บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท
หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว และชาวเขา 8 ชนเผ่า
อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
|
รับทันที ! โปรโมชั่นบัตรเข้าชม “บ้านวังน้ำหยาด” หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว จ.เชียงใหม่
และห้องพัก “วังน้ำหยาด รีสอร์ท” ราคาพิเศษ !
เฉพาะผู้ที่ติดต่อสำรองบัตรเข้าชมหมู่บ้าน/จองห้องพัก
พร้อมกับชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนล่วงหน้าตามเงื่อนไข
ผ่านหมายเลขโทรศัพท์หรือ Line ID ในกรอบทางด้านล่าง ตั้งแต่วันนี้ – 31 ต.ค. 63 เท่านั้น ! |
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา
บ้านวังน้ำหยาดปิด ยังไม่มีกำหนดเปิดค่ะ |
กะเหรี่ยงคอยาว คือ หนึ่งในกลุ่มชนเผ่าพลัดถิ่นซึ่งอพยพหลบหนีไฟสงครามจากสหภาพเมียนมาร์เข้ามายังประเทศไทย โดยในระยะแรกที่มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามานั้น กะเหรี่ยงคอยาวจำนวนมากได้รวมตัวพำนักอาศัยอยู่ในละแวก “บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน” และ “บ้านท่าตอน จ.เชียงราย” ต่อมาเมื่อสามีของพวกเธอได้ออกตระเวนทำงานรับจ้างทั่วไปเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว จึงเริ่มเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรกะเหรี่ยงคอยาวกระจัดกระจายเข้าไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศไทยอีกหลายแห่งซึ่ง “บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่” ก็นับเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีประชากรชาวกะเหรี่ยงคอยาวแท้ๆ พำนักอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
|
..........ความงดงามของวิถีชีวิตชนเผ่าซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นได้ในปัจจุบัน..........
|
|
.....ยายกับหลานแห่งหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่.....
|
บ้านวังน้ำหยาด : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวกลางน้ำตกสวยของ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
วังน้ำหยาด เป็นชื่อของลำห้วยที่มีตาน้ำอยู่บนสันเขาท่ามกลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จากตาน้ำก็ไหลลัดเลาะลดหลั่นลงมากลายเป็นสายน้ำตกเล็กๆ ซึ่งมีความบริสุทธิ์งดงาม และความงดงามอันน่าจดจำดังกล่าวนี้ก็ได้ทำให้ “พี่บัวผาย” และครอบครัวตัดสินใจที่จะเลือกซื้อที่ดินผืนเล็กๆ ติดกับน้ำตกวังน้ำหยาด แล้วพัฒนาจนกลายมาเป็นรีสอร์ทท่ามกลางสายน้ำอันชุ่มชื่นและขุนเขาสีเขียวขจี
|
.........................แคร่ไม้ไผ่กลางสายน้ำภายใน วังน้ำหยาดรีสอร์ท.........................
|
|
...................................ร่มรื่น....................ชื่นฉ่ำเย็น...................................
|
เป็นเรื่องที่แน่นอนว่าการก่อสร้าง พัฒนา และดูแลรีสอร์ทนั้นจำเป็นจะต้องใช้แรงงานคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพี่บัวผายจึงตัดสินใจว่าจ้างแรงงานกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขาเผ่าอื่นๆ ซึ่งเข้ามาทำงานรับจ้างทั่วไปอยู่ในเขตท้องที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ช่วยก่อสร้าง “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” ขึ้นโดยได้จัดแบ่งที่ดินบางส่วนให้แก่กลุ่มชาวเขาเหล่านี้ก่อสร้างบ้านพักของครอบครัวอยู่ติดกับเขตพื้นที่ของรีสอร์ท เพื่อช่วยให้สามีของหญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขาเผ่าอื่นๆ สามารถเดินทางมาทำงานในวังน้ำหยาดรีสอร์ทได้อย่างสะดวกสบาย
|
...................................แสงเช้า พราวพร่าง กลางไพร...................................
|
|
.........................กาลครั้งหนึ่ง ณ บ้านวังน้ำหยาด.........................
|
จากลักษณะวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขาเผ่าอื่นๆ อีกหลายเผ่า ผู้ชายจะมีหน้าที่ออกไปทำงาน ทำนา ทำไร่ หาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงก็จะมีหน้าที่อยู่ดูแลลูกหลาน ทำงานบ้าน ทอผ้า หรือประดิษฐ์ชิ้นงานหัตถกรรมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อใช้ประดับตกแต่งร่างกายตามลักษณะประเพณีนิยมประจำเผ่า .....ทั้งนี้.....ด้วยลักษณะของเครื่องแต่งกายอันงดงามแปลกตา รูปแบบความเชื่อ วิถีชีวิต รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจาก “คนเมือง” โดยทั่วๆ ไป (“คนเมือง” ในที่นี้หมายถึง “ชาวไทยล้านนา” ครับ) จึงทำให้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านชาวเขาเหล่านี้อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ที่ “บ้านวังน้ำหยาด” ก็ต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
|
...................................ยกตะกร้า ตุ๊กตาวัว...................................
|
|
...................................ทอผ้าแพรพรรณ...................................
|
ความเป็นจริงบางประการในอดีต ก็คือ การแวะเวียนมาเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวเขาของนักท่องเที่ยวในสมัยก่อน บางครั้งก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ขึ้นแก่ชาวเขาภายในหมู่บ้านเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังถือเป็นการรบกวนวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้พี่บัวผายมีแนวความคิดที่จะปรับเปลี่ยน “หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า บ้านวังน้ำหยาด” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนที่ดินส่วนตัวของครอบครัวให้กลายเป็นหมู่บ้านชาวเขาเพื่อการท่องเที่ยว (ที่ดินของรีสอร์ทรวมกับหมู่บ้านชาวเขาเพื่อการท่องเที่ยวมีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่) โดยมีการเรียกเก็บค่าบำรุงหมู่บ้านจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเข้าเยี่ยมชม แล้วจึงนำรายได้จากการเข้าเยี่ยมชมมาจัดเป็นสวัสดิการบ้านพักและเงินเดือนให้แก่ครอบครัวชาวเขาซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ภายในหมู่บ้านโดยสมัครใจ มีการจัดหาข้าวสารและอาหารต่างๆ ให้ตามความเหมาะสมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยออกค่าดำเนินการต่ออายุหนังสือเดินทางให้ (ชาวเขาบางชนเผ่าในบ้านวังน้ำหยาดเป็นชาวเมียนมาร์ซึ่งเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นจะต้องมีการต่ออายุหนังสือเดินทางอยู่เป็นระยะๆ แต่ชาวเขาหลายๆ คนก็เป็นผู้มีสัญชาติไทยที่มีบัตรประชาชนตามปกติครับ) นอกจากนี้ชาวเขาทุกๆ ชนเผ่าในหมู่บ้านก็ยังสามารถใช้น้ำในลำห้วยวังน้ำหยาดได้ตามอัธยาศัยแบบฟรีๆ อีกด้วย (.....อย่างไรก็ดี.....ชาวเขาแต่ละครอบครัวจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยของเครื่องวัดซึ่งถูกติดแยกเอาไว้ตามบ้านแต่ละหลังเองครับ)
|
..........ปฎิทินภาษาเมียนมาร์หรือปฎิทินภาษาไทใหญ่.....ไม่แน่ใจเหมือนกัน ?..........
|
|
...................................อาคารเก่าริมน้ำ...................................
|
ในบ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นั้นมีชาวเขาอาศัยอยู่รวมกันทั้งหมดราว 20 – 30 ครอบครัว แบ่งแยกออกเป็น 9 ชนเผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยงคอยาว (กะยัน), กะเหรี่ยง, อาข่า (อ่าข่า), ปะหล่อง (ดาละอั้ง), เมี่ยน (เย้า), ลีซู, ม้ง, มูเซอ (ล่าหู่) และกะยอ (คะยอ) ซึ่งถึงแม้ว่าแต่ละชนเผ่าจะมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีนิยม ภาษา การแต่งกาย ฯลฯ หากแต่ทุกๆ คนก็ยังคงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขภายในหมู่บ้านวังน้ำหยาดแห่งนี้
|
........................................ธาราริน........................................
|
|
........................................ไหลลดหลั่น........................................
|
สำหรับกลุ่มประชากรชาวเขาที่มีจำนวนมากที่สุดภายในบ้านวังน้ำหยาด ก็คือ “กะเหรี่ยงคอยาว” หรือ “ชาวกะยัน” ซึ่งบอกได้เลยว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปภายในหมู่บ้านจนถึงเขตเพิงขายสินค้าแล้ว ไม่ว่าจะหันไปทางไหนๆ ก็จะได้พบเห็นเด็กๆ หรือหญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวกำลังนั่งกินขนม, เล่นกับเพื่อนๆ, ขายของ, ทอผ้า, หรือพูดคุยสนทนากันเองเป็นภาษาที่คนไทยธรรมดาๆ อาจฟังไม่รู้เรื่อง (.....ตามปกติ.....หากเป็นการสนทนาระหว่างชาวเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวด้วยกันเอง พวกเธอมักจะใช้ภาษาเมียนมาร์ แต่ถ้าจำเป็นต้องพูดคุยกับนักท่องเที่ยว พวกเธอก็จะใช้ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนในการสนทนาแบบสั้นๆ ครับ) ส่วนชาวเขาเผ่าอื่นๆ อีก 8 ชนเผ่าก็สามารถพบเห็นปะปนอยู่ภายในหมู่บ้านได้บ้างแต่มีจำนวนประชากรไม่มากเท่ากับชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว ด้วยเหตุนี้นักท่องเที่ยวบางคนจึงนิยมเรียกบ้านวังน้ำหยาดในอีกชื่อหนึ่งว่า “หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่”
|
....................กิจวัตรประจำวันส่วนหนึ่งของผู้หญิงกะเหรี่ยงคอยาว....................
|
|
.............................................คนมีเสน่ห์.............................................
|
ทำความรู้จักกับชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 9 ชนเผ่าแห่งบ้านวังน้ำหยาด
หากยึดเอาตามคำจำกัดความของหน่วยงานราชการในประเทศไทย “ชาวเขา” จะหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะวัฒนธรรมประเพณีและภาษาพูดเป็นของตนเอง อาศัยอยู่บนเขา ประกอบอาชีพด้วยการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีเชื้อสายอยู่ใน 9 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง, ม้ง, เมี่ยน, มูเซอ, ลีซอ, อาข่า, ลัวะ, ขมุ และถิ่น ส่วนชนเผ่าอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น กะเหรี่ยงคอยาว (กะยัน), ลีซู, ปะหล่อง, จีนฮ่อ, คะฉิ่น ฯลฯ จะเรียกว่า “ชนกลุ่มน้อย” หรือ “กลุ่มชาติพันธุ์”.....สำหรับในหมู่บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ก็จะมีทั้งชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์อยู่รวมกันทั้งหมด 9 ชนเผ่า ซึ่งเราจะได้ไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ความเป็นมารวมถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชนเผ่าในบทความย่อหน้าถัดๆ ไป
|
...............ช่วงเวลาแห่งการดื่ม (ชาเขียวบรรจุขวด) ด่ำกับเพื่อนพ้อง...............
|
|
.............................................Real & Fake.............................................
