แหลมพรหมเทพ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
|
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อแหลมพรหมเทพ - จุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทนนี้มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า
เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
“วันพรุ่งนี้ พระอาทิตย์ขึ้นที่ผาชนะได เวลา.....นาฬิกา.....นาที พระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ เวลา.....นาฬิกา.....นาที” คือ ประโยคคุ้นหูซึ่งหลาย ๆคนที่รับฟังรายการวิทยุอาจเคยได้ยินหลังจากการรายงานพยากรณ์อากาศจบลง ยังความฉงนสนเท่ห์ให้แก่บางคนซึ่งมีนิสัยกระหายใคร่อยากรู้อยากเห็นว่า “ผาชนะได” และ “แหลมพรหมเทพ” นั้นตั้งอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดในประเทศไทย? แล้วทำไมสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จึงถูกใช้เป็นตำแหน่งอ้างอิงในการรายงานเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก? จากข้อมูลเท่าที่พวกเราทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ได้ลองสืบค้นร่วมกับการสอบถามเจ้าหน้าที่ของ “สถานีอุตุนิยมวิทยาภูเก็ต” พบว่า การที่สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ถูกใช้เป็นตำแหน่งอ้างอิงในการรายงานเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกก็เนื่องมาจาก “ผาชนะได” อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นตำแหน่งที่จะสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์โผล่พ้นขึ้นจากเส้นขอบฟ้าเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ส่วน “แหลมพรหมเทพ” อ.เมือง จ.ภูเก็ต นั้นก็เป็นตำแหน่งที่จะสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์สัมผัสกับพื้นผิวน้ำเป็นแห่งสุดท้ายในประเทศไทยได้นั่นเอง
แต่ด้วยเหตุที่ว่า บทความชิ้นนี้เป็นบทความซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใน จ.ภูเก็ต เพราะฉะนั้นพวกเราทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมจะทำเป็นลืม ๆ เรื่อง “ผาชนะได” จ.อุบลราชธานีไปก่อน แล้วขอเขียนถึงเฉพาะข้อมูลของแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต ให้ทุก ๆท่านได้รับชมรับทราบกันครับ (สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ “ผาชนะได” อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จำเป็นต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แล้วกางเต็นท์ค้างแรมบริเวณใกล้ ๆกับผาชนะไดเพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้า.....ถือได้ว่าลำบากพอสมควรทีเดียว)
|
"ต้นตาล" หนึ่งในเอกลักษณ์ของจุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดใน จ.ภูเก็ต "แหลมพรหมเทพ" |
|
เยือน "แหลมพรหมเทพ" เสพความงดงาม.....ในยามเย็น |
“แหลมพรหมเทพ” นอกจากจะถูกใช้เป็นตำแหน่งอ้างอิงในการรายงานเวลาพระอาทิตย์ตกแล้ว ยังมีชื่อเสียงในฐานะของจุดชมอาทิตย์อัสดงซึ่งมีความสวยงามที่สุดของ จ.