ่านข้อมูลและชมภาพถ่ายของปะการังเจ็ดสีเพิ่มเติมได้โดยการ Click link หัวข้อ “ร่องน้ำจาบัง” ที่อยู่ภายในตาราง“เกาะสำคัญแห่งอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” ซึ่งวางอยู่ท้ายบทความชิ้นนี้ครับ)
เกาะหินซ้อนมีลักษณะเป็นกองหินปริ่มน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่มีชายหาดบนเกาะ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกดำน้ำในบริเวณนี้ได้ทั้งแบบพื้นผิว (Snorkeling) หรือดำน้ำลึก (Scuba diving)
“เกาะไผ่ จ.สตูล” ดินแดนแห่งดอกไม้ทะเล
เพียงแล่นเรือหางยาวต่อมาจากเกาะหินซ้อนอีกแค่ไม่เกิน 15 นาที นักท่องเที่ยวก็จะได้พบกับจุดดำน้ำตื้นบริเวณ “เกาะไผ่ จ.สตูล” เกาะซึ่งมีชื่อเหมือนๆ กันกับ “เกาะไผ่ จ.กระบี่” แต่กลับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคนละแห่ง
|
จุดดำน้ำตื้น "เกาะไผ่ จ.สตูล " ดินแดนแห่งดอกไม้ทะเล
|
ณ จุดดำน้ำตื้นของเกาะไผ่ จ.สตูล แห่งนี้ก็มีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ทิวทัศน์ของหินซ้อนก้อนยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ ทุ่งดอกไม้ทะเลซึ่งกินพื้นที่อาณาบริเวณหลายร้อยตารางเมตร เพียงแค่คุณลองจุ่มศีรษะลงไปใต้ผิวน้ำแล้วกลิ้งกลอกลูกตากลับไปกลับมาก็จะสามารถมองเห็นได้ทันทีว่า มีหนวดดอกไม้ทะเลปกคลุมอยู่เกือบทั่วทุกพื้นที่ราวกับมีพรมชั้นดีปูรองเอาไว้ใต้ผืนมหาสมุทร.....เป็นทิวทัศน์ที่สุดยอดจริงๆ (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเคยดำน้ำตื้นมาหลากพื้นที่หลายจังหวัด แต่จุดดำน้ำตื้นซึ่งมีดอกไม้ทะเลอาศัยอยู่รวมกันมากมายขนาดนี้ เพี่งเคยพบที่ “เกาะไผ่ จ.สตูล” เป็นแห่งแรกจริงๆ ครับ)
|
.........................กลุ่มปลาสลิดหินบั้งเขียวเหลืองขี้สงสัย.........................
|
|
...............สวนดอกไม้ในบ้านของปลาตัวน้อย...............
|
ถึงแม้ว่าในบริเวณจุดดำน้ำตื้นของเกาะไผ่จะสามารถพบปะการังแข็ง เช่น ปะการังเขากวาง หรือปะการังโขดได้บ้าง แต่เมื่อเทียบกับปริมาณของดอกไม้ทะเลแล้วยังถือว่าปะการังเหล่านี้มีน้อยมากๆ (โดยปกติตามจุดดำน้ำตื้นแห่งต่างๆ เราจะพบว่ามีปะการังแข็งอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในขณะที่มีดอกไม้ทะเลอยู่เป็นจำนวนน้อย แต่ที่เกาะไผ่ จ.สตูล เป็นเหตุการณ์ซึ่งกลับตาลปัตรกันครับ) น่าแปลกที่พวกเราไม่ค่อยพบปลาการ์ตูนในบริเวณนี้สักเท่าไหร่นัก จะมีก็แต่ฝูงปลาสลิดหินบั้งเขียวเหลืองที่คอยว่ายตามติดมาเรื่อยๆ ขณะที่พวกเราดำน้ำดูปะการังเท่านั้น
เขาว่ากันว่าที่ “เกาะผึ้ง” ก็มีปะการังเจ็ดสี
.....เมื่อเสร็จกิจที่เกาะไผ่.....นายท้ายเรือก็พาพวกเราไปดำน้ำและถ่ายรูปบนหาดทรายเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะดง หลังจากนั้นก็แวะไปรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกับชมทิวทัศน์และดำน้ำตื้นอีกหนึ่งอึดที่เกาะรอกลอย แล้วจึงเลยไปถึง “อ่าวลิง” บนเกาะดง (อ่าวลิงตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะดงและเป็นทางผ่านไปยังเกาะผึ้งครับ) ณ จุดดำน้ำตื้นบริเวณอ่าวลิงนี้เองที่กล้องถ่ายภาพใต้น้ำของพวกเราเกิดอาการสำลักน้ำเค็มเข้าไปจนแน่นิ่งไม่ไหวติง ทำให้พวกเราไม่สามารถบันทึกภาพใต้น้ำใดๆ ได้อีกถึงแม้ว่าจะต้องอยู่พักค้างแรมบนเกาะหลีเป๊ะอีก 3 คืนเพื่อเก็บข้อมูลก็ตาม (เพราะเหตุนี้พวกเราจึงไม่สามารถเก็บภาพใต้น้ำของ “เกาะผึ้ง” มาให้ทุกๆ ท่านชมได้ครับ) ..........หลังจากที่พวกเราพยายามนั่งทำใจกับโศกนาฏกรรมซึ่งเกิดขึ้นกับกล้องถ่ายภาพใต้น้ำสักพัก นายท้ายเรือก็พาพวกเราออกเดินทางต่อไปยัง “เกาะผึ้ง”