|
1. กะเหรี่ยงคอยาว (กะยัน) : นอกจากจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในบ้านวังน้ำหยาดแล้ว กะเหรี่ยงคอยาวยังถือเป็นชนเผ่าซึ่งมีลักษณะของการแต่งกายอันโดดเด่นจนยากจะหาใครเสมอเหมือน และเสน่ห์แห่งความแตกต่างดังกล่าวนี้ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนพวกเธอ ณ บ้านวังน้ำหยาด อยู่เสมอไม่เคยขาดสาย (กะเหรี่ยงคอยาวรวมถึงชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกๆ ชนเผ่าซึ่งพำนักอาศัยอยู่ภายในบ้านวังหยาดต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หมู่บ้านแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะของหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว และจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตพร้อมทั้งขอพวกเธอถ่ายภาพอยู่ตลอดครับ)
|
.........................พาหนะยุคปัจจุบันของชาวเขา.........................
|
|
........................................Donation boxes........................................
|
.....ตามประเพณีดั้งเดิม.....เด็กหญิงเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะเริ่มต้นใส่ห่วงทองเหลืองเอาไว้รอบลำคอตั้งแต่อายุราว 5 – 9 ปี โดยจะมีหมอผีเป็นผู้ทำพิธีกรรมเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อกำหนดฤกษ์ยามสำหรับวันเริ่มต้นใส่ห่วงทองเหลือง .....เมื่อทราบฤกษ์ยามเสร็จเรียบร้อย.....พ่อแม่ของเด็กหญิงก็จะต้องเป็นผู้ตระเตรียมห่วงทองเหลืองซึ่งขดเป็นวงติดกันประมาณ 6 วง มีความหนาของเนื้อวงขดทองเหลืองแต่ละชั้นราว 1 ซม. ห่วงดังกล่าวข้างตนจะถูกนำไปสวมเข้าทางศีรษะของเด็ก จากนั้นจึงใช้เครื่องมือรัดกระชับห่วงให้มีขนาดที่เหมาะสมกับลำคอ เมื่อเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวสวมใส่ห่วงทองเหลืองครั้งแรกเสร็จแล้วต่อไปก็จะมีการถอดเปลี่ยนห่วงชุดใหม่ซึ่งมีจำนวนชั้นของห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้นอีก 3 ชั้น ทุกๆ ช่วงเวลา 3 ปี โดยจะมีการเปลี่ยนเพิ่มชั้นห่วงครั้งสุดท้ายเมื่อผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวมีอายุราว 25 ปี หรือผู้หญิงคนนั้นแต่งงานมีครอบครัว .....สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงคอยาวแห่งบ้านวังน้ำหยาด.....หากมีเด็กหญิงหรือสมาชิกภายในครอบครัวคนใดใกล้จะถึงช่วงอายุที่จำเป็นจะต้องสวมใส่หรือถอดเปลี่ยนชุดห่วงทองเหลือง พ่อแม่หรือผู้ปกครองของหญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวคนนั้นๆ ก็จะมีการติดต่อเชิญหมอผีประจำเผ่าให้เข้ามาช่วยทำพิธีกรรมภายในหมู่บ้าน (ปัจจุบัน.....หมอผีประจำเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวไม่ได้พำนักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่บ้านวังน้ำหยาดแล้วครับ)
|
........................................ด้วยรักและผูกพัน........................................
|
|
.............................................งานในร่ม.............................................
|
ห่วงทองเหลืองที่ผู้หญิงเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวสวมใส่เอาไว้โดยรอบบริเวณคอแท้จริงแล้วจะถูกแบ่งออกเป็นขดวงห่วงจำนวน 2 ชุดใหญ่ๆ โดยขดวงห่วงชุดแรกจะเป็นชั้นห่วงวงกว้างที่สวมใส่เอาไว้ทางด้านล่างเพื่อใช้เป็นฐานถ่ายเทน้ำหนักจากขดวงห่วงชุดบนให้กระจายลงมาสู่บ่าทั้งสองข้างของผู้สวมใส่ ส่วนขดวงห่วงชุดที่สองจะวางซ้อนอยู่ทางด้านบนโดยรอบลำคอยึดกับขดวงห่วงชุดล่างด้วยสลัก ตามปกติเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวอายุน้อยๆ ภายในบ้านวังน้ำหยาดจะยังไม่มีการสวมใส่ขดวงห่วงชุดแรกบริเวณเหนือบ่าทั้งสองข้างแต่จะใส่เพียงแค่ขดวงห่วงโดยรอบลำคอเท่านั้น
|
.......................................................เกาะกลุ่ม.......................................................
|
|
.........................เหล่าผู้ที่เป็นดุจดั่งของขวัญแห่งขุนเขา.........................
|
เสื้อที่ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวแห่งบ้านวังน้ำหยาดนิยมสวมใส่จะมีลักษณะเป็นเสื้อคอ V คลุมหัวไหล่แขนสั้นคล้ายคลึงกับเสื้อของกะเหรี่ยงเผ่าอื่นๆ หากเป็นผู้หญิงเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวที่ยังคงแต่งกายแบบสมัยเก่าจริงๆ ก็จะนุ่งผ้าถุงสีดำยาวแค่ระดับเข่า มีปลอกผ้าสวมบริเวณท่อนขาช่วงล่าง เกล้าผมมวยทรงสูงโพกด้วยผ้าสีสันสดใส ข้อมือสวมกำไลเงิน ใส่ห่วงทองเหลืองรัดเอาไว้บนปลอกผ้าใต้เข่าและเหนือข้อเท้า (แต่ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวในบ้านวังน้ำหยาดส่วนใหญ่มักจะสวมผ้าถุงหลากหลายสีสันคลุมยาวไปถึงข้อเท้ามากกว่าที่จะนุ่งผ้าถุงสีดำระดับเข่าครับ) ส่วนผู้ชายชาวกะเหรี่ยงคอยาวมักจะสวมใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยมโดยไม่ได้แต่งกายตามลักษณะวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว
|
........................................บางมุมของน้ำตกวังน้ำหยาด........................................
|
|
.......................................................ลำดับขั้น.......................................................
|
สาเหตุซึ่งทำให้ผู้หญิงในเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวต้องสวมใส่ห่วงทองเหลืองเอาไว้โดยรอบลำคอนั้นมีเรื่องราวเล่าลือสืบต่อกันมาหลายกระแส จนทำให้ยากที่จะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องราวใดคือความเป็นจริงอันแน่แท้ตามประวัติศาสตร์ของชนเผ่า .....ถึงกระนั้น.....เรื่องราวแห่งความเชื่อเหล่านี้ต่างก็ยังคงมีเสน่ห์อันชวนให้น่าหลงใหล น่าค้นหา และน่าติดตามในหลากหลายแง่มุม ดังเช่นที่ทีมงานเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ได้สรุปเรื่องราวอันน่าจะเป็นจุดกำเนิดของการสวมห่วงทองเหลืองแยกเอาไว้เป็นหัวข้ออย่างย่นย่อตามรายละเอียดต่อไปนี้
|
...............ถึงจะมีไม่มากมาย.....แต่ก็ยิ้มอย่างเป็นสุขได้ถ้าใจพอเพียง...............
|
|
...............จุ๊.....จุ๊.....หนูรู้นะว่ากำลังถูกถ่ายรูป แต่จะเงียบๆ ไว้ไม่บอกใครก็แล้วกัน...............
|
เครื่องป้องกันภยันตรายจากภูตผี : .....ว่ากันว่า.....เมื่อครั้งอดีตเนิ่นนานมาแล้วบรรพบุรุษของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวได้ไปทำให้ภูตผีไม่พอใจ ภูตผีเหล่านั้นจึงส่งฝูงเสือป่าเข้ามากัดกินทำร้ายผู้คนในหมู่บ้านจนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ครั้นเมื่อลองสังเกตดูแล้วก็พบว่าคนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักจะถูกเสือกัดบริเวณลำคอ ด้วยเหตุดังกล่าวผู้นำของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจึงกำหนดให้เด็กหญิงและหญิงสาวในเผ่าจะต้องสวมใส่ห่วงโลหะไว้รอบๆ ลำคอเพื่อป้องกันภยันตราย โดยในระยะแรกๆ ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะใช้ทองคำมาทำเป็นห่วง ต่อมาเมื่อทองคำมีราคาสูงและหายากขึ้นจึงมีการเปลี่ยนมาใช้ห่วงทองเหลืองทดแทน
|
.........................ทายาทแห่งชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว.........................
|
|
.........................ไก่งามเพราะขน..........คนงามเพราะแต่ง.........................
|
เหล่าผู้สืบสายเลือดจากมังกรและหงส์ : ความเชื่ออีกกระแสหนึ่งกล่าวไว้ว่า ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวสืบเชื้อสายมาจากมารดาซึ่งเป็นมังกรและหงส์ ผู้หญิงในเผ่าจึงต้องสวมใส่ห่วงทองเหลืองรอบคอเอาไว้เป็นชั้นๆ เพื่อให้มีลำคอที่ยืดยาวแลดูสวยงามดุจดั่งมังกรและหงส์
สิ่งที่ใช้แยกความแตกต่างระหว่างชนเผ่า : เป็นข้อสันนิษฐานของนักวิชาการที่เชื่อว่า การสวมใส่ห่วงทองเหลืองของผู้หญิงในชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวนั้นกระทำไปเพื่อบ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้หญิงชนเผ่าอื่นๆ เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแต่งงานข้ามเผ่า และยังอาจใช้เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคม รวมถึงประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามอีกด้วย
|
.........................ยินดีต้อนรับสู่ บ้านวังน้ำหยาด.........................
หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว กลางสายน้ำตกสวยของ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
|
|
........................................ความงดงามส่องประกาย........................................
|
เครื่องเตือนใจให้กลับไปกอบกู้แผ่นดิน : ตามตำนานเก่าเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตอันไกลโพ้น.....ดินแดนของสหภาพเมียนมาร์ในปัจจุบันเคยถูกปกครองโดย “แลเคอ” ชนเผ่านักรบผู้ยึดถือความสำคัญของคำสัตย์เสมอด้วยชีวิต (สันนิษฐานกันว่าชาว “แลเคอ” คือ บรรพบุรุษของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวซึ่งเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนกลางของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ต่อมาจึงย้ายลงมาอาศัยอยู่ตามเขตพื้นที่ราบสูงทางตอนเหนือของแม่น้ำสาละวินในรัฐกะยา ประเทศเมียนมาร์ แต่ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองและทางรัฐบาลของประเทศเมียนมาร์ได้ตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อย ชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจึงจำต้องอพยพหลบหนีกระจัดกระจายไปยังสถานที่หลากหลายแห่งซึ่งก็มีชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวบางส่วนที่อพยพหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยบริเวณตะเข็บชายแดนในเขตพื้นที่ของ จ.แม่ฮ่องสอน และค่อยๆ ขยับขยายโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเขตพื้นที่ต่างๆ จนกระทั่งมีชาวกะเหรี่ยงคอยาวบางส่วนย้ายเข้ามายังบ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ครับ)
|
........................................ช่วยคุณแม่เรียงผัก........................................
|
|
.........................พ่อจ๋า..........วันนี้ได้มากี่ตังค์แล้ว ?.........................
