วัดจองคำ – วัดจองกลาง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
|
รักแรก.....บ้านหลังแรก.....รถคันแรก หรือ เรื่องราวใดๆ ที่คนเราได้ประสบพบเจอเป็นครั้งแรก มักจะกลายเป็นเรื่องราวสำคัญซึ่งประทับติดตรึงอยู่ในความทรงจำต่อไปอีกตราบนานเท่านาน ดังเช่นเรื่องราวของ “วัดจองคำ” วัดแห่งแรกของ จ.แม่ฮ่องสอน ที่กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของชาวเมืองสามหมอกนับตั้งแต่อดีต.....ยาวนานล่วงเลยมาจวบจนกระทั่งถึงกาลปัจจุบัน
|
.........................วัดจองกลาง และ วัดจองคำ.........................
|
วัดจองคำ : วัดแห่งแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
หากพูดถึง “วัดจองคำ” ชาวเมืองสามหมอกน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักวัดแห่งนี้ เนื่องจากวัดจองคำเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอยู่คู่เมืองสามหมอกมานานนับร้อยปีจนได้รับการสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2527
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เก่าเล่าไว้ว่า วัดจองคำสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2370 โดย “พระยาสิงหนาทราชา” เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาองค์พระเจดีย์ของวัดจองคำได้ชำรุดทรุดโทรมไป “พระอูน่าก๊ะ” จึงได้ทำพิธีบวงสรวงขอรื้อถอนแล้วจัดสร้าง “พระพุทธรูปหลวงพ่อโต” พร้อมทั้งจัดสร้าง “วิหารตรีมุข” ขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเคยประดิษฐานพระเจดีย์องค์เดิมในปี พ.ศ. 2475 – 2479 (เริ่มต้นสร้างในปี พ.ศ. 2475 และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2479 ครับ)
|
...............นี่คือ....................ปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองแม่ฮ่องสอน...............
|
“พระพุทธรูปหลวงพ่อโต” สร้างขึ้นโดยฝีมือของ “ช่างสล่าโพโต่ง เตชะโกเมนต์” มีลักษณะเป็นองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะพม่าขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 4.8 เมตร สูง 5.6 เมตร พระพักตร์ขององค์พระพุทธรูปอวบอิ่ม ครองจีวรเป็นริ้วดูสมจริง ส่วน “วิหารตรีมุข” อันเป็นสถานที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโตนั้นสร้างขึ้นโดยฝีมือของ “ช่างสล่าโพอ่อง” ตามลักษณะศิลปะแบบไทใหญ่ มีหลังคาวิหารเป็นรูปปราสาทมุงด้วยสังกะสี เชิงชายประดับไม้ฉลุดูงดงาม (สาเหตุที่หลังคาวิหารในงานศิลปะไทใหญ่มีลักษณะเป็นยอดปราสาท เนื่องด้วยคติความเชื่อว่าปราสาทเป็นของสูง ผู้ซึ่งประทับอยู่ในปราสาทจึงควรเป็นพระมหากษัตริย์หรือตัวแทนของพระพุทธศาสนาครับ) และเนื่องจากมีการปิดทองคำเปลวประดับเอาไว้บริเวณเสาวัดจนเหลืองอร่ามชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดจองคำ” (จอง : อาคารหลักของวัดไทใหญ่)
|
ภาพซ้าย : ภาพพุทธประวัติเขียนหลังกระจกภายใน วัดจองกลาง
ภาพขวา : หลวงพ่อโตซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารตรีมุขของ วัดจองคำ
|