ภูเก็ต อีกด้วย (บางคนก็บอกว่า แหลมพรหมเทพ คือ จุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าคำบอกเล่าดังกล่าวข้างต้นจะเป็นความจริงมาก – น้อยเพียงใดนั้น แต่ละคนคงต้องลองมาชมพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพแล้วตัดสินข้อเท็จจริงด้วยความรู้สึกของตนเองครับ) ลักษณะทางภูมิประเทศของแหลมพรหมเทพเป็นแหลมสูงชันทอดตัวยาวลาดเอียงลงสู่ผืนทะเล มี “ต้นตาล” ขึ้นอยู่ห่าง ๆ ไล่เรียงกันไปตามแนวสันเขา หากยืนมองไปทางท้องทะเลด้านหน้าเยื้องไปทางด้านซ้ายจะเห็น “เกาะแก้วน้อย” และ “เกาะแก้วใหญ่” ส่วนทางด้านขวาจะสามารถมองเห็น “เกาะมัน” , “จุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทน” และ “หาดในหาน” อยู่ห่างออกไปไม่ไกล ยามเย็นในวันฟ้าเปิดเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยตัวลงต่ำ แผ่นฟ้ากว้างซึ่งเคยเป็นสีฟ้าครามสดใสจะถูกแต้มเติมไปด้วยแสงสีแสดแดงที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงประกายกลายเป็นสีทอง ชั่วยามขณะเดียวกันนั้นท้องทะเลสีน้ำเงินเข้มแกมเขียวก็เริ่มแปรเปลี่ยนสีสันไปเป็นสีน้ำเงินอมเทาตามแสงสุริยาซึ่งอ่อนล้าแรงลง สายลมโบกโบยสร้างระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่าซัดสาดเข้าหาชายฝั่ง ในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อน ต้นหญ้าที่เคยเป็นสีเขียวสดจะแล้งแห้งขาดน้ำจนกลายเป็นสีเหลืองทองปลิวไสวสะบัดใบปกคลุมไปทั่วบริเวณแหลมพรหมเทพ ภาพความงดงามซึ่งยากจะบรรยายให้สมกับความรู้สึกที่ติดตราตรึงอยู่ในหัวใจของใครหลาย ๆ คน รวมไปถึงคำบอกเล่าปากต่อปากเกี่ยวกับช่วงเวลาประทับใจซึ่งเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ คือ สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาจากทั่วสารทิศเดินทางมายังแหลมพรหมเทพ
|
พระราชานุสาวรีย์ “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” องค์บิดาของทหารเรือไทย และ
นักท่องเที่ยวจำนวนมากกำลังรอชมอาทิตย์อัสดงอยู่ด้านหน้าประภาคารกาญจนาภิเษกแหลมพรหมเทพ |
|
ภายในประภาคารกาญจนาภิเษกมีการจัดแสดงแบบจำลองประภาคาร
และกระโจมไฟสำคัญหลาย ๆ แห่งพร้อมทั้งติดแผ่นป้ายคำบรรยายเอาไว้ |
ในช่วงเวลาเย็นของฤดูท่องเที่ยวคุณจะได้พบกับขบวนรถยนต์ส่วนบุคคล ,รถตู้ ,รถบัสขนาดใหญ่ ,จักรยานยนต์ ,ฯลฯ ขับเรียงแถวต่อกันเป็นแนวยาวมุ่งหน้าขึ้นสู่แหลมพรหมเทพ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าหากคุณไม่ต้องการพลาดการชมบรรยากาศยามอาทิตย์อัสดงอันงดงามล่ะก็ ควรมาถึงทางขึ้นแหลมพรหมเทพตั้งแต่เวลาไม่เกิน 16.30 – 17.00 น.(มีทางขึ้นแหลมพรหมเทพ 2 ด้าน คือ ด้านหาดราไวย์และด้านหาดในหาน สามารถเลือกขับรถขึ้นด้านใดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก) กรณีที่คุณเริ่มเดินทางขึ้นแหลมพรหมเทพช้ากว่าเวลาดังกล่าวข้างต้นก็มีโอกาสสูงที่รถโดยสารของคุณจะติดค้างอยู่ระหว่างทางขึ้นโดยไม่สามารถไปถึงจุดชมทิวทัศน์ได้ หรือหากโชคช่วยให้สามารถขึ้นไปถึงจุดชมทิวทัศน์แหลมพรหมเทพทันเวลาพระอาทิตย์ตกก็อาจจะไม่สามารถหาที่จอดรถได้อยู่ดี (โดยเฉพาะวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลต่าง ๆ นั้น หากกลุ่มของคุณมัวแต่ทำตัวเฉื่อยแฉะ.....เอ้อระเหย.....เดินทางขึ้นแหลมพรหมเทพช้ากว่าเวลาประมาณ 16.30 น.ไปแล้วล่ะก็ รับรองว่ากลุ่มของคุณจะได้นั่งมองบั้นท้ายรถคันอื่นอยู่ระหว่างทางขึ้นแหลมพรหมเทพแทนที่จะได้ไปชมพระอาทิตย์ตกบริเวณจุดชมทิวทัศน์แน่นอนครับ) .....เพราะฉะนั้น.....ใครซึ่งตั้งใจว่าจะขึ้นไปชมภาพอาทิตย์อัสดง ณ จุดชมทิวทัศน์อันมีชื่อเสียงแห่งนี้ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมและจัดสรรเวลาให้เหมาะสม.....เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียอารมณ์กันในภายหลังครับ