|
.....ต่อมา.....ชาวเมียนมาร์ได้ร่วมมือกับชนเผ่าบังการีทำสงครามขับไล่ชนเผ่าแลเคอ ส่งผลให้ราชธิดาของเผ่าแลเคอต้องนำผู้คนในเผ่าอพยพหลบหนีไปยังดินแดนแห่งใหม่ โดยในขณะที่หลบหนีพระองค์ก็ได้นำเอา “ต้นปาดอง” ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวแลเคอติดมาด้วย ครั้นเดินทางมาถึงสถานที่ซึ่งมั่นใจว่าปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูแล้ว ราชธิดาแห่งเผ่าแลเคอก็ได้นำเอาต้นปาดองมาพันไว้โดยรอบลำคอพร้อมกับประกาศคำสาบานว่า จะนำเอาต้นปาดองออกจากคอก็ต่อเมื่อสามารถกอบกู้ดินแดนของบรรพบุรุษกลับคืนมาได้ ด้วยเหตุดังกล่าวชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวซึ่งเป็นลูกหลานของชนเผ่าแลเคอจึงนิยมทำพิธีสวมใส่ห่วงทองเหลืองให้กับเด็กๆ ในเผ่าตั้งแต่อายุราว 5 – 9 ปี เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่วงอายุที่ตรงกันกับอายุของราชธิดาขณะประกาศคำสาบาน
|
...................................ตอนนี้..........เหมือนจะเหงา...................................
|
|
...................................เด็กเล่น กับ เด็กเรียน...................................
|
.....ภายในบ้านวังน้ำหยาด.....เราจะพบเห็นว่าผู้หญิงในเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวที่สวมใส่ห่วงทองเหลืองนั้นมีตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนกระทั่งถึงแม่เฒ่าสูงวัย และหากได้ลองสังเกตให้ลึกลงไปอีกหน่อยก็จะพบว่าเด็กหญิงแห่งชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวนั้นไม่ได้มีความยาวของลำคอมากกว่าเด็กธรรมดาทั่วๆ ไปเลยแม้แต่น้อย.....แล้วสาเหตุใดล่ะที่ทำให้สาวๆ รวมถึงแม่เฒ่าในเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวมีลำคอซึ่งดูเหมือนยืดยาวกว่าคนปกติ ? สำหรับคำตอบต่อคำถามข้อนี้สามารถค้นหาได้จากการศึกษาทางวิชาการในอดีตกล่าวคือ เคยมีผู้ที่ทำการถ่ายภาพรังสีโครงกระดูกช่วงลำคอถึงหน้าอกของหญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเอาไว้แล้วพบว่า ความยาวกระดูกคอทุกๆ ชิ้นของผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากค่าเฉลี่ยของคนธรรมดาเลย แต่กลับพบความผิดปกติของกระดูกไหปลาร้าและกระดูกซี่โครงส่วนบนที่ทรุดตัวลู่ลงมาตามน้ำหนักของห่วงทองเหลืองซึ่งค่อยๆ ทวีเพิ่มขึ้นและเป็นสาเหตุที่ทำให้ดูเหมือนลำคอของพวกเธอดูยืดยาวกว่าปกตินั่นเอง
นอกเหนือไปจากภายในเขตพื้นที่บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่.....ทุกวันนี้เรายังอาจจะสามารถพบเจอกับครอบครัวของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวได้ ณ สถานที่อื่นๆ บางแห่งอีกเช่น บ้านโต้งหลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น
|
.........................ห้องพักแบบเรือนกระจกและสายน้ำตกด้านหน้า.........................
|
|
.........................เรื่องของสิ่งที่กำลังตกเป็นกระแส.........................
|
2. กะเหรี่ยง : กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาวเขาที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้อีก 4 กลุ่มคือ สะกอ (บ้างก็เรียก “ปากกะญอ” หรือ “ยางขาว”), โป (“โผล่”), ปะโอ (“ตองสู”) และ บะเว (“คะยา”) เดิมทีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงเคยตั้งรกรากอยู่ในดินแดนแถบมองโกเลีย แต่ต่อมาได้ถูกกองทัพจีนรุกรานจนจำต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปสู่ทิเบต แล้วค่อยๆ ถอยร่นลงใต้ต่อมายังบริเวณพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำแยงซีเกียง อพยพเรื่อยมาถึงลุ่มแม่น้ำสาละวินจนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนจึงตัดสินใจพาครอบครัวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อราวปลายศตวรรษที่ 18 หลังจากนั้นพวกเขาก็มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายตัวเข้าไปยังพื้นที่หลายๆ แห่งและส่วนหนึ่งก็ได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ ณ บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
|
........................................สีสันแห่งชีวิต........................................
|
|
...................................แม่จ๋า..........ดูนี่สิ.....ดูนี่สิ...................................
|
การทอผ้าและตัดเย็บชุดเพื่อใช้เองเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานในหมู่ชาวกะเหรี่ยงรวมถึงกลุ่มชาวเขาเผ่าอื่นๆ อีกหลายชนเผ่า เพราะฉะนั้นในขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังเดินชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตประจำวันของเหล่าผู้คนซึ่งพำนักพักอาศัยอยู่ภายในบ้านวังน้ำหยาด จึงสามารถพบเห็นหญิงสาวชาวเขาเผ่าต่างๆ กำลังทอผ้าอยู่ได้เสมอ สำหรับชุดที่ชาวกะเหรี่ยงนำผ้าซึ่งทอเสร็จเรียบร้อยแล้วมาตัดเย็บเพื่อสวมใส่นั้น หากเป็นเด็กหญิงหรือหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานมีครอบครัวก็จะสวมชุดทรงกระสอบซึ่งตัดเย็บมาจากผ้าฝ้ายพื้นสีขาว มีการปักประดับลวดลายบนตัวเสื้อเพียงแค่เล็กน้อย ตัวชุดบริเวณหน้าอกมีลายสีแดงทำเป็นชายครุย
|
...............สาวน้อยนักดาบแห่งหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า...............
|
|
.............................................ซ่อนอาวุธ.............................................
|
แต่หากเป็นหญิงชาวกะเหรี่ยงซึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็จะสวมเสื้อแขนสั้นคอ V สีดำ, สีน้ำเงินเข้ม, สีแดงอ่อน, สีน้ำหมาก หรือสีอื่นๆ ตามลักษณะนิยมของชาวกะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม และมักจะใส่ผ้าถุงสีแดงทอเส้นลายพาดขวางยกดอก ยกลาย หรือประดับลูกเดือยเพื่อตกแต่ง โพกศีรษะด้วยผ้าหลากหลายสีสัน (หากเป็นสมัยเก่าหญิงชาวกะเหรี่ยงทั้งที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงานจะโพกศีรษะด้วยผ้าฝ้ายสีขาวเดินด้วยลายสีแดงครับ) ส่วนการแต่งกายของผู้ชายชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะสวมเสื้อคอ V ยาวถึงสะโพก ทอตกแต่งด้วยแถบสีแต่ไม่มีการปักลวดลายประดับแตกต่างจากเสื้อของผู้หญิงชาวกะเหรี่ยง ผู้ชายชาวกะเหรี่ยงอาจมีการสวมใส่สร้อยลูกปัด กำไลเงิน หรือต่างหูเป็นเครื่องประดับ และใส่กางเกงสะดอ .....อย่างไรก็ดี.....นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นผู้ชายชาวกะเหรี่ยงภายในบ้านวังน้ำหยาดในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากผู้ชายชาวเขาเกือบทุกคนจะออกจากหมู่บ้านไปทำงานรับจ้างแล้วจึงค่อยกลับเข้ามายังบ้านวังน้ำหยาดในช่วงเวลาเย็น
|
หมวกขนาดใหญ่ที่ประดับประดาไปด้วยกระดุม เหรียญ ลูกปัด หรือลูกบอลเงิน
คือ หนึ่งในบรรดาเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของ ชาวอาข่า
|
|
.............................................สมุนไพรตากแห้ง ?.............................................
|
3. อาข่า (อ่าข่า) : คำว่า “อาข่า” หรือ “อ่าข่า” สามารถแยกแปลออกมาเป็นความหมายได้ คือ “อา” หรือ “อ่า” หมายถึง “ชื้น” ส่วนคำว่า “ข่า” หมายถึง “ห่างไกล” เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันจึงทำให้มีความหมายว่า “ห่างไกลความชื้น” เนื่องจากเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตที่กลุ่มชาวอาข่าเคยตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ แต่ต่อมาได้เกิดโรคระบาดชื่อว่า “มี้หิ” ขึ้นในบริเวณที่พวกเขาตั้งชุมชนอยู่ส่งผลให้มีชาวอาข่าล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มชาวอาข่ามีความเชื่อว่าหากตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้พื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำก็จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย พวกเขาจึงตัดสินใจอพยพโยกย้ายถิ่นฐานขึ้นไปตั้งชุมชนอยู่บนดอยสูงและสืบทอดความเชื่อเช่นนี้ต่อมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น
|
.............................................ขายของได้เงินก็ดีใจ.............................................
|
|
.............................................เย็บปักถักร้อย.............................................
|
หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าชาวอาข่ามีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ในแถบมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ต่อมาเมื่อถูกรุนรานกลุ่มชาวอาข่าจึงจำต้องอพยพหลบหนีลงใต้เข้าสู่แคว้นเชียงตุง ประเทศเมียนมาร์, แคว้นพงสาลี ประเทศลาว และบางส่วนก็ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยบริเวณดอยแม่สลอง จ.เชียงราย จากนั้นจึงค่อยๆ โยกย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ อาทิเช่น แพร่, ตาก, ลำปาง เป็นต้น ครั้นเมื่อวันเวลาล่วงเลยผ่านจึงมีครอบครัวชาวอาข่ากลุ่มเล็กๆ ตัดสินใจเดินทางเข้ามาหางานทำและพำนักอาศัยอยู่ ณ บ้านวังน้ำหยาด
|
....................ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้สูงวัย....................
|
|
.............................................หัตถกรรมทำมือ.............................................
|
ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงชาวอาข่ามีจุดสังเกตซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ตรง “หมวก” ที่พวกเธอสวมใส่ เนื่องจากหมวกของผู้หญิงชาวอาข่านั้นมีขนาดใหญ่และจะประดับประดาด้วยกระดุมเงิน เหรียญ ลูกปัด หรือลูกบอลเงิน แตกต่างจากเครื่องประดับศีรษะของชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด สำหรับเครื่องแต่งกายส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากหมวก.....ผู้หญิงชาวอาข่าจะสวมใส่เสื้อแขนยาวสีดำติดกระดุมเงิน นุ่งกระโปรงสั้นสีดำมีจีบรอบเอว ใช้ผ้าคาดเอวทับกระโปรงแล้วปล่อยชายลงสองข้าง ผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวผ่าอกปล่อยชายระดับเอว สวมกางเกงสองหน้าขายาวสีดำ น่าเสียดายที่ปัจจุบันผู้ชายชาวอาข่ารวมถึงผู้ชายชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในบ้านวังน้ำหยาดจะไม่นิยมสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าในชีวิตประจำวันอีกต่อไปแล้ว (แต่ก็จะยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าตามวันงานประเพณีสำคัญของเผ่าตนเองอยู่ครับ)
|
.........................ชาวอาข่า แห่ง บ้านวังน้ำหยาด.........................
|
|
....................เธอเรียกตนเองว่า ดาละอั้ง..........คนอื่นเรียกเธอว่า ปะหล่อง....................