|
"เกาะผึ้ง" อีกหนึ่งจุดดำน้ำซึ่งมีคนบอกว่าสามารถพบเห็น "ปะการัง 7 สี" ได้
|
จากคำบอกเล่าของนายท้ายเรือทำให้พวกเราทราบว่า “เกาะผึ้ง” เป็น 1 ใน 4 จุดดำน้ำรอบเกาะหลีเป๊ะที่สามารถพบเห็นปะการังเจ็ดสีได้ (จุดดำน้ำอีก 3 แห่ง ที่สามารถพบเห็นปะการังเจ็ดสีได้ คือ ร่องน้ำจาบัง , เกาะหินซ้อน และหินขาว อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากคำบอกเล่าของนายท้ายเรือและเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา) แต่ปัญหาก็คือ นายท้ายจำไม่ได้ว่าต้องจอดเรือตรงจุดไหนถึงจะดำลงไปเจอปะการังเจ็ดสีพอดิบพอดี พวกเราจึงต้องว่ายน้ำวนไปเวียนมาสุดท้ายก็หาพบแค่ดอกไม้ทะเล (พบดอกไม้ทะเลเป็นปริมาณมาก แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับบริเวณ “เกาะไผ่” ครับ) , เม่นทะเลหนามขาว , ปลากระเบน , ปลากล้วยฟ้าหลังเหลือง และปะการังแข็งอีกหลายชนิด แต่ไม่สามารถเห็นปะการังเจ็ดสีได้ดั่งใจหวัง..........อย่างไรก็ตาม..........พวกเรายังถือว่าโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นปะการังเจ็ดสีที่ “ร่องน้ำจาบัง” มาแล้ว ในขณะที่คนหลายคนซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยว ณ ทะเลจังหวัดสตูล ก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เห็นปะการังเจ็ดสีเลยแม้แต่ครั้งเดียว
“เกาะผึ้ง” มีแนวปะการังรอบเกาะที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าในการดำน้ำครั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมจะไม่สามารถพบเจอปะการังเจ็ดสีได้ตามความตั้งใจ แต่ความสวยงามและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในแนวปะการังเกาะผึ้งแห่งนี้ก็ยังมีคุณค่าคู่ควรแก่การแวะมาเยี่ยมชมอย่างแน่นอน
โทรศัพท์ติดต่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา : (074) 783 – 485 , (074) 783 – 597
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี (ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปีเป็นช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยว)
การเดินทางสู่เกาะหินซ้อน-เกาะไผ่-เกาะผึ้ง : “เกาะหินซ้อน – เกาะไผ่ – เกาะผึ้ง” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะหลีเป๊ะ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อแพ็คเกจทัวร์มาล่วงหน้า หรือเช่าเหมาเรือหางยาวจากเกาะหลีเป๊ะมายังเกาะเหล่านี้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชม. กรณีที่เลือกเช่าเหมาเรือมาเองทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าควรจัดโปรแกรมทัวร์ “เกาะหินซ้อน – เกาะไผ่ – เกาะผึ้ง” รวมไว้กับโปรแกรมทัวร์เกาะแห่งอื่นๆ ในกลุ่มของ “หมู่เกาะดง (ทัวร์รอบนอก)” ได้แก่ เกาะดง และเกาะรอกลอย
เกาะสำคัญแห่งอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อเกาะ” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของแต่ละเกาะโดยละเอียด) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “เกาะหินซ้อน-เกาะไผ่-เกาะผึ้ง” เมื่อเดือน ก.พ. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
|