กะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
|
หน้า 1 ความเป็นมาของกะเหรี่ยงคอยาว
เบื้องหลังภาพถ่ายที่ดูสวยงาม.....น่าประทับใจ.....น่าหลงใหล.....น่าจดจำ บางครั้งก็แฝงไว้ด้วยเรื่องราวแห่งความแร้นแค้น ขัดสน ทุกข์ยาก การเอารัดเอาเปรียบ และความจำเป็นซึ่งบีบบังคับให้ต้องอดทนต่อสู้ ไขว่คว้า แสวงหาหนทางแห่งชีวิตที่อาจจะดีกว่าวันวาน ดังเช่นเรื่องราวซึ่งแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพถ่ายของ “กะเหรี่ยงคอยาว” แห่ง บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
“กะเหรี่ยงคอยาว” ชนเผ่าพลัดถิ่นแห่งเมืองสามหมอก
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน “กะเหรี่ยงคอยาว” จะถือเป็นชนเผ่าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่เมื่อลองศึกษาข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ย้อนกลับไปในอดีต เราก็จะพบว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นประชาชนคนพื้นถิ่นของเมืองสามหมอก หากแต่เป็นพลเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐกะยา ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า ต่อมากะเหรี่ยงแดงที่เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งเคยอาศัยอยู่ภายในรัฐกะยามาก่อนที่รัฐบาลทหารจะถือวิสาสะผนวกดินแดนแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “สหภาพพม่า” ได้จับอาวุธและลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารเพื่อเรียกร้องดินแดนคืน ส่งผลให้ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวส่วนหนึ่งต้องอพยพครอบครัวย้ายมาอยู่ใกล้กับแนวเขตชายแดนไทย – พม่าร่วมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ
|
...............บรรยากาศของร้านค้าต่างๆ ภายใน หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า...............
|
เนื่องจากผู้หญิงของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวมีการแต่งการที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์โดยจะมีการสวมห่วงทองเหลืองไว้รอบคอเป็นวงๆ แตกต่างจากกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน..........ในราวปี พ.ศ. 2528 จึงได้มีผู้ประกอบการนำเที่ยวเข้าไปเจรจาตกลงกับรองนายกของกลุ่มกะเหรี่ยงชื่อ “ตูยีมู” เพื่อขอพากะเหรี่ยงคอยาวเข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้ชมในประเทศไทยโดยจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทนแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้นำกลุ่มกะเหรี่ยงจะนำเงินจำนวนนี้บางส่วนไปใช้ซื้ออาวุธเพื่อสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไว้ใช้เป็นค่ากินอยู่รวมถึงเป็นเงินตอบแทนประจำเดือนของครอบครัวกะเหรี่ยงคอยาวที่ตกลงใจย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ภายในอาณาเขตประเทศไทย
บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน คือ สถานที่แห่งแรกของประเทศไทยที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวได้โยกย้ายอพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่ภายหลังบริเวณดังกล่าวนี้ได้ถูกทหารพม่ายกกำลังเข้าโจมตี ทำให้ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวบางส่วนต้องอพยพไปอยู่รวมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ที่บ้านห้วยปูแกง , บ้านในสอย และบางส่วนก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
|
...............กะยัน..........ปาดอง.....หรือ.....กะเหรี่ยงคอยาว คือ ชื่อที่ใช้เรียกขานพวกเธอเหล่านี้...............