|
4. ปะหล่อง (ดาละอั้ง) : ชาวปะหล่องเป็นกลุ่มชาวเขาที่นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส โดยทั่วไปผู้หญิงชาวปะหล่องจะสวมใส่เสื้อเอวลอยผ่าหน้าสีพื้นลักษณะแขนทรงกระบอก ส่วนใหญ่ตัวเสื้อมักเป็นสีแดง สีฟ้า สีน้ำเงิน หรือสีเขียวใบไม้ ตกแต่งสาบเสื้อด้านหน้าด้วยแถบผ้าสีแดง ท่อนล่างนุ่งผ้าซิ่นทอมือสีแดงสลับลายริ้วขาวบางๆ ซึ่งวางขวางลำตัวความยาวจรดเท้า บริเวณเอวสวมวงหวายลงรักแกะเป็นลวดลายหรือบางคนก็ใช้เส้นหวายเล็กๆ ย้อมสีนำมาถักเป็นลาย บ้างก็จะใช้โลหะแผ่นบางสีเงินคล้ายสังกะสีตัดเป็นแถบยาวๆ ตอกลวดลายแล้วขดเป็นวงสวมใส่ร่วมกับวงหวาย ชาวปะหล่องเรียกวงสวมเอวเหล่านี้ว่า “หน่องว่อง” สำหรับผู้ชายชาวปะหล่องแห่งบ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะสวมใส่เสื้อผ้าลักษณะเดียวกันกับคนพื้นราบทั่วๆ ไปจนทำให้ยากที่จะแยกความแตกต่างได้
|
...................................บริเวณบ้านพักอาศัยของชาวเขา...................................
|
|
.......................................................คอกหมูป่า.......................................................
|
เล่าสืบต่อกันมาว่า.....เดิมทีชาวปะหล่องเคยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณ “เมืองไทคง” และ “เมืองลูซี” ในเขตปกครองตนเองยูนนาน (ปัจจุบันคือมณฑลยูนนานในสาธารณรัฐประชาชนจีนครับ) ต่อมาได้เกิดการรบพุ่งระหว่างชาวไตเหนือซึ่งจับมือกับชนเผ่าอื่นๆ ทำสงครามขับไล่ชาวปะหล่อง ส่งผลให้กลุ่มชาวปะหล่องต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายเข้าไปสู่รัฐฉานและรัฐคะฉิ่นในประเทศเมียนมาร์ แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศคืนอำนาจในการปกครองให้แก่สหภาพเมียนมาร์ ชาวปะหล่องและชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์ในขณะนั้นตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มแนวร่วมฯ ดังกล่าว
|
..............................................ไกวเปล กล่อมลูก..............................................
|
|
...............ตามปกติชาวปะหล่อง (หรือดาละอั้ง) จะนิยมสวมใส่เสื้อผ้าสีสดใส...............
|
ผลจากการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาร์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาตินำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายเป็นอันมาก ทำให้กลุ่มชาวปะหล่องจำนวนราว 2,000 คนอพยพหลบหนีไฟสงครามย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ร่วมกัน ณ บริเวณชายแดนไทย – เมียนมาร์ใกล้ๆ ดอยอ่างขางเมื่อปี พ.ศ. 2527 .....ต่อมา.....พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มหาราชผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนชาวเขาเผ่ามูเซอในเขตพื้นที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง ผู้นำชาวปะหล่องคนหนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในบริเวณเขตชายแดนดังกล่าวจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มชาวปะหล่องอพยพได้มีโอกาสพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ผู้อพยพขึ้นที่บ้านนอแล อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
|
..........ถ้าสังเกตจากวงหวายรอบเอว "หน่องว่อง" ก็ขอสันนิษฐานว่าคุณยายเป็นชาวปะหล่อง..........
|
|
ช่วงกลางวัน..........ผู้ชายชาวเขาส่วนใหญ่จะออกไปทำงานรับจ้างนอกบ้านวังน้ำหยาด
|
.....อย่างไรก็ดี.....ด้วยจำนวนของชาวปะหล่องที่มีมากถึงราว 2,000 คน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ประกอบกับปัญหาจากอิทธิพลของขุนส่าซึ่งค้าฝิ่นอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านนอแล ส่งผลให้กลุ่มชาวปะหล่องส่วนหนึ่งตัดสินใจอพยพโยกย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายกันเข้าไปตั้งบ้านเรือนในพื้นที่อีกหลายแห่งของประเทศไทย ซึ่งครอบครัวชาวปะหล่องบางส่วนก็ได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ ณ บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ แห่งนี้
คำว่า “ปะหล่อง” เป็นภาษาไทใหญ่มีความหมายว่า “บรรพบุรุษผู้ล่องมาตามสายน้ำบนภูเขาสูงอันเยียบเย็น” แต่แท้จริงแล้วชาวปะหล่องจะเรียกตนเองว่า “ดาละอั้ง” หรือ “ดาอาง” ซึ่งหมายถึง “เจ้าแห่งภูผา”
|
..............................................รถเด็กเล่น..............................................
|
|
..............................................รอเจ้าของมาขับ..............................................
|
5. เมี่ยน (เย้า) : ชาวเมี่ยนซึ่งพำนักอาศัยอยู่ภายในเขตพื้นที่บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นั้นมีจำนวนอยู่เพียงแค่ไม่กี่ครอบครัว แต่นักท่องเที่ยวก็ยังสามารถสังเกตเห็นสตรีชาวเมี่ยนได้โดยง่ายจากลักษณะชุดประจำเผ่าที่พวกเธอสวมใส่ ตามปกติผู้หญิงชาวเมี่ยนจะสวมเสื้อคลุมสีดำแขนยาว ชายเสื้อยาวถึงช่วงขาท่อนล่าง บริเวณสาบเสื้อด้านหน้าต่อเนื่องกับช่วงรอบลำคอติดไหมพรมแดงประดับดูโดดเด่น นุ่งกางเกงขายาวสีดำปักลวดลายประณีตทางด้านหน้า มีผ้าคาดเอวหลายทบ บนศีรษะโพกผ้าซ้อนทับกันหลายชั้น ส่วนใหญ่ผ้าโพกศีรษะนี้จะเป็นสีน้ำเงินปนดำหรือสีดำ นิยมสวมใส่เครื่องประดับเงิน เช่น ต่างหู สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน เป็นต้น.....สำหรับผู้ชายชาวเมี่ยนตามประเพณีดั้งเดิมจะสวมใส่เสื้อสีดำยาวคลุมเอว ลักษณะเป็นเสื้ออกไขว้แบบคนจีนติดประดุมคอและรักแร้ นุ่งกางเกงสีดำยาวขลิบขอบกางเกงด้วยไหมสีแดง แต่ในปัจจุบันเราจะไม่ค่อยพบเห็นผู้ชายชาวเมี่ยนแห่งบ้านวังน้ำหยาดสวมใส่เสื้อผ้าตามลักษณะแบบแผนประเพณีดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว
|
..........การรับประทานอาหารแบบขันโตกเป็นวัฒนธรรมสำคัญของคนเหนือ..........
|
|
เสื้อคลุมสีดำแขนยาวติดไหมพรมแดงประดับรอบลำคอและสาบเสื้อทางด้านหน้า
เป็นการแต่งกายประจำเผ่าของชาวเมี่ยน หรือบางครั้งก็เรียกว่า เย้า
|
ชนเผ่าเมี่ยนมีชื่อเรียกดั้งเดิมคือ “ม่อ เย้า” ซึ่งมีความหมายว่า “ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใด” เดิมทีพวกเขาเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี ประเทศจีน แต่เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวเมี่ยนไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบกดขี่ของรัฐ พวกเขาจึงได้อพยพขึ้นไปอยู่ในป่าลึกบนภูเขาสูง ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซ่งคำว่า “ม่อ เย้า” จึงถูกเรียกแบบย่นย่อกลายเป็นคำว่า “เย้า” ที่แปลว่า “ป่าเถื่อน” แต่ชนเผ่านี้จะเรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” ซึ่งหมายถึง “มนุษย์”
เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านชาวเมี่ยนบางส่วนก็อพยพโยกย้ายถิ่นฐานลงมาทางใต้เข้าสู่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตอนเหนือของประเทศลาว ทางตะวันออกของประเทศเมียนมาร์ และภาคเหนือของประเทศไทย
|
....................................เดี๋ยวนี้ใครๆ เค้าก็ใช้ Smartphone....................................
|
|
...................................เด็กหญิงเผ่าลีซู (ลีซอ)...................................
|
6. ลีซู (ลีซอ) : คำว่า “ลีซู” มีพื้นฐานมาจากรากศัพท์ 2 คำ ได้แก่คำว่า “ลี” หรือ “อี๊หลี่” ซึ่งหมายถึงจารีตประเพณี วัฒนธรรม และวิถีปฏิบัติแห่งชีวิต กับคำว่า “ซู” ที่หมายความถึง การศึกษา การเรียนรู้ เมื่อนำมารวมกันจึงแปลความหมายของ “ลีซู” ได้ว่าเป็น “กลุ่มชนผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต” แต่บางครั้งกลุ่มคนนอกชนเผ่าก็อาจเรียกชาวลีซูว่า “ลีซอ” ได้
เดิมทีชาวลีซูเคยตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณแถบต้นแม่น้ำสาละวินและต้นแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของประเทศทิเบต รวมถึงบริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ต่อมาจึงได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อราวปี พ.ศ. 2451 โดยเข้ามาตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากนั้นก็ได้แยกย้ายกระจัดกระจายกันเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยอีก 9 จังหวัด ซึ่งบางครอบครัวก็ได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ ณ บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่นๆ อีก 8 ชนเผ่า
|
...................................บ้านริมน้ำตกของวังน้ำหยาดรีสอร์ท...................................
|
|
..............................................ธรรมชาติ..............................................
|
การแต่งกายซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของหญิงสาวชาวลีซูก็คือ การสวมหมวกทรงป้านกลมซึ่งทำขึ้นเอง เริ่มต้นด้วยการวัดรอบศีรษะให้ทราบขนาดที่พอดี นำเอาแถบผ้ามาพับให้กว้างราว 3 – 4 ซม.แล้วใช้หัวเข่าตนเองเป็นหุ่นพันแถบผ้าจนกลายเป็นรูปทรงหมวก เย็บตรึงให้แน่นแล้วจึงใช้เส้นไหมพรมติดบริเวณหลืบผ้า ลากเส้นไหมพรมอ้อมใต้ชะโงกด้านหน้าปัดขึ้นไปห้อยเป็นหางม้าจากกลางกระหม่อมทางด้านหลัง ส่วนด้านหน้าหมวกติดประดับด้วยลูกปัดและปุยไหมพรมอย่างงดงาม หากเป็นหญิงสูงวัยชาวลีซูก็จะใช้ผ้าสีดำโพกพันรอบศีรษะเอาไว้หลวมๆ โดยไม่มีการสวมหมวกทรงป้าน
ในอดีตหญิงสาวชาวลีซูจะสวมใส่หมวกเฉพาะในงานประเพณีสำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานปีใหม่ เป็นต้น แต่เมื่อเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในบ้านวังน้ำหยาดซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเพื่อการท่องเที่ยว เด็กหญิงหรือหญิงสาวชาวลีซูก็จะสวมใส่หมวกทรงป้านเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของการแต่งกายประจำเผ่าอยู่เกือบตลอดเวลา
|
การแต่งกายซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของหญิงเผ่าลีซู
ก็คือ...............การสวมหมวกทรงป้านกลมประดับพู่หางม้า
|
|
....................ถ้าไม่มีลูกค้าก็เบื่อๆ บ้างเหมือนกัน....................