ใกล้ๆ กับวัดจองคำมีวัดอีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นไว้อยู่เคียงคู่กัน ได้แก่ “วัดจองกลาง” วัดทั้งสองแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับวัดแฝดเนื่องจากตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงแก้วเดียวกัน โดยเมื่อเราหันหน้าเข้าหาตัววัดก็จะเห็น “วัดจองกลาง” อยู่ทางด้านขวามือ และ “วัดจองคำ” อยู่ทางด้านซ้ายมือ
วัดจองกลาง : ศูนย์รวมผลงานศิลปะไทใหญ่ – พม่า
เดิมทีพื้นที่อันเป็นสถานที่ตั้งของ “วัดจองกลาง” ในปัจจุบันนั้นเคยเป็นเพียงแค่สถานที่ตั้งศาลาของ “วัดจองใหม่” ซึ่งใช้ให้บุคคลทั่วไปได้แวะพักระหว่างถือศีล – ปฏิบัติธรรม แต่ภายหลังจากที่เจ้าอาวาสวัดจองใหม่องค์สุดท้ายได้มรณภาพลง มีพระภิกษุชาวพม่ารูปหนึ่งซึ่งเดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจของท่านเจ้าอาวาสได้แวะเข้าไปพักอาศัยในศาลาดังกล่าว พระภิกษุชาวพม่ารูปนี้มีประชาชนคนท้องถิ่นให้ความเคารพศรัทธาเป็นอันมากจึงได้มีผู้นิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่ศาลาต่อไป จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2410 คณะผู้มีจิตศรัทธาจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นทดแทนศาลาดังกล่าวและเรียกวัดแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง “วัดจองคำ” และ “วัดจองใหม่” นี้ว่า “วัดจองกลาง” (ปัจจุบัน “วัดจองใหม่” ได้กลายไปเป็น “โรงเรียนนักธรรม” แล้วครับ) ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 วัดจองกลางก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงพร้อมๆ กันกับวัดจองคำ
|
...................................ศูนย์รวมผลงานศิลปะไทใหญ่ - พม่า...................................
|
|
....................ภายใน พิพิธภัณฑ์วัดจองกลาง....................
|
วัดจองกลางถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมผลงานศิลปะแบบไทใหญ่ – พม่าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะเห็นได้จากสิ่งปลูกสร้างและข้าวของเครื่องประดับต่างๆ ภายในวัดดังต่อไปนี้
1. จอง เป็นอาคารหลักและเป็นอาคารหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นในวัดจองกลาง มีสิ่งที่น่าสนใจคือ “ภาพพุทธประวัติเขียนหลังกระจก” จำนวน 180 ภาพ ติดอยู่ตามฝาผนังรอบกุฏิเจ้าอาวาส ภาพเขียนหลังกระจกดังกล่าวนี้เป็นฝีมือช่างไทใหญ่ผสมพม่า ซึ่ง “พ่อเลี้ยงขุนเพียร” เป็นเจ้าศรัทธานำมาถวาย
นอกจากภาพพุทธประวัติเขียนหลังกระจกแล้ว ภายในจองยังมีห้องพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง “ตุ๊กตาไม้แกะสลักเรื่องพระเวสสันดรชาดก” จำนวน 33 ตัว.....ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกนำมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 อีกทั้งยังมีตุ๊กตาเครื่องสำริดอีกจำนวน 41 ตัว , เครื่องลายคราม , ภาพจิตรกรรม , หนังสือไทใหญ่ , ฯลฯ ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโบราณวัตถุศิลปะไทใหญ่ – พม่าที่มีอายุเกินกว่าศตวรรษเกือบทั้งสิ้น
|
.........................ราตรีริมหนองจองคำ.........................
|
|
.......................................ศูนย์รวมจิตใจของผองชน.......................................
|
2. พระเจดีย์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ – พม่า ตัวองค์พระเจดีย์ประธานมีสีขาวแต่งลายปูนปั้นสีทอง บนยอดประดับฉัตรสามชั้น ฐานองค์พระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยม มีมุขสี่ด้าน ที่มุมแต่ละด้านจัดสร้างเป็นองค์พระเจดีย์บริวารขนาดเล็ก พร้อมประดับสิงห์ปูนปั้นไว้ทั้งสี่มุม ทางด้านทิศตะวันออกขององค์พระเจดีย์จัดสร้างเป็น “ศาลาวิปัสสนา” มีหลังคาทรงปราสาท 5 ชั้น มุงด้วยสังกะสีฉลุลวดลาย .....ในยามค่ำคืน.....วัดจองกลางจะมีการเปิดไฟซึ่งประดับไว้ทั่วองค์พระเจดีย์ดูสวยงามมาก
หลังจากที่นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาทำบุญ ไหว้พระ และชื่นชมกับงานศิลปะไทใหญ่ – พม่ากันจนอิ่มเอมหัวใจแล้ว หากเดินมากจนรู้สึกเหนื่อยๆ ปวดเมื่อยล้าขา ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) แนะนำว่าน่าจะไปนั่งพักผ่อนปล่อยอารมณ์ชมทิวทัศน์กันที่ศาลาริมน้ำบริเวณ “หนองจองคำ” หนองน้ำธรรมชาติด้านหน้า “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” สักหน่อย เพราะบริเวณริมหนองน้ำแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีบรรยากาศดีเป็นลำดับต้นๆ ของตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว
|
.........................ยามค่ำคืนที่ วัดจองคำ - วัดจองกลาง.........................
|
|
........................................แสงไฟในรัตติกาล........................................
|
หนองจองคำ : สวนสาธารณะบรรยากาศดีในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
“หนองจองคำ” คือ หนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับเมืองแม่ฮ่องสอนมายาวนานเกินกว่าร้อยปี ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2438 ในสมัย “พญาพิทักษ์สยามเขต” เจ้าฟ้าผู้ครองเมืองแม่ฮ่องสอนคนที่ 3 .....ในครั้งอดีต.....นอกจากหนองจองคำจะเป็นที่อยู่ที่อาศัยของฝูงปลาจำนวนมากแล้ว บรรดาเจ้าขุนมูลนายยังได้อาศัยใช้ต้นหญ้าริมหนองจองคำแห่งนี้เลี้ยงช้าง รวมถึงได้อาศัยใช้น้ำในหนองอาบน้ำช้างด้วย เมื่อเวลากาลผ่านพ้นมาจนถึงยุคปัจจุบัน.....ทางเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนก็ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหนองจองคำใหม่แล้วจัดตั้งเป็น “สวนสาธารณะหนองจองคำ” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกายและพักผ่อนอิริยาบถ
|
...............แรงศรัทธา....................สว่างไสว...............
|
|
...............วัดจองคำ - วัดจองกลาง ดวงประทีปแห่งเมืองสามหมอก...............
|
.....ในช่วงฤดูหนาว.....หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนหนองจองคำตั้งแต่เช้าตรู่ ก็จะได้พบกับสายหมอกสีขาวบางเบาที่ฟูฟ่องล่องลอยปกคลุมไปทั่วบริเวณ มองไปไกลๆ จะเห็น “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” พร่าเลือนอยู่ในละอองไอเย็นดูราวกับภาพฝัน ถ้าลองใช้เวลาเดินเล่นเรื่อยๆ เอื่อยๆ จนดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนคล้อยสูงขึ้นบนฟากฟ้าส่งประกายอันอบอุ่นขับไล่อากาศหนาวเหน็บให้จางคลายไป สายหมอกซึ่งเคยโอบล้อมอยู่รอบข้างกายก็จะกลายไปเป็นเพียงแค่เปลวบางๆ หวิวไหวอยู่เหนือผิวน้ำที่สงบงาม.....เป็นชั่วยามอันน่าจดจำที่เกิดขึ้นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของวัน ณ หนองจองคำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
|
.............................. ยามเช้ารอบๆ หนองจองคำ..............................
|
|
ในไอหมอกที่พร่าเลือน....................มองเห็น วัดจองคำ และ วัดจองกลาง อยู่ไกลๆ
|
เมื่อฤดูท่องเที่ยวมาถึง (ราวเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) ถนนโดยรอบหนองจองคำในยามย่ำสนธยาจะถูกแปรสภาพจากเส้นทางสัญจรของยานพาหนะต่างๆ เปลี่ยนไปเป็นที่ตั้งของร้านรวงมากมาย ทั้งร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP , ร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมทำมือ , ร้านจำหน่ายไปรษณียบัตร , แผงลอยขายอาหาร , ฯลฯ เมื่อสีสันจากดวงไฟของร้านรวงเหล่านี้ผนวกเข้ากับแสงระยิบระยับจากไฟประดับของ “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” ความงดงามเกินบรรยายในยามค่ำคืนก็ได้บังเกิดขึ้น..........ชาวเมืองสามหมอกและนักท่องเที่ยวทั่วไปรู้จักถนนราตรีรอบหนองจองคำสายนี้ในนามของ “ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน”
|
...............สิงห์ผู้พิทักษ์ยืนเด่นอยู่ใต้ฟ้าสลัว...............
|
สุดท้ายนี้.....ถึงแม้ว่าคุณอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งไม่ค่อยชื่นชอบการท่องเที่ยววัดสักเท่าไหร่ แต่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมคิดว่า หากคุณได้มีโอกาสเดินทางมาเห็นความสวยงามรอบๆ หนองจองคำในช่วงเช้าและค่ำคืนของฤดูหนาวแล้วล่ะก็ คุณอาจจะอดใจไม่ไหวที่จะต้องเดินเข้าไปเยี่ยมชม “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” ซึ่งตั้งอยู่ติดกับหนองน้ำบรรยากาศดีแห่งนี้ก็เป็นได้
|
.........................รุ่งอรุณแห่งความสงบงาม.........................
|
|
ณ สวนสาธารณะหนองจองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
|
การเดินทางสู่วัดจองคำ – วัดจองกลาง :
รถยนต์ส่วนบุคคล จากสี่แยก สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ให้ใช้ “ถนนขุนลุมประภาส” มุ่งหน้าไปทาง อ.ขุนยวม ประมาณ 700 เมตร ผ่านสำนักงานไปรษณีย์เมืองแม่ฮ่องสอนแล้วเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเข้า “ถนนขัวเผือก” ตรงไปอีกประมาณ 200 เมตรจะถึง “หนองจองคำ” นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถไว้บริเวณรอบหนองน้ำแล้วเดินไปยัง “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ได้ (หน้าวัดจองคำ – วัดจองกลางสามารถจอดรถยนต์ได้แค่ 5 – 7 คันเท่านั้นครับ)
รถประจำทาง ไม่มีรถประจำทาง แต่สามารถเหมารถสองแถวจาก “ตลาดสายหยุด” ในตัวเมืองไปยังวัดได้
|
........................................ราวกับภาพฝัน........................................
|
|
........................เส้นทาง.....สู่.....ศาลาพักผ่อนริมน้ำ.........................
|
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่ “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” สวยงามมากที่สุด คือ ช่วงฤดูหนาว
ขอขอบคุณ : ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากหนังสือเที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้ จ.แม่ฮ่องสอน
หมายเหตุ : ข้อมูลบางอย่างของ “วัดจองคำ – วัดจองกลาง” อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ท ในย่านตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
|
อ.เมือง |
พระธาตุดอยกองมู ,วัดหัวเวียง ,
ถ้ำปลา , น้ำตกผาเสื่อ , บ่อน้ำร้อนผาบ่อง , ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน ,
บ้านห้วยเสือเฒ่า , หมู่บ้านจีนยูนนาน - บ้านรักไทย , ภูโคลน - คันทรีคลับ ,
โครงการพระราชดำริปางตอง-2-ปางอุ๋ง ,
โครงการพระราชดำริปางตอง-4-พระตำหนักปางตอง |
อ.ปาย |
วัดน้ำฮู , กองแลน , บ้านสันติชล , สะพานประวัติศาสตร์ปาย ,
ถนนคนเดินปาย , น้ำตกหมอแปง , โป่งน้ำร้อนท่าปาย |
อ.ขุนยวม |
ทุ่งดอกบัวตอง-ดอยแม่อูคอ , ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ,
น้ำตกแม่สุรินทร์ |
อ.ปางมะผ้า |
ถ้ำลอด |
อ.แม่ลาน้อย |
ถ้ำแก้วโกมล |
|