|
รัฐบาลทหารของพม่าเคยมีความพยายามที่จะเจรจาขอให้ทางการไทยส่งตัวชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวกลับคืนสู่ประเทศผ่าน “การประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย – พม่า” เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยให้เหตุผลว่า มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งต่อต้านรัฐบาลพม่าอยู่เบื้องหลังการจัดแสดงวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวและเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมหมู่บ้านจากนักท่องเที่ยว.....การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติชนกลุ่มน้อย อีกทั้งยังอาจถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ทางการไทยส่งชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวกลับคืนสู่บ้านเกิด ซึ่งในครั้งนั้นทางการไทยได้ให้เหตุผลโต้แย้งว่า.....ทางการไทยได้สอบถามพูดคุยกับชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวแล้ว แต่ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวบอกว่าสักวันหนึ่งเมื่อถึงเวลา พวกเขาจะเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนด้วยตนเอง ?.....ส่วนการจัดแสดงวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวและเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวนั้นเป็นการตกลงกันเองของชนเผ่า ทางการไทยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยและสัญญาว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน.....นอกจากนี้ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวยังได้มีโอกาสจำหน่ายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัวและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองอีกทางหนึ่งด้วย..........ผลสรุปสุดท้ายจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนฯ ในครั้งนั้นทำให้ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวซึ่งข้ามชายแดนไทยเข้ามายังคงปักหลักพักอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนดังเดิมต่อไป
|
...............จากหมู่บ้านของผู้ลี้ภัย.........................กลับกลายเป็นหมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยว...............
|
.....อย่างไรก็ตาม.....สถานะภาพของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นก็ถือเป็นแค่เพียง “ผู้อพยพหนีภัยสงคราม” ซึ่งเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ทางการไทยจึงไม่อนุญาตให้พวกเขาครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ทุกวันนี้พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงรอรับอาหารและเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพจากผู้ประกอบการนำเที่ยว , ขอความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนจากทางการไทย , หาของป่าเล็กน้อยๆ ใกล้ๆ กับเขตที่พักอาศัย หรือจำหน่ายผ้าทอรวมถึงของที่ระลึกต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวบางคนก็ยังคงเชื่อว่า.....นี่คือ.....วิถีชีวิตที่ดีกว่าการกลับไปอยู่อย่างหวาดกลัวและไม่สามารถคาดเดาอนาคตของตนเองได้ เมื่อต้องหวนย้อนคืนไปยังบ้านเกิดเมืองนอนที่หนีจากมา
เรื่องราวของ “ห่วงทองเหลือง”
สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องของประเพณีการสวมห่วงทองเหลืองไว้โดยรอบลำคอของผู้หญิงในเผ่าจนดูคล้ายกับว่าลำคอของพวกเธอยืดยาวออกมาจนผิดธรรมชาติ ด้วยลักษณะเช่นนี้เองจึงทำให้ชนเผ่าอื่นๆ เรียกพวกเธอว่า “ปาดอง” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้สวมห่วงทองเหลือง”
|
.......................................วิถีชีวิตที่ผันแปรของ กะเหรี่ยงคอยาว.......................................
|
ความเป็นจริงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวก็คือ ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนในเผ่าจะต้องสวมห่วงทองเหลืองไว้โดยรอบบริเวณลำคอ .....ในสมัยก่อน.....หญิงผู้ซึ่งจะสวมห่วงทองเหลืองต้องเป็นหญิงที่มีสายเลือดกะเหรี่ยงคอยาวแท้ ไม่มีเชื้อผสมจากเผ่าอื่น และต้องเป็นหญิงซึ่งเกิดในวันพุธที่ตรงกับวันเพ็ญเท่านั้น.....แต่ต่อมาไม่ว่าจะเป็นหญิงที่เกิดวันใดๆ ก็นิยมใส่ห่วงคอกันหมด ยกเว้นหญิงเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวที่นับถือศาสนาคริสต์จะไม่มีการสวมห่วงที่คอเลย (โดยปกติกะเหรี่ยงคอยาวจะนับถือศาสนาพุทธ , ศาสนาคริสต์ หรือนับถือ “ผี” ตามอิทธิพล – ความเชื่อของแต่ละพื้นที่ครับ) นอกจากนี้ผู้ชายในเผ่าก็จะไม่มีการสวมห่วงทองเหลืองตามร่างกายแต่กลับแต่งกายคล้ายคลึงกับกะเหรี่ยงเผ่าอื่นๆ แทน..........ด้วยเหตุนี้เองคนในเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจึงต้องการให้คนทั่วไปเรียกพวกเขาว่า “กะยัน” [ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมลองสันนิษฐานเอาเองว่า “กะยัน (Kayan)” น่าจะหมายถึง “ผู้คนแห่งรัฐกะยา (Kayah State’s People)” ล่ะมั้งครับ ?] แทนที่จะเรียกพวกเขารวมๆ กันทั้งหมดด้วยชื่อ “ปาดอง” ดังที่นักท่องเที่ยวหลายๆ คนเคยคุ้นชิน [แต่ในบทความชิ้นนี้.....ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะขออนุญาตเรียกพวกเขาว่า “กะเหรี่ยงคอยาว” ตามความนิยมโดยทั่วๆ ไปของชาวไทย เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจครับ]
|
...................................กลุ่มเด็กและสตรีผู้เป็นดั่งสีสันแห่งขุนเขา...................................