|
.....ในส่วนของเสื้อผ้า.....หากเป็นการแต่งกายตามจารีตประเพณีดั้งเดิมของผู้หญิงชาวลีซู ทั้งเด็กหญิง หญิงสาว และหญิงสูงวัยจะสวมใส่เสื้อคลุมแขนยาวสีสันสดใส (นิยมสีฟ้าหรือสีเย็นสีอื่นๆ) ปกเสื้อบริเวณคอติดแถบผ้าดำ ตัวเสื้อคลุมตั้งแต่ช่วงเอวลงมาผ่าเปิดข้างทั้ง 2 ด้าน ช่วงต้นแขนและอกเสื้อตกแต่งด้วยผ้าหลากสีเย็บติดกันเป็นแผ่น สวมกางเกงสีดำยาวเลยเข่า ใช้ผ้าพันหน้าแข็งเป็นผ้าสีแดง (หรือสีร้อนสีอื่นๆ) บริเวณเอวใช้ผ้าสีดำคาด ด้านหลังผ้าคาดเอวห้อยพู่หางม้าหลากหลายสีเย็บตรึงติดไว้ด้วยไหม สำหรับผู้ชายชาวลีซูที่แต่งกายตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิมนั้นยากจะหาพบเจอได้ภายในบ้านวังน้ำหยาดแล้ว
|
..........น้ำตกวังน้ำหยาดซึ่งมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี (แต่อาจมีน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง)..........
|
|
....................ภาพถ่ายจากสถานที่จริงของวังน้ำหยาดรีสอร์ท....................
รีสอร์ทกลางสายน้ำตกสวยติดหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวแห่งแรกและแห่งเดียวของ จ.เชียงใหม่
|
7. ม้ง : สันนิษฐานว่าในอดีตชาวม้งน่าจะอพยพจากที่ราบสูงทิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีนแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงสมัยราชวงศ์แมนจูเรืองอำนาจ กษัตริย์จีนได้เปลี่ยนแปลงนโยบายให้มีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยต่างๆ ภายในประเทศ เกิดการรบพุ่งต่อสู้กันอย่างดุเดือดรุนแรงจนกลุ่มชาวม้งจำต้องอพยพถอยร่นลงมาทางใต้แล้วตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่บนพื้นที่สูงในแถบแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา บางส่วนก็ได้อพยพเข้ามาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาวบริเวณทุ่งไหหินเดียนเบียนฟู และบางส่วนก็ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2400
|
..............................................ร่วมสนทนา..............................................
|
|
..............................................สาวรุ่นชาวม้ง..............................................
|
ผู้หญิงชาวม้งภายในบ้านวังน้ำหยาดจะสวมใส่เสื้อกำมะหยี่สีดำหรือสีน้ำเงินเข้มแขนยาวถึงข้อมือ ช่วงปลายแขนเสื้อและสาบเสื้อมีการปักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ท่อนล่างใส่กระโปรงจีบพื้นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มปักประดับลวดลายสีสันสดใสตามแนวขวางลำตัว ความยาวกระโปรงอยู่ระดับพอดีเข่า หากเป็นผู้ชายชาวม้งที่แต่งกายตามธรรมเนียมเก่าแก่ก็จะสวมเสื้อกำมะหยี่สีดำหรือสีน้ำเงินเข้มแขนยาวจรดข้อมือ ปกสาบเสื้อด้านขวาจะป้ายเลยมาทับซีกซ้ายของตัวเสื้อ ตลอดแนวสาบเสื้อใช้ด้ายและผ้าสีปักลวดลายตกแต่งดูสวยงามสะดุดตา ใส่กางเกงสีเดียวกับเสื้อความยาวถึงระดับข้อเท้า ลักษณะขากางเกงกว้างแต่ปลายแคบลง เป้ากางเกงหย่อนลงมาจนต่ำกว่าระดับเข่า รอบเอวพันผ้าแดงทับโดยปล่อยชายผ้าซึ่งปักประดับลวดลายห้อยไว้ด้านหน้า ส่วนใหญ่มักจะคาดเข็มขัดทับผ้าแดงหรือผูกเชือกทับผ้าแดงอีกชั้น ในอดีตทั้งผู้หญิงและผู้ชายชาวม้งนิยมสวมใส่เครื่องเงินเป็นเครื่องประดับ แต่ชาวม้งซึ่งนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้พบภายในบ้านวังน้ำหยาดมักไม่ได้สวมใส่เครื่องประดับตกแต่งใดๆ
|
....................................จักรยานยนต์ของคนภูเขา.....................................
|
|
.........................บ้านพักของชนเผ่าที่ก่อสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย.........................
|
8. มูเซอ (ล่าหู่) : เป็นกลุ่มชาวเขาที่สามารถแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีกมากถึง 23 กลุ่ม อาทิเช่น มูเซอดำ, มูเซอแดง, มูเซอเหลือง, มูเซอกุเลา เป็นต้น .....ทั้งนี้.....ชาวมูเซอแต่ละกลุ่มอาจมีลักษณะการแต่งกายแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วผู้หญิงชาวมูเซอจะสวมใส่เสื้อแขนยาวตกแต่งด้วยผ้าหลากสีและลวดลายต่างๆ มีเม็ดอลูมิเนียมหรือลูกกระพรวนเล็กๆ เย็บติดอยู่กับเสื้อ มีเครื่องเงินเป็นของประดับ นุ่งผ้าถุงพื้นสีดำความยาวถึงระดับข้อเท้าตกแต่งด้วยแถบผ้าสีหรือเย็บเป็นลวดลายประดับตามแนวขวาง หากเป็นผู้ชายชาวมูเซอส่วนใหญ่ก็จะสวมใส่เสื้อแขนยาวสีดำประดับด้วยเม็ดโลหะสีเงินและลายปักต่าง ส่วนกางเกงจะใช้กางเกงเป้าต่ำขายาว สีสีดำ สีเขียว หรือสีฟ้าตามแต่ความนิยมเฉพาะกลุ่ม .....อย่างไรก็ดี.....ชาวมูเซอในบ้านวังน้ำหยาดอาจมีการแต่งกายที่แตกต่างจากนี้ไปบ้างเล็กน้อย
|
...................................เดาว่าเธอ คือ ชาวมูเซอ...................................
|
|
....................หญิงชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่อายุยังน้อย....................
อาจมีลักษณะของลำคอที่ดูไม่แตกต่างไปจากชาวเขาเผ่าอื่นๆ สักเท่าไหร่นัก
|
เดิมทีชาวมูเซอเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลยูนนานในเขตแดนของประเทศทิเบต ต่อมากองทัพจีนได้กรีฑาทัพบุกเข้าสู่ดินแดนดังกล่าว ส่งผลให้ชาวมูเซอต้องอพยพถอยร่นลงมาทางใต้เข้าสู่ตอนเหนือของประเทศลาวและประเทศเมียนมาร์ ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นภายในประเทศเมียนมาร์ กลุ่มชาวมูเซอที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์จึงตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานอีกครั้งโดยเดินทางเข้ามาตามบริเวณแนวตะเข็บชายประเทศไทยแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก.....คำว่า “มูเซอ” เป็นภาษาเมียนมาร์ซึ่งคนไทใหญ่ในรัฐฉานนำมาใช้เรียกขานชาวเขากลุ่มนี้หมายความถึง “นายพราน” หรือ “นักล่า” ส่วนคำว่า “ล่าหู่” เป็นคำที่ชาวเขากลุ่มนี้ใช้เรียกขานตนเองมีความหมายว่า “เสือผู้เฝ้าป่า”
|
....................ม้านั่งกลางหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า....................
|
|
...................................เด็กน้อยกับหญิงสาวชาวกะยอ...................................
|
9. กะยอ (คะยอ) : บางครั้ง.....บางคนก็เรียกชาวเขากลุ่มนี้ว่า “กะเหรี่ยงหูยาว” สืบเนื่องมาจากความนิยมในการเจาะรูบริเวณติ่งหูทั้งสองข้างของผู้หญิงแล้วสวมใส่ต่างหูโลหะขนาดใหญ่เอาไว้ภายใน โดยชาวกะยอมีความเชื่อว่ายิ่งผู้หญิงคนใดสามารถสวมใส่ต่างหูโลหะได้ขนาดใหญ่เท่าไหร่ เธอก็จะยิ่งสวยมากขึ้นเท่านั้น จากข้อมูลเก่าๆ ที่เคยมีการบันทึกไว้พบว่าต่างหูโลหะขนาดใหญ่ที่สุดที่ผู้หญิงชาวกะยอเคยสวมใส่เข้าไปภายในรูบริเวณติ่งหู มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวมากถึง 6 ซม.
|
...................................รับสายรัดข้อมือสักเส้นไหมคะ ?...................................
|
|
....................ตาดูดาว (กลางวันมันจะมีดาวไหมเนี่ย ?) เท้าติดดิน....................
|
การเจาะถ่างขยายติ่งหูของผู้หญิงชาวกะยอโดยปกติจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัยเด็กในช่วงอายุราว 4 – 5 ปี โดยผู้ปกครองจะนำไม้ไผ่สะอาดมาเหลาให้เป็นปลายแหลมเจาะเข้าไปบริเวณติ่งหูของลูกหลาน หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ เพิ่มขนาดปลายแหลมของไม้ไผ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงอายุ .....ทั้งนี้.....กลุ่มชาวกะยอได้เคยให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนที่เข้าไปสัมภาษณ์เอาไว้ว่า การเจาะถ่างขยายติ่งหูของเด็กหญิงชาวกะยอนั้นเป็นไปตามความเชื่อและความสมัครใจของเด็กๆ ซึ่งเมื่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงบริบททางสังคมของชาวกะยอเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์.....ความนิยมของผู้หญิงในการเจาะถ่างขยายรูบริเวณติ่งหูให้มีขนาดใหญ่มากๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปด้วยตามลำดับ
|
........................................สายตาแห่งความสงสัย........................................
|
|
....................ชาวกะยอสองครอบครัวเล็ก ๆ ใน บ้านวังน้ำหยาด....................
|
เสื้อผ้าตามลักษณะประเพณีดั้งเดิมที่ผู้หญิงชาวกะยอสวมใส่จะเป็นเสื้อแขนสั้นสีแดง สีแสด สีชมพู หรือสีม่วง มีลวดลายเป็นริ้วสีขาวเล็กๆ พาดตามแนวยาวของลำตัว ความยาวแขนเสื้ออยู่ระดับข้อศอก ปลายแขนเสื้อถักเป็นพู่ห้อยประดับโดยรอบดูสวยงาม ท่อนล่างสวมโสร่งสั้นสีเข้มความยาวระดับเข่า (นิยมสีดำหรือน้ำเงินเข้ม) บริเวณเหนือข้อเท้าและเหนือหน้าแข้งจนถึงเข่าสวมประดับด้วยห่วงทองเหลืองที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ นอกจากนี้ยังนิยมสวมใส่สร้อยคอเงิน ห่วงโลหะ หรือสร้อยคอที่ประดับไว้ด้วยเหรียญแบนๆ.....ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวก็จะยังพบเห็นการแต่งกายตามแบบแผนลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้เกือบ 100% ภายในบ้านวังน้ำหยาด
|
..............................มาหลบหลังแม่ทำไมล่ะเนี่ย ?..............................