บริเวณจุดชมทิวทัศน์แหลมพรหมเทพเป็นที่ตั้งของ “ประภาคารกาญจนาภิเษก” ประภาคารสูง 50 ฟุตซึ่งกองทัพเรือและชาวภูเก็ตร่วมใจกันสร้างขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปีในปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 ภายในอาคารชั้นล่างของประภาคารกาญจนาภิเษกจัดแสดงแบบจำลองประภาคารและกระโจมไฟสำคัญหลายแห่งพร้อมทั้งป้ายแสดงประวัติความเป็นมา มีตัวอย่างตะเกียงและเครื่องวาบซึ่งใช้ในการส่งสัญญาณเพื่อการเดินเรือแบบต่าง ๆส่วนชั้นบนจัดแสดงแบบจำลองเรือหลวงหลายลำพร้อมทั้งประวัติ บริเวณชั้นบนของประภาคารกาญจนาภิเษกแห่งนี้สามารถเดินออกไปยังระเบียงเพื่อชมทัศนียภาพโดยรอบแบบ 360 องศาได้ จากระเบียงจะมองเห็นพระราชานุสาวรีย์ “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” องค์บิดาของทหารเรือไทยตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ ณ ลานกว้างด้านทิศตะวันตกหน้าประภาคารได้ชัดเจน มีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งซึ่งเลือกที่จะปักหลักชมบรรยากาศยามอาทิตย์อัสดงอยู่ ณ บริเวณระเบียงชั้นบนของประภาคารกาญจนาภิเษกแหลมพรหมเทพแห่งนี้
|
ระหว่างเส้นทางสู่ปลายแหลมพรหมเทพ
มองเห็นกังหันลมขนาดใหญ่ของจุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทน จ.ภูเก็ตอยู่ไกลลิบ ๆ |
|
จะคนไทยเชื้อสายหรือศาสนาใดต่างก็มารวมใจพร้อมเพรียงกัน ณ แหลมพรหมเทพ |
จากลานกว้างหน้าประภาคารกาญจนาภิเษกเดินตรงลงไปทางด้านทิศตะวันตกจะพบกับกำแพงหินที่สร้างขึ้นเป็นแนวยาวเพื่อแสดงขอบเขตของจุดชมทิวทัศน์แหลมพรหมเทพ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมานั่งรอชมพระอาทิตย์ตกบนแนวกำแพงนี้ หากเดินไปตามแนวกำแพงสู่ด้านทิศใต้จะพบกับช่องเปิดเล็ก ๆ ที่สามารถผ่านลงไปยังเส้นทางดินซึ่งทอดยาวสู่จุดปลายสุดของแหลมพรหมเทพได้ ตากล้องซึ่งชื่นชอบการถ่ายภาพสวย ๆ น่าจะสามารถหาตำแหน่งเหมาะ ๆในการถ่ายภาพได้หลายสิบภาพระหว่างที่เดินไปตามเส้นทางสู่ปลายแหลม ส่วนใครที่อยากตกปลาจะพกอุปกรณ์ตกปลามาเองแล้วไปนั่งตกปลาบริเวณโขดหินน้อยใหญ่ปลายแหลมพรหมเทพก็ได้บรรยากาศดี ๆไปอีกแบบ (บริเวณปลายแหลมพรหมเทพไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นกางกิ่งใบให้ร่มเงา หากมาตกปลาในช่วงกลางวันอากาศจะร้อนมาก นอกจากนี้ยังต้องใช้ความระมัดระวังในการนั่งตกปลาบริเวณดังกล่าวพอสมควรเนื่องจากบางช่วงเวลาบริเวณปลายแหลมพรหมเทพจะมีคลื่นลมแรง นักท่องเที่ยวอาจพลัดตกจากโขดหินลงไปในทะเลได้)
แหลมพรหมเทพ - จุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทน
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
|
หน้า 1 |
แหลมพรหมเทพ |
หน้า 2 |
จุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทน |
โปรโมชั่นทัวร์อื่น ๆ เริ่มต้นจาก จ.ภูเก็ต ราคาถูก/ราคาประหยัด
|
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดภูเก็ต
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด) |
อ.เมือง |
เกาะราชาใหญ่ , เกาะรังใหญ่ , เกาะเฮ , สยามนิรมิต ภูเก็ต ,
หาดกะตะ , หาดกะรน , หาดราไวย์ , หาดในหาน , อ่าวฉลอง , วัดฉลอง ,
แหลมพรหมเทพ , จุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทน |
อ.กะทู้ |
ภูเก็ตแฟนตาซี , หาดป่าตอง , หาดกมลา |
อ.ถลาง |
หาดในยาง - อุทยานแห่งชาติสิรินาถ |
|