|
|
........................................สาวน้อยผู้ทรงเสน่ห์........................................
|
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสาเหตุที่ผู้หญิงในเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวต้องใส่ห่วงทองเหลืองรอบๆ ลำคออยู่ 3 – 4 เรื่อง ..........ซึ่ง..........ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเรื่องราวไหนกันแน่ที่เป็นจุดกำเนิดการใส่ห่วงทองเหลืองที่แท้จริง เพราะฉะนั้นพวกเราจึงได้รวบรวมข้อมูลของเรื่องเล่าต่างๆ เหล่านี้มาให้คุณๆ ได้อ่านกันทั้งหมดดังต่อไปนี้
เรื่องที่ 1. ในอดีตอันไกลโพ้น ดินแดนของพม่าเคยถูกปกครองโดย “แลเคอ” ชนเผ่านักรบผู้กล้าหาญและยึดถือคำสัตย์เสมอด้วยชีวิต (แลเคอ คือ ชนเผ่ากะยัน หรือกะเหรี่ยงคอยาวในปัจจุบัน) ต่อมาพม่าได้ผนึกกำลังกับชนเผ่าบังการี (ต้นตระกูลของชาวบังคลาเทศ) ทำสงครามขับไล่ชนเผ่าแลเคอ จนเป็นเหตุให้แลเคอต้องอพยพหลบหนีจากถิ่นฐานบ้านเดิมโยกย้ายไปอยู่ยังดินแดนแห่งใหม่ ในระหว่างการหลบหนีนั้นราชธิดาของผู้นำเผ่าได้นำเอา “ต้นปาดอง” ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวแลเคอติดตัวมาด้วย ต้นปาดองนี้มีสีเหลืองอร่ามดุจทอง ครั้นเมื่อหลบหนีมาจนถึงดินแดนซึ่งปลอดภัยจากการติดตามของข้าศึกศัตรูแล้ว ราชธิดาจึงสั่งให้ไพร่พลหยุดทัพ หลังจากนั้นก็นำต้นปาดองมาพันไว้รอบคอพร้อมทั้งประกาศว่าจะนำเอาต้นปาดองออกจากคอก็ต่อเมื่อชนเผ่าแลเคอสามารถกู้แผ่นดินเกิดกลับคืนมาได้.....ด้วยเหตุนี้เอง.....กะเหรี่ยงคอยาวซึ่งเป็นลูกหลานของชนเผ่าแลเคอผู้ยึดถือคำสัตย์เสมอด้วยชีวิตจึงนิยมทำพิธีกรรมใส่ห่วงรอบคอให้แก่เด็กหญิงในเผ่าตั้งแต่อายุ 5 – 9 ปี (เป็นช่วงอายุซึ่งคาดว่าตรงกันกับช่วงอายุของราชธิดาในขณะที่นำต้นปาดองมาพันรอบคอเป็นครั้งแรก) และในระหว่างทำพิธีกรรมหมอผีประจำเผ่าจะท่องคาถากล่าวเตือนใจให้พยายามกลับไปกู้แผ่นดินคืน
|
...................................นักดนตรีคนดังของ ชนเผ่ากะยัน...................................
|
|
...................................ทอผ้า..........ถักทอสายใยแห่งชีวิต...................................