|
|
....................บางครั้ง..........ชาวกะยอก็ถูกเรียกว่ากะเหรี่ยงหูยาว....................
|
หากเป็นผู้ชายชาวกะยอซึ่งแต่งกายตามจารีตเก่าก็จะสวมใส่เสื้อลักษณะคล้ายคลึงกับผู้หญิงในเผ่า แต่ท่อนล่างจะสวมกางเกงขายาว ใส่ห่วงทองเหลืองหลายชั้นไว้เหนือหัวเข่า และสวมใส่ห่วงหวายประดับไว้รอบลำคอและท่อนขาช่วงล่าง ผู้ชายชาวกะยอในยุคดั้งเดิมจะไว้ผมยาวแล้วขมวดผมเป็นปมใหญ่ๆ รัดไว้ด้วยผ้าโพกแบบวงแหวน (ลักษณะคล้ายโดนัทขนาดใหญ่) แล้วจึงรวบไว้ทางด้านบนของศีรษะ นิยมใส่ต่างหูเงินและสวมสร้อยคอเป็นเครื่องตกแต่งคล้ายผู้หญิง (จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจริงของทีมงานเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม ปรากฏว่ายังไม่มีโอกาสได้พบเจอกับผู้ชายชาวกะยอซึ่งแต่งกายตามลักษณะจารีตประเพณีดั้งเดิมภายในบ้านวังน้ำหยาดเลยครับ)
.....และทั้งหมดที่กล่าวถึงมาก็คือชาวเขาทั้ง 9 ชนเผ่าแห่งบ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่.....
|
ถ้าสังเกตดูที่ติ่งหูของผู้หญิงชาวกะยอคนซ้ายสุดในภาพให้ดี ๆ
ก็จะมองเห็นรูขนาดใหญ่ที่สวมใส่ต่างหูโลหะถ่างขยายเอาไว้ได้
|
|
หรือว่าแท้จริงแล้ว.....ประเพณีการเจาะถ่างขยายติ่งหูของชาวกะยอ
จะเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นระเบิดหูในยุคปัจจุบัน ?
|
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : รีสอร์ทในหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวแห่งแรกของประเทศไทย
“วังน้ำหยาดรีสอร์ท” เป็นรีสอร์ทกลางน้ำตกสายเล็กๆ ของ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาพร้อมๆ กันกับหมู่บ้านชาวเขาเพื่อการท่องเที่ยว “บ้านวังน้ำหยาด” โดยในระยะแรกเริ่มนั้นห้องพักของวังน้ำหยาดรีสอร์ทยังคงเป็นเพียงแค่บังกะโลไม้ขนาดย่อม แต่ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างปรับปรุงห้องพักรูปแบบใหม่ที่มีความสวยงาม สะอาดตา และดูทันสมัยกว่าเมื่อครั้งอดีตมาก สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเลือกใช้บริการพักค้างแรม ณ วังน้ำหยาดรีสอร์ท นอกจากจะได้สัมผัสกับบรรยากาศดีๆ ท่ามกลางสายน้ำตกสวยแล้วก็ยังจะมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า “บ้านวังน้ำหยาด” ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมจากค่าห้องพักอีกด้วย (หากไม่ได้ใช้บริการห้องพักของทางวังน้ำหยาดรีสอร์ทก็จะต้องชำระค่าเข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่าในอัตราท่านละ 500 บาท แต่หากได้ทำการจองบัตรเข้าชมหมู่บ้านล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอมตามหมายเลขโทรศัพท์หรือ LINE ID ในกรอบสีขาวทางด้านล่าง พร้อมทั้งชำระค่าใช้จ่ายล่วงหน้าตามเงื่อนไข ก็จะสามารถใช้สิทธิส่วนลดโปรโมชั่นได้ครับ)
|
..........ตึกสีส้มด้านหลังศาลาริมน้ำในภาพนี้คือ อาคารใหญ่ ของวังน้ำหยาดรีสอร์ท..........
|
|
.........................บังกะโลไม้ที่ก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก.........................
|
ในบทความช่วงถัดไปเราจะมาทำความรู้จักกับห้องพักแต่ละแบบของวังน้ำหยาดรีสอร์ทไปพร้อมๆ กัน
1. บ้านริมน้ำตก : บ้านพักหลังเล็กๆ น่ารักที่ตั้งอยู่ประชิดติดกับสายน้ำตกวังน้ำหยาด ภายในห้องพักประกอบไปด้วยเตียงเดี่ยวขนาดใหญ่จำนวน 1 เตียง ชุดโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อน 1 ชุด (มีเก้าอี้ 2 ตัวภายในห้อง) มีโทรทัศน์จอแบน ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำอุ่นพร้อมสรรพ หากนักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการห้องพักประเภทนี้เพียงแค่เปิดประตูกระจกออกมาทางระเบียงก็จะได้เห็นสายน้ำตกสวยอยู่ทางด้านหน้าบ้านพร้อมทั้งสัมผัสกับความสดชื่นของละอองไอน้ำที่ลอยมาปะทะกับร่างกายได้ทันที
|
..........บ้านริมน้ำตก คือ ห้องพักซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่สวยงามที่สุดของวังน้ำหยาดรีสอร์ท..........
|
|
เพราะบ้านริมน้ำตกมีจำนวนเพียงแค่ 2 หลัง.....ถ้าไม่จองล่วงหน้าเอาไว้นานๆ ก็ยากที่จะได้เข้าพัก
|
วังน้ำหยาดรีสอร์ทมีจำนวนบ้านริมน้ำตกอยู่ด้วยกันทั้งหมดเพียงแค่ 2 หลัง หากคุณไม่อยากพลาดการเข้าพักในห้องซึ่งตั้งอยู่บนทำเลที่ใกล้ชิดติดสายน้ำตกมากที่สุด ก็ควรจะติดต่อจองห้องพักเอาไว้ล่วงหน้านานๆ สักหน่อย .....อย่างไรก็ดี.....บ้านริมน้ำตกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ซึ่งชื่นชอบความสงบเงียบสักเท่าไหร่นักเนื่องจากจะมีเสียงซ่า.....ซ่า ซ่า.....ซ่า ของน้ำตกวังน้ำหยาดดังให้ได้ยินอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา (ถึงแม้ว่าจะปิดกระจกและปิดประตูทุกบาน ผู้เข้าพักในบ้านริมน้ำตกก็จะยังคงได้ยินเสียงน้ำตกวังน้ำหยาดดังอยู่ตลอด แต่หากนักท่องเที่ยวไม่รู้สึกเดือดร้อนรำคาญกับเสียงตามธรรมชาติก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ ครับ)
|
..............................ภายในห้องพักแบบเรือนครอบครัว..............................
|
|
...................................เตียงนอนในบ้านริมน้ำตก...................................
|
2. เรือนกระจก : นี่คือห้องพักซึ่งมีลักษณะเป็นกระจกใส 3 ด้าน เพียงแค่คุณเปิดม่านภายในห้องพักออกมาก็จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของห้วยวังน้ำหยาดและความเขียวขจีของเหล่าบรรดาแมกไม้ที่รายรอบไปทั่วทั้งบริเวณได้อย่างชัดเจน ภายในห้องพักแบบเรือนกระจกมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง มีเตียงเดี่ยวขนาดใหญ่จำนวน 1 เตียง มีชุดโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อน 1 ชุด อีกทั้งยังมีโทรทัศน์จอแบน ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำอุ่นครบครัน หากจะให้สรุปจากประสบการณ์ส่วนตัวของทีมงานเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอมแล้ว.....ขอบอกเลยว่าเรือนกระจกเป็นห้องซึ่งเข้าพักแล้วให้ความรู้สึกสะดวกสบายมากที่สุดในวังน้ำหยาดรีสอร์ท (วังน้ำหยาดรีสอร์ทมีห้องพักแบบเรือนกระจกรวมทั้งหมดเพียงแค่ 4 ห้อง แนะนำว่าควรจองห้องพักล่วงหน้านานๆ เช่นเดียวกันกับบ้านริมน้ำตก.....ท่านสามารถติดต่อจองห้องพักล่วงหน้าได้จาก “หมายเลขโทรศัพท์” หรือ “LINE ID” ในกรอบสีขาวทางด้านล่างตารางราคาครับ)
|
........................................สะพานข้ามน้ำตกวังน้ำหยาด........................................
|
|
....................ห้องพักแบบ เรือนกระจก ซึ่งมีจำนวนเพียงแค่ 4 หลัง....................
(ถ้าไม่จองล่วงหน้าก็รับรองได้เลยว่าเต็มเกือบทุกวันศุกร์, เสาร์ และตลอดวันหยุดช่วงเทศกาล)
|
3. เรือนครอบครัว : ห้องพักริมสระกักเก็บน้ำเล็กๆ ของวังน้ำหยาดรีสอร์ท ลักษณะเป็นห้องเรือนแถวที่มีระเบียงหน้าห้องยาวเชื่อมต่อถึงกัน บริเวณสุดปลายระเบียงมีพื้นที่ทำครัวขนาดย่อมซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวสามารถใช้ประกอบอาหารร่วมกันได้ เรือนครอบครัวมีห้องพักขนาดเล็กที่ใช้ผนังร่วมกัน 3 ห้อง ภายในแต่ละห้องประกอบไปด้วยเตียงเดี่ยวขนาด 5 ฟุต จำนวน 1 เตียง มีโทรทัศน์จอแบน ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำอุ่นตามมาตรฐานเดียวกันกับห้องพักแบบอื่นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการห้องพักแบบเรือนครอบครัวนี้หากไม่ได้เดินทางมาเป็นกลุ่มและเหมาห้องพักรวมหมดทั้ง 3 ห้อง ก็ไม่ควรออกมานั่งดื่มสุราหรือนั่งสนทนาส่งเสียงดังบริเวณระเบียงหน้าห้องเพราะอาจรบกวนผู้เข้าพักห้องข้างเคียงท่านอื่นๆ
|
.........................เตียงใหญ่ภายในห้องพักแบบเรือนกระจก.........................
|
|
...............โทรทัศน์ ตู้เย็น กาน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ (สังเกตที่รีโมทจ้า)...............
ชุดโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อน..........วังน้ำหยาดรีสอร์ทเขาก็มีจัดไว้ให้พร้อมสรรพ
|
4. อาคารใหญ่ : ตั้งอยู่บริเวณส่วนหน้าสุดของวังน้ำหยาดรีสอร์ทใกล้กับลานจอดรถ ลักษณะเป็นอาคารปูนหลังใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ชั้นล่างสุดเป็นร้านค้าของชำ ส่วนชั้นบนก่อสร้างเป็นห้องพักโดยแบ่งออกเป็นห้องพักติดเครื่องปรับอากาศจำนวน 8 ห้อง และห้องพักพัดลมจำนวน 3 ห้อง .....ทั้งนี้.....ภายในห้องพักทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวข้างต้นจะมีทั้งเตียงเดี่ยวและเตียงคู่ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความสะดวก หากเป็นห้องพักแบบติดเครื่องปรับอากาศภายในก็จะมีทั้งโทรทัศน์ ตู้เย็น และเครื่องทำน้ำอุ่นให้ ในขณะที่ห้องพักแบบพัดลมจะมีเพียงแค่เครื่องทำน้ำอุ่นเท่านั้น
|
.........................เรือนครอบครัว ห้องพักแฝด 3 ริมสระกักเก็บน้ำ.........................
|
|
..........ข้อด้อยของเรือนครอบครัว ก็คือ มีระเบียงด้านหน้าห้องพักเชื่อมต่อถึงกันหมด..........
|
5. บังกะโลไม้ : นี่เป็นบังกะโลไม้ในสวนริมห้วยซึ่งอยู่คู่กับวังน้ำหยาดรีสอร์ทมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคบุกเบิก ด้วยความที่มีอายุใกล้เคียงกันกับรีสอร์ทจึงทำให้สภาพทั้งภายในและภายนอกของบังกะโลแลดูค่อนข้างจะเก่ากว่าห้องพักแบบอื่นๆ ทุกประเภท ภายในบังกะโลไม้มีเตียงเดี่ยวขนาดย่อม มีพัดลม และเครื่องทำน้ำอุ่น.....แต่ไม่มีโทรทัศน์ ตู้เย็น หรือเครื่องปรับอากาศ บังกะโลไม้ของวังน้ำหยาดรีสอร์ทมีจำนวนรวมด้วยกันทั้งหมด 7 หลัง และถือเป็นห้องพักซึ่งมีราคาย่อมเยาที่สุดของรีสอร์ทแห่งนี้ (ราคาห้องพักแบบบังกะโลไม้จะเท่ากันกับราคาห้องพักแบบพัดลมบนอาคารใหญ่ แต่ห้องพักแบบพัดลมบนอาคารใหญ่จะดูใหม่และสดใสไฉไลมากกว่าครับ)
|
...............เตียงนอนในห้องพักแบบเรือนครอบครัวของวังน้ำหยาดรีสอร์ท...............
|
|
....................ห้องน้ำของเรือนกระจกที่บอกได้คำเดียวว่าสวย....................
|
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เลือกใช้บริการห้องพักซึ่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกประเภทของวังน้ำหยาดรีสอร์ท (บ้านริมน้ำตก, เรือนกระจก, เรือนครอบครัว และห้องปรับอากาศบนอาคารใหญ่) จะได้รับสิทธิเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่าฟรี 2 ท่าน อีกทั้งยังมีอาหารเช้าแบบชุดให้บริการเป็นชา กาแฟ และข้าวต้ม ส่วนนักท่องเที่ยวที่เลือกใช้บริการห้องพักแบบพัดลมทุกประเภทของวังน้ำหยาดรีสอร์ท (ห้องพัดลมบนอาคารใหญ่และบังกะโลไม้) จะได้รับเพียงแค่สิทธิเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่าฟรี 2 ท่าน.....แต่ไม่มีอาหารเช้ารวมอยู่ในอัตราค่าบริการห้องพัก
|
เมื่อเริ่มต้นเปิดวังน้ำหยาดรีสอร์ท.....บังกะโลไม้คือห้องพักประเภทแรกที่ถูกก่อสร้างขึ้น
|
|
..........ถ้าไม่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานมากเพียงพอ ก็คงไม่มีตะไคร่จับเกาะอยู่บนหลังคา..........
|
กิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจตามช่วงฤดูกาลของบ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท
หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า “บ้านวังน้ำหยาด” และ “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” เป็นสถานที่ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและเข้าพักได้ตลอดทั้งปี (น้ำตกวังน้ำหยาดมีน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่อาจมีน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง) แต่เมื่อช่วงฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนไป เสน่ห์และความงดงามต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจะได้พบ ได้สัมผัสภายในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ก็จะแปรเปลี่ยนไปด้วย สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจตามช่วงฤดูกาลของ “บ้านวังน้ำหยาด” และ “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” มีดังต่อไปนี้
ชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า : ตลอดทั้งปี
ปีใหม่ชาวเขา : ราวเดือน ธ.ค. – ม.ค. แต่ละเผ่าจะมีการกินเลี้ยงและงานรื่นเริงตามฤกษ์ยามที่หมอผีของเผ่ากำหนด (นักท่องเที่ยวอาจขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์ได้ในบางช่วงเวลาครับ)
ปลากระโดดทวนน้ำตก : ราวเดือน พ.ค. – มิ.ย. พบกับความมหัศจรรย์อันเร้นลับของธรรมชาติที่หาชมได้ยากในช่วงฤดูวางไข่ของปลาบางชนิดซึ่งดำรงชีวิตอยู่ภายในลำห้วยวังน้ำหยาด (กรุณาอย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะปลากระโดดทวนน้ำตกจะมีให้เห็นได้แค่เพียงประปราย ไม่ได้มีให้เห็นเยอะๆ แบบอลังการงานสร้างครับ)
ดอกเห็ดเบ่งบานกลางสายฝน : ราวเดือน ก.ค. – ก.ย. เมื่อสายฝนโปรยปรายประดับความชุ่มชื่นสู่ผืนแผ่นดินก็ถึงเวลาเบ่งบานของดอกเห็ดนานาพรรณ บางครั้งหากโชคดีนักท่องเที่ยวอาจได้เห็นเด็กชาวเขาตัวน้อยๆ วิ่งเล่นเก็บเห็ดนำกลับไปให้พ่อแม่ปรุงอาหารที่บ้าน
เสียงหรีดหริ่งเรไรระงมทั่วผืนไพร : ตลอดทั้งปี (แต่ช่วงฤดูหนาวอาจมีเสียงแมลงน้อยกว่าช่วงฤดูอื่นๆ ครับ) ในช่วงเวลาเย็น – ค่ำของทุกๆ วันนักท่องเที่ยวจะได้ยินเสียงของจิ้งหรีดและเรไรส่งเสียงร้องเรียกเพรียกพร้องอยู่เป็นระยะๆ เป็นเสน่ห์ท่ามกลางความบริสุทธิ์ของธรรมชาติซึ่งรายล้อมอยู่รอบ “บ้านวังน้ำหยาด” และ “วังน้ำหยาดรีสอร์ท”
|
..........ร้านกาแฟและจุดรับประทานอาหารเช้าของ วังน้ำหยาดรีสอร์ท..........
|
|
...............โทรทัศน์จอแบนและเครื่องปรับอากาศในห้องพักแบบเรือนกระจก...............
|
การเดินทางสู่บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท
“บ้านวังน้ำหยาด” หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กับ “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” นั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน กรณีที่นักท่องเที่ยวขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาด้วยตนเองและมี Smartphone แนะนำให้เปิด Application Google Map (แผนที่) พร้อมเปิดตำแหน่ง GPS แล้วพิมพ์คำว่า “แม่ตะมานวังน้ำหยาด รีสอร์ท” หรือ “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” ลงในช่องค้นหาแล้วกดเครื่องหมายเพื่อเริ่มต้นการนำทาง (หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ Application Google Map นำทางไปเรื่อยๆ ครับ) เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายแล้วก็จะมองเห็นป้าย “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” ป้ายใหญ่ๆ อยู่บริเวณปากทางเข้า (หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่าจะตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกันกับรีสอร์ท นักท่องเที่ยวสามารถนำรถยนต์เข้ามาจอด ณ ลานดินบริเวณด้านหน้ารีสอร์ทได้ แต่หากไม่ได้ใช้บริการห้องพักของวังน้ำหยาดรีสอร์ทก็จะต้องเสียค่าเข้าชมหมู่บ้านด้วยครับ)
|
...................................อาหารเช้า คือ ข้าวต้ม...................................
(บริการเฉพาะผู้ที่เข้าพักในห้องทุกประเภทซึ่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศจ้า)
|
|
.....จากระเบียงห้องพักแบบเรือนครอบครัวของวังน้ำหยาดรีสอร์ท.....
สามารถมองเห็นฝูงปลาที่อาศัยอยู่ภายในสระกักเก็บน้ำใส ๆ ได้ด้วยนะ !
|
กรณีที่ Smartphone ของท่านไม่มี Application Google Map แนะนำให้โหลดได้ฟรีจาก App store หรือ Play store (ขึ้นอยู่กับว่า Smartphone ของท่านใช้ระบบปฏิบัติการ IOS หรือ Android ครับ) แต่ถ้าไม่สะดวกใจในการโหลดหรือใช้ Application Google Map หรือไม่ไว้ใจระบบนำทางอัตโนมัติใดๆ แนะนำให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 ขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปทาง อ.เชียงดาว ประมาณ 40 กม. ขับตรงผ่านทางแยก อ.แม่ริม.....ตรงผ่านทางแยก อ.แม่แตง.....ตรงผ่านสามแยกทางไปเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อผ่านสามแยกทางไปเขื่อนแม่งัดฯ มาได้ไม่ไกลคุณก็จะเห็นป้ายบอกทางไป “ท่าแพแม่ตะมาน” และ “ปางช้างแม่แตง” ให้ขับรถเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางดังกล่าวเข้าสู่ทางหลวงชนบท ชม.3052 มุ่งหน้าไปทางปางช้างแม่แตง (เป็นถนนลาดยางมะตอย ขับรถได้สะดวกสบายครับ) เมื่อขับรถตรงมาตามเส้นทางดังกล่าวได้ราว 8 – 9 กม.ก็จะสังเกตเห็นป้าย “วังน้ำหยาดรีสอร์ท” อยู่ริมฝั่งถนนทางด้านขวามือ (วังน้ำหยาดรีสอร์ทจะตั้งอยู่ก่อนถึงปางช้างแม่แตงประมาณ 1 กม. หากขับรถไปจนถึงปางช้างแม่แตง.....ก็แสดงว่าเลยผ่านวังน้ำหยาดรีสอร์ทไปแล้วครับ) ให้ขับรถเข้าไปจอดภายในลานดินบริเวณรีสอร์ทก็จะพบกับทางเข้าและด่านเก็บค่าบำรุง บ้านวังน้ำหยาด หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขา 8 ชนเผ่า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ (กรณีที่ไม่ได้จองโปรโมชั่นบัตรเข้าชมหมู่บ้านผ่านเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม & ชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนล่วงหน้าตามเงื่อนไข ก็จะต้องเสียค่าบำรุงหมู่บ้านในอัตราสำหรับผู้ใหญ่ 500 บาท เด็ก 300 บาท เท่ากันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติครับ)
ถ่ายภาพและเขียนบทความ : ตฤณ ณ อัมพร
เรียบเรียง : อรชร ลลิตผสาน
ข้อมูลอ้างอิง : การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงของทีมงานเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม, บ้านวังน้ำหยาด หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว & วังน้ำหยาด รีสอร์ท อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิโครงการหลวง, พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์, สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยพายัพ, คลังเอกสารสาธารณะ, สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์โดย : เว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com)
โปรโมชั่นบัตร บ้านวังน้ำหยาด : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว จ.เชียงใหม่
|
ประเภท |
ราคา (บาท) |
ผู้ใหญ่ |
เด็ก
(สูงระหว่าง
90-120 ซม.) |
บัตรเข้าชมบ้านวังน้ำหยาด :
หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
|
up to 30% off
(walk in 500) |
up to 30% off
(walk in 300) |
โปรโมชั่นนี้จัดให้เฉพาะผู้ซึ่งติดต่อจองบัตรเข้า่ชม "บ้านวังน้ำหยาด : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว"
ตามหมายเลขโทรศัพท์หรือ LINE ID ทางด้านล่าง
และชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 – 7 วัน ตามเงื่อนไขเท่านั้น !
* นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามโปรโมชั่นประจำเดือน (เฉพาะการจองล่วงหน้า)
ได้ทาง Line ID หรือ หมายเลขโทรศัพท์ ในกรอบทางด้านล่าง ตั้งแต่วันนี้ - 31 ต.ค. 2563
|
โปรโมชั่นบัตร วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว จ.เชียงใหม่
|
|
|
|
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : บ้านริมน้ำตก
(ห้องแอร์ พัก 2 ท่านต่อห้อง)
รวมอาหารเช้า (ข้าวต้ม ชา/กาแฟ) และบัตรเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
|
2 หลัง |
2,290
(walk in 2,500) |
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : เรือนกระจก
(ห้องแอร์ พัก 2 ท่านต่อห้อง)
รวมอาหารเช้า (ข้าวต้ม ชา/กาแฟ) และบัตรเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
|
4 ห้อง |
2,290
(walk in 2,500) |
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : ห้องพักเรือนครอบครัวริมน้ำ
(ห้องแอร์ พัก 2 ท่านต่อห้อง)
รวมอาหารเช้า (ข้าวต้ม ชา/กาแฟ) และบัตรเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
|
3 ห้อง |
1,290
(walk in 1,500) |
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : ห้องพักอาคารใหญ่
(ห้องแอร์ พัก 2 ท่านต่อห้อง)
รวมอาหารเช้า (ข้าวต้ม ชา/กาแฟ) และบัตรเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
|
8 ห้อง |
1,290
(walk in 1,500) |
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : ห้องพักอาคารใหญ่
(ห้องพัดลม พัก 2 ท่านต่อห้อง)
ราคารวมบัตรเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
ไม่รวมอาหารเช้า
|
3 ห้อง |
850
(walk in 1,000) |
วังน้ำหยาดรีสอร์ท : บังกะโลไม้
(ห้องพัดลม พัก 2 ท่านต่อห้อง)
ราคารวมบัตรเข้าชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
ไม่รวมอาหารเช้า
|
7 หลัง |
720
(walk in 1,000) |
งดรับจองที่พักชั่วคราว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงในความไม่สะดวกด้วยนะคะ
|
รับทันที !! ส่วนลดโปรโมชั่น "บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท :
หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว" ราคาพิเศษ !!
เฉพาะผู้ซึ่งติดต่อจองบัตรล่วงหน้าตามเงื่อนไขผ่านเว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม
ทาง Line ID หรือหมายเลขโทรศัพท์ :
(094) 236-3295 , (094) 519-3645 , (094) 251-9214 Fax. (02) - 4571605
Line ID : thongteaw2 , thongteaw.com ,
trin.thongteaw.com , cimlee
กรุณาติดต่อสำรองบัตรล่วงหน้าอย่างน้อย 2 - 7 วัน ขอบคุณครับ/ค่ะ
หมายเลขโทรศัพท์ & Line ID ข้างต้น ใช้เพื่อการติดต่อสำรองบัตร "บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว" ล่วงหน้าเท่านั้น !!
กรณีไม่สะดวกสำรองบัตรและชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนล่วงหน้าตามเงื่อนไข
กรุณาติดต่อซื้อบัตรบ้านวังน้ำหยาด : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ในราคา Walk In
ตามปกติ
(ไม่มีโปรโมชั่นส่วนลดใด ๆ) ครับ/ค่ะ
|
เงื่อนไขการจองบัตร บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว จ.เชียงใหม่ โปรโมชั่นราคาถูก ! โดยใช้ Line
สำหรับการจองบัตร บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว กรุณาแจ้งจองบัตรและปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการจองต่างๆ ทางด้านล่างทั้งหมดให้เสร็จสมบูรณ์ล่วงหน้าก่อนกำหนดวันออกเดินทางอย่างน้อย 2 – 7 วัน (กรณีช่วงวันหยุดเทศกาลหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ ควรติดต่อจองบัตรและปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้เสร็จสมบูรณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1-4 อาทิตย์ ครับ)
ขั้นตอนการจองบัตร บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว โปรโมชั่นราคาถูก ! โดยใช้ Line
1.เปิด Application Line ใน Smartphone หรือ Tablet ของท่านขึ้นมา แล้วเลือกหัวข้อ “เพิ่มเพื่อน” จากนั้นให้เลือกหัวข้อ “ID/โทรศัพท์” ทางด้านขวาบนของหน้าเพิ่มเพื่อน
2.เลือกเพิ่มเพื่อนโดยใช้ Line ID : cimlee หรือ thongteaw.com หรือ trin.thongteaw.com
3.หากท่านไม่สะดวกในการเพิ่มเพื่อนจาก Line ID ท่านสามารถเลือกเพิ่มเพื่อนจากหมายเลขโทรศัพท์ได้โดยการใส่หมายเลขโทรศัพท์ 0942363295 หรือ 0945193645 หรือ 0942519214 ลงในช่อง “หมายเลขโทรศัพท์เพื่อน” แล้วกดเครื่องหมายแว่นขยาย (ช่องด้านบน “หมายเลขโทรศัพท์เพื่อน” ให้ใช้รหัส Thailand +66 ซึ่งถ้าโทรศัพท์ของท่านใช้ SIM card ที่ลงทะเบียนในประเทศไทยก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าใดๆ ครับ)
4. เมื่อทำการเพิ่มเพื่อนเสร็จเรียบร้อยแล้วให้แจ้งข้อมูลผู้จองส่งมาทาง Line ให้ครบถ้วนดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ชื่อ – นามสกุล : (ต้องเป็นชื่อ – นามสกุลจริงๆ เท่านั้น ห้ามใช้ชื่อเล่นในการจอง) ของผู้จองซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่ม 1 ท่าน โดยผู้จองต้องเป็นผู้ที่มีหลักฐานยืนยันตัวตนแสดงต่อเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์เช็คอิน ณ บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว (หลักฐานยืนยันตัวตนสำหรับผู้จองชาวไทยใช้ “บัตรประชาชน” หรือ “ใบขับขี่” ส่วนหลักฐานยืนยันตัวตนสำหรับชาวต่างประเทศใช้ “หนังสือเดินทาง : Passport” ครับ)
- หมายเลขโทรศัพท์มือถือ : ต้องเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถใช้ติดต่อกับผู้จองได้จริงในวันเดินทางเข้าใช้บริการ
- ประเภทรายการที่เลือก : สามารถเลือกประเภท บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ได้จากตารางประเภทต่าง ๆ
- วันที่จะใช้บริการ : คือวันที่ต้องการจะไปใช้บริการนั่นเอง
- จำนวนนักท่องเที่ยว : จำนวนรวมของนักท่องเที่ยวในกลุ่ม
- สัญชาตินักท่องเที่ยว : กรุณาแจกแจงข้อมูลว่าในกลุ่มของท่านมีนักท่องเที่ยวสัญชาติใดอยู่บ้าง ? แต่ละสัญชาติมีจำนวนกี่คน ? ยกตัวอย่างเช่น ไทย 4 คน จีน 2 คน อเมริกัน 1 คน เป็นต้น
- อายุเด็ก : สำหรับบัตร บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ประเภทต่าง ๆ “เด็ก” โปรดตรวจสอบเงื่อนไขเด็กจากข้อมูลด้านล่างตารางราคา ดังนั้นหากแจ้งจองที่นั่งโดยระบุว่ามีเด็กอยู่ภายในกลุ่มจึงจำเป็นจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของส่วนสูงเด็กไว้ด้วย
5.เมื่อแจ้งข้อมูลการจองครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ให้รอรับข้อความยืนยันการจองทาง Line (กรณีที่นั่งเต็มก็จะมีการแจ้งผลการจองกลับทาง Line ให้ทราบเช่นกันครับ)
6.เมื่อได้รับข้อความยืนยันการจองเสร็จเรียบร้อยแล้ว กรุณาชำระค่าใช้จ่ายเข้าบัญชีทางด้านล่างภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อความยืนยันการจอง (ก่อนชำระค่าใช้จ่ายโปรดตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเงิน, ชื่อ และเลขที่บัญชีทุกครั้งด้วยครับ) หากไม่มีการชำระค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนด การจองจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ
บัญชีออมทรัพย์ ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาเมืองทองธานีซิตี้เซ็นเตอร์ 2
ชื่อบัญชี : Thongteaw.com (ท่องเที่ยวดอทคอม)
เลขที่บัญชี : 402-222838-7
|
7.เมื่อชำระค่าใช้จ่ายเสร็จเรียบร้อย กรุณาส่งหลักฐานการชำระค่าใช้จ่ายมาทาง Line
- กรณีเป็น Slip จากตู้ ATM หรือใบนำฝากของธนาคารให้ใช้การถ่ายรูปส่งทาง Line
- กรณีเป็นการโอนผ่าน Application บน Smartphone หรือ Tablet ให้ Capture หน้าจอซึ่งดำเนินการชำระค่าใช้จ่ายเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาทาง Line
8.ทีมงานจะใช้เวลาในการตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าใช้จ่าย ตรวจสอบความถูกต้องของยอดโอน และดำเนินการส่ง Voucher กลับทาง Line ภายในเวลา 24 – 48 ชม. หากยอดโอนหรือหลักฐานการชำระค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ทีมงานจะแจ้งให้ท่านทราบทาง Line เพื่อขอความกรุณาให้ท่านดำเนินการอย่างถูกต้องอีกครั้ง
9.เมื่อได้รับ Voucher เรียบร้อยแล้ว ในวันเดินทางมา บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ท่านสามารถใช้หลักฐานยืนยันตัวตน (บัตรประชาชน, ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง แล้วแต่กรณี) ร่วมกับการแสดง Voucher จาก Smartphone หรือ Tablet เพื่อ Check In ได้ทันที
10.เว็บไซต์ท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ไม่มีความประสงค์หรือนโยบายใดๆ ที่จะกระทำการเพื่อหลอกลวง ทุจริต หรือฉ้อโกงท่านในทุกกรณี หากไม่สามารถสำรองโปรโมชั่นได้ ทางเว็บไซต์ยินดีคืนค่าใช้จ่ายซึ่งท่านได้ชำระไว้ล่วงหน้าให้เต็มจำนวนโดยไม่มีเงื่อนไข
11.ผู้รับผิดชอบ บ้านวังน้ำหยาด & วังน้ำหยาดรีสอร์ท : หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว
หมายเหตุ
รายละเอียดโปรแกรมสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของสภาพคลื่นลม และสภาวะอากาศ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องแจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้นักท่องเที่ยวทราบล่วงหน้า
- ราคานี้มีผลวันนี้ - 31 ตุลาคม 2563 เท่านั้น
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด) |
อ.เมือง |
วัดพระธาตุดอยสุเทพ , วัดเจ็ดยอด , วัดปราสาท , พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ,
สวนสัตว์เชียงใหม่ , เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี , เชียงใหม่ไนท์บาซาร์
ประเพณีลอยโคมยี่เป็ง |
อ.ฮอด |
ออบหลวง |
อ.ฝาง |
บ่อน้ำร้อนฝาง |
อ.หางดง |
บ้านร้อยอันพันอย่าง , อุทยานหลวงราชพฤกษ์ |
อ.แม่แตง |
โป่งเดือดป่าแป๋ |
อ.จอมทอง |
น้ำตกแม่ยะ , น้ำตกแม่กลาง , น้ำตกวชิรธาร , ดอยอินทนนท์ |
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง >> : ที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ท ในจ.เชียงใหม่
|