พระตำหนักปางตอง : โครงการพระราชดำริปางตอง 4 อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
|
นับตั้งแต่อดีตยาวนานมาจวบจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน.....พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วตามแรงหนุนเนืองจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ผนวกเข้ากับแรงผลักดันทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการค้าขาย ทำให้การแผ้วถางตัดโค่นทำลายป่าเพื่อนำไม้ไปจำหน่าย.....ใช้ที่ดินปลูกพืชไร่.....หรือ สร้างสถานตากอากาศ กลายเป็นพฤติกรรมซ้ำซากซึ่งยากจะแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ และสืบเนื่องด้วยสาเหตุที่ผืนป่าต้นน้ำถูกทำลายลงไปอย่างไม่บันยะบันยังนี่เอง ความแห้งแล้ง.....สภาวะที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล.....เหตุน้ำท่วมเฉียบพลันในยามที่น้ำป่าไหลหลาก.....รวมไปถึงการพังทลายของหน้าดิน.....จึงกลายเป็นผลลัพธ์ที่ลูกหลานไทยจำต้องก้มหน้ายอมรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
|
.........................ศาลมหาราช และ ต้นกุหลาบ.........................
|
|
พระตำหนักปางตอง : โครงการพระราชดำริปางตอง 4 คือชื่อของสถานที่แห่งนี้
|
พระตำหนักปางตอง : จากเขตพระราชฐานสู่พื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งเคยมีปัญหาการบุกรุกทำลายป่า.....ทำไร่เลื่อนลอย.....ปลูกฝิ่นกันอย่างกว้างขวาง แต่ภายหลังจากที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎร ณ เมืองสามหมอกแห่งนี้แล้วได้ทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว พระองค์ก็ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ก่อตั้ง “โครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริปางตอง” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ปัจจุบันนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “โครงการพระราชดำริปางตอง” ครับ) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้โครงการแห่งนี้เป็นศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงใช้เป็นศูนย์ศึกษาการทำเกษตรบนที่สูง เพื่อที่จะช่วยให้ชาวไทยภูเขาและเกษตรกรในท้องถิ่นลด.....ละ.....เลิกพฤติกรรมการตัดไม้ทำลายป่า.....ทำไร่เลื่อนลอย.....ปลูกฝิ่น แล้วหันมาดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว และรู้จักรักษาผืนป่าต้นน้ำให้เป็นแหล่งทำมาหากินอันอุดมสมบูรณ์ของตนเองตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ต่อไป
|
.........................โรงเรือนจากพระมหากรุณาธิคุณ.........................
|
|
........................................เขตพระราชฐานบนขุนเขา........................................
|
สืบเนื่องด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้นนี้เอง “พระตำหนักปางตอง” จึงถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ทรงงาน – ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถในยามที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรและติดตามความคืบหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน
“พระตำหนักปางตอง” เป็นหมู่เรือนประทับแรมไม้ 6 หลังสร้างอยู่ติดแนวไหล่เขา รอบตัวอาคารพระตำหนักปลูกแมกไม้น้อยใหญ่จนดูร่มรื่น ห่างจากตัวพระตำหนักปางตองออกไปเล็กน้อยมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไป – มายังสถานที่ต่างๆ ลักษณะโดยทั่วไปของพื้นที่รอบเขตพระตำหนักปางตองเป็นภูเขาชันสลับกับที่ราบเชิงเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 800 – 1,000 เมตร ส่งผลให้บริเวณพระตำหนักแห่งนี้มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นอยู่เกือบตลอดทั้งปี
|
...............แกะน้อย.....ในศูนย์อนุรักษ์และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตอง...............
|
|
...............เล็มหญ้า.........................กับ.........................ดาราหน้ากล้อง...............