|
เรื่องที่ 2. ว่ากันว่าในสมัยก่อนชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวได้ทำให้ภูตผีไม่พอใจ ภูติผีดังกล่าวจึงส่งเสือมากัดกินผู้หญิงในเผ่า บรรพบุรุษของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเกรงว่าหากผู้หญิงถูกกัดตายหมดก็จะทำให้เผ่าของตนไร้ซึ่งคนสืบเชื้อสายชาติพันธุ์ จึงตกลงให้ผู้หญิงในเผ่าของตนสวมใส่ห่วงทองเหลืองไว้โดยรอบลำคอ ข้อมือ และบริเวณน่องใต้ข้อเข่าเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากคมเขี้ยวของเสือ (ปัจจุบันชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะนิยมใส่กำไลอะลูมิเนียมที่ข้อมือ แต่ยังคงใส่ห่วงทองเหลืองรอบคอและใต้ข้อเข่าอยู่เช่นเดิมครับ)
เรื่องที่ 3. อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มารดาของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว คือ มังกรและหงส์ พวกเขาจึงต้องใส่ห่วงทองเหลืองไว้โดยรอบบริเวณลำคอเพื่อให้มีคอที่ยาว สวยงาม ดุจดั่งเช่นลำคอของมังกรและหงส์
เรื่องที่ 4. เป็นการคาดเดาตามหลักเหตุผลของนักวิชาการว่า การสวมใส่ห่วงทองเหลืองของหญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวนั้นใช้บ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับหญิงของชนเผ่าอื่นๆ เพื่อป้องกันการแต่งงานข้ามเผ่า (วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าจะไม่นิยมการแต่งงานข้ามเผ่าครับ) ทั้งนี้การสวมใส่ห่วงทองเหลืองนั้นยังอาจถูกใช้เพื่อแสดงถึงฐานะทางสังคม และประดับประดาเพื่อความสวยงามด้วย
|
...................................ทายซิว่าในสองภาพนี้ใครเป็น กะเหรี่ยงคอยาว ตัวปลอม ?...................................
|
โดยปกติภายหลังจากที่เด็กหญิงในเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเริ่มสวมห่วงทองเหลืองรอบลำคอแล้วจะมีการถอดห่วงออกเพื่อเปลี่ยนขนาดและเพิ่มจำนวนขดทองเหลืองให้มากขึ้นทุกๆ 4 ปี การถอดห่วงทองเหลืองออกเพื่อเปลี่ยนขนาดนี้จะทำทั้งหมดประมาณ 9 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจะเปลี่ยนห่วงทองเหลืองเมื่อหญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวมีอายุประมาณ 45 ปี หลังจากการเปลี่ยนห่วงครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้นเธอก็จะใส่ห่วงชุดนั้นไปตลอดจนกว่าจะหมดอายุขัย..........ทั้งนี้..........หญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวอาจมีการถอดห่วงทองเหลืองออกจากลำคอเนื่องในโอกาสอื่นๆ อีกบ้าง เช่น การถอดห่วงออกเพื่อเตรียมตัวคลอดบุตร.....เมื่อคลอดบุตรเรียบร้อยแล้วก็จะใส่ห่วงทองเหลืองกลับเข้าไปดังเดิม , การลงโทษให้ถอดห่วงคอออกเพื่อประจานถึงการกระทำความผิดบางอย่าง เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
|
อ.เมือง |
พระธาตุดอยกองมู , วัดจองคำ - วัดจองกลาง , วัดหัวเวียง ,
ถ้ำปลา , น้ำตกผาเสื่อ , บ่อน้ำร้อนผาบ่อง , ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน
บ้านห้วยเสือเฒ่า , หมู่บ้านจีนยูนนาน - บ้านรักไทย , ภูโคลน - คันทรีคลับ
โครงการพระราชดำริปางตอง-2-ปางอุ๋ง ,
โครงการพระราชดำริปางตอง-4-พระตำหนักปางตอง |
อ.ปาย |
วัดน้ำฮู , กองแลน , บ้านสันติชล , สะพานประวัติศาสตร์ปาย
ถนนคนเดินปาย , น้ำตกหมอแปง , โป่งน้ำร้อนท่าปาย |
อ.ขุนยวม |
ทุ่งดอกบัวตอง-ดอยแม่อูคอ , ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ,
น้ำตกแม่สุรินทร์ |
อ.ปางมะผ้า |
ถ้ำลอด |
อ.แม่ลาน้อย |
ถ้ำแก้วโกมล |
|