|
.....ต่อมาในภายหลัง.....การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริปางตองประสบผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างดี จึงได้มีการขยายขอบเขตพื้นที่โครงการฯ จาก “โครงการพระราชดำริปางตอง 1(ห้วยมะเขือส้ม)” มาสู่ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” แล้วต่อมายัง “โครงการพระราชดำริปางตอง 3 (แม่สะงา – หมอกจำแป่)” และในที่สุดพื้นที่ของพระตำหนักปางตองรวมถึงบริเวณโดยรอบก็ได้รับการพัฒนาให้กลายไปเป็น “โครงการพระราชดำริปางตอง 4 (พระตำหนักปางตอง)” เมื่อปี พ.ศ. 2537
พระตำหนักปางตองในปัจจุบัน
ปัจจุบัน.....ภายใน “พระตำหนักปางตอง : โครงการพระราชดำริปางตอง 4” มีทั้งพื้นที่ของเรือนอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะ , ศูนย์อนุรักษ์และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตอง , ฐานเรียนรู้การทำเกษตรที่สูงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง , ฐานเรียนรู้การสร้างป่าเปียกเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่า , ฯลฯ.....ซึ่งความหลากหลายของศูนย์อนุรักษ์และฐานการเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้นักท่องเที่ยวบางคนที่ยังไม่เคยเดินทางมายังพระตำหนักปางตองรู้สึกสับสนงุนงงไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นสำรวจพระตำหนักแห่งนี้จากตรงจุดไหนดี ? หากคุณเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งอาจจะมีอาการดังว่านี้ก็ลองตามทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) มาสำรวจสถานที่น่าสนใจต่างๆ รอบๆ บริเวณพระตำหนักปางตองกันดีกว่าครับ
|
...................................น่ารักอ่ะ !!...................................
|
1. ศาลมหาราช เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำพระตำหนักปางตองจะแนะนำให้นักท่องเที่ยวทุกคนแวะสักการะศาลแห่งนี้ก่อนที่จะเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมส่วนอื่นๆ ภายในบริเวณพระตำหนักฯ
2. ฐานเรียนรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวพระราชดำริในเรื่อง “การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย เนื่องด้วยพระองค์ทรงทราบดีว่า หากต้องการจะให้มีคนช่วยกันปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ผืนป่าแล้วล่ะก็ จำเป็นต้องทำให้คนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่พวกเขาปลูกและสามารถดำรงชีพด้วยผืนป่าที่พวกเขาช่วยกันรักษาได้ “การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” จึงหมายถึงการปลูกป่าโดยจัดให้มีเรือนยอด 3 ชั้น ได้แก่
- ไม้เรือนยอดชั้นบน.....ปลูกเพื่อประโยชน์.....พออยู่ : เป็นการปลูกป่าเพื่อใช้เนื้อไม้ทำที่อยู่อาศัย ต้นไม้ที่แนะนำให้ปลูกเป็นเรือนยอดชั้นบน ได้แก่ สัก , ตะเคียนทอง , ยางนา , สะเดา , จำปาทอง , ฯลฯ .....ทั้งนี้.....อาจเลือกปลูกต้นไม้ที่มีลำต้นสูงและออกผลใช้เป็นอาหารด้วยก็ได้ เช่น สะตอ , เหรียง , กะท้อน , มะพร้าว , เป็นต้น
|
...............นกยูง....................สูงสง่า...............
|
|
.........................ฝูงเป็ด และ ละอง/ละมั่ง.........................
|
- ไม้เรือนยอดชั้นกลาง.....ปลูกเพื่อประโยชน์.....พอกิน : เป็นการปลูกป่าเพื่อนำผลไม้มาเป็นอาหาร – จำหน่าย ต้นไม้ที่แนะนำให้ปลูกเป็นเรือนยอดชั้นกลาง ได้แก่ มะม่วง , ขนุน , ชมพู่ , มังคุด , ทุเรียน , ลองกอง , ฯลฯ.....ทั้งนี้.....อาจเลือกปลูกต้นไม้ที่มีความสูงของลำต้นในระดับกลางเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ด้วยก็ได้ เช่น ปาล์ม , ไผ่ เป็นต้น
- ไม้ปกคลุมหน้าดิน.....ปลูกเพื่อประโยชน์.....พอใช้ : เป็นการปลูกพืชปกคลุมหน้าดินเพื่อนำเอาส่วนต่างๆ ของพืชเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะใช้เป็นพืชสมุนไพร ใช้เป็นพืชพลังงานทดแทน ใช้ประกอบอาหาร หรือใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ.....ต้นไม้ที่แนะนำให้ปลูกคลุมหน้าดิน ได้แก่ หวาย , สบู่ดำ , ชะพลู , มะนาว , กาแฟ , ผักป่าชนิดต่างๆ , ฯลฯ.....ทั้งนี้.....อาจเลือกปลูกพืชที่ใช้ประโยชน์จากส่วนที่อยู่ใต้ดิน (พืชหัว) ควบคู่ไปด้วยก็ได้ เช่น กลอย , ขิง , ข่า , กระชาย เป็นต้น
สำหรับประโยชน์อย่างที่ 4 นั้นเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกป่าโดยจัดให้มีเรือนยอด 3 ชั้นร่วมกัน คือ เป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ผืนป่า ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และฟื้นคืนความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศน์..........นักท่องเที่ยวสามารถเดินจากศาลมหาราชมายังฐานการเรียนรู้แห่งนี้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 – 10 นาที (ฐานเรียนรู้การสร้างป่าเปียกเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าก็ตั้งอยู่ติดกับฐานเรียนรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างแห่งนี้ด้วยครับ)
|
.........................ฝูงม้า กับ เสือไฟ.........................
|
|
..........กรงสัตว์ป่าอนุรักษ์ในเขตพื้นที่ พระตำหนักปางตอง..........
|
3. เรือนเพาะชำและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ เป็นโรงเรือนที่จัดสร้างขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อใช้เป็นศูนย์เพาะชำและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะซึ่งเป็นกล้วยไม้ประจำถิ่น นอกจากนั้นยังมีการปลูกเพาะชำกล้วยไม้สายพันธุ์อื่นๆ เพื่อปล่อยคืนสู่พื้นที่ป่าในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย.....นักท่องเที่ยวซึ่งชื่นชอบการเลี้ยงกล้วยไม้สามารถแวะเข้าเยี่ยมชมโรงเรือนแห่งนี้ได้ทุกวัน
4. ศูนย์อนุรักษ์และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตอง เป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่ก่อสร้างและเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 [ก่อสร้างและเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนที่โครงการพระราชดำริปางตอง 4 (พระตำหนักปางตอง) จะเริ่มต้นเสียอีกนะครับ] เพื่อสนองแนวพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ที่ทรงต้องการจะอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่แถบนี้ไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้ศึกษา.....ค้นคว้า.....วิจัยวิชาการทางด้านสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วย ตัวอย่างสัตว์ป่าหายากที่สามารถพบเห็นได้ในสถานีฯ เช่น เสือไฟ , เสือลายเมฆ , แมวดาว , เก้ง , ละอง , ละมั่ง , นกยูง , นกแว่น , ไก่ฟ้าหลังเงิน เป็นต้น.....และนอกเหนือไปจากสัตว์ป่าหายากดังกล่าวข้างต้นแล้ว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตองก็ยังมีการเพาะขยายพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น เป็ด , ม้า , แกะ , ฯลฯ.....นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมความแปลก – น่ารักของสัตว์เหล่านี้ พร้อมทั้งแวะให้อาหารแกะได้อย่างสนุกสนาน
|
แปลงปลูกสตรอเบอรี่ของ โครงการพระราชดำริปางตอง 4
|
|
...................................ดอกไม้ในสวน...................................
|
5. ฐานเรียนรู้การทำเกษตรที่สูงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นฐานการเรียนรู้ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในอาณาบริเวณรอบเขตพระตำหนักปางตอง เช่น แปลงสาธิตการปลูกสตรอเบอรี่โดยไม่ใช้สารเคมี , การทำนาแบบขั้นบันไดโดยใช้หญ้าแฝกปลูกแซมเพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน , แปลงสาธิตการปลูกผักอินทรีย์ , ฐานเรียนรู้การผลิตต้นพันธุ์พืชบนพื้นที่สูง เป็นต้น.....ฐานการเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้จะมีแผ่นป้ายข้อมูลทางวิชาการปัก – ติดเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวอ่านได้อย่างสะดวก (แต่บางฐานก็อาจหาป้ายข้อมูลไม่เจอได้ครับ)
|
โครงการพระราชดำริปางตอง 4 : พระตำหนักปางตอง
คือ ห้องเรียนสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาหาความรู้เพื่ออยู่อย่างพอเพียง
|
6. อาคารพระตำหนักปางตอง เป็นหมู่เรือนประทับแรมไม้ 6 หลังสร้างอยู่ติดแนวไหล่เขา ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมภายในตัวอาคาร แต่สามารถเดิมชมสวนดอกไม้ หรือถ่ายภาพรอบๆ ตัวอาคารพระตำหนักได้.....บางคนก็เรียกตัวอาคารพระตำหนักทั้ง 6 หลังนี้ว่า “เรือนประทับแรมปางตอง”นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาขับรถและเดินเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจรอบๆ บริเวณพระตำหนักปางตองเหล่านี้ได้อย่างถ้วนทั่วภายใน 1 วัน แต่ถ้าหากมีเวลาน้อยล่ะก็แนะนำให้แวะป้อนอาหารแกะและเยี่ยมชมสัตว์ป่าหายากที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตองก็น่าจะเพียงพอ
|
.....คนๆ หนึ่งที่คอยช่วยดูแลแปลงเกษตรจนมีดอกไม้สวยๆ แบบนี้ให้พวกเราได้ชม.....
|
|
............เรือนเพาะชำและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะตามพระราชเสาวนีย์............
|
การเดินทางสู่พระตำหนักปางตอง :
รถยนต์ส่วนบุคคล จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 มุ่งหน้าไปทาง อ.ปางมะผ้า ก่อนถึง “ถ้ำปลา” เล็กน้อยจะพบทางแยกซ้ายมือไป “บ้านหมอกจำแป่” ให้เลี้ยวซ้ายบริเวณแยกดังกล่าวแล้วขับรถตรงไปเรื่อยๆ จนพบกับสามแยก จากนั้นให้เลี้ยวขวามุ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านน้ำตกผาเสื่อไปประมาณ 4 กม.จะพบกับทางแยกเข้าพระตำหนักปางตอง ให้เลี้ยวซ้ายไปตามแยกดังกล่าวแล้วขับรถตรงต่อไปอีกประมาณ 1 กม.กว่าๆ ก็จะถึงทางเข้าพระตำหนักฯ
รถประจำทาง มีรถประจำทางจาก “ตลาดสายหยุด” ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปยังปางอุ๋ง – บ้านรักไทยทุกวัน นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถดังกล่าวไปลงบริเวณทางแยกเข้าพระตำหนักปางตอง แล้วจึงเดินเท้าต่อเข้าไปยังตัวพระตำหนักฯ อีกประมาณ 1 กม.กว่าๆ (หากไม่มีรถส่วนตัว.....แนะนำให้เหมารถเที่ยวจะดีกว่า เพราะพื้นที่ภายในบริเวณพระตำหนักปางตองกว้างขวางมากๆ ครับ)
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู แต่ช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่พระตำหนักปางตองมีความสวยงามมากที่สุด (กรณีเดินทางมายังพระตำหนักปางตองในช่วงฤดูฝนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะมากกว่าปกติ เนื่องจากเส้นทางบางช่วงคดเคี้ยวและสูงชัน)
ขอขอบคุณ : ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 16
หมายเหตุ : ข้อมูลบางอย่างของ “พระตำหนักปางตอง” อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ท ในย่านตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
|
อ.เมือง |
พระธาตุดอยกองมู , วัดจองคำ - วัดจองกลาง , วัดหัวเวียง ,
ถ้ำปลา , น้ำตกผาเสื่อ , บ่อน้ำร้อนผาบ่อง , ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน ,
บ้านห้วยเสือเฒ่า , หมู่บ้านจีนยูนนาน - บ้านรักไทย , ภูโคลน - คันทรีคลับ ,
โครงการพระราชดำริปางตอง-2-ปางอุ๋ง ,
|
อ.ปาย |
วัดน้ำฮู , กองแลน , บ้านสันติชล , สะพานประวัติศาสตร์ปาย ,
ถนนคนเดินปาย , น้ำตกหมอแปง , โป่งน้ำร้อนท่าปาย |
อ.ขุนยวม |
ทุ่งดอกบัวตอง-ดอยแม่อูคอ , ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ,
น้ำตกแม่สุรินทร์ |
อ.ปางมะผ้า |
ถ้ำลอด |
อ.แม่ลาน้อย |
ถ้ำแก้วโกมล